‘ที่เคยเชื่อ อาจไม่ใช่’ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ชวนอ่าน (ใหม่) ภูมิศาสตร์ใน ‘แสนแสบ-ทุ่งบางกะปิ’

“การศึกษาไทยให้ความสำคัญกับสงครามวีรบุรุษเกินเหตุ ไม่ใช่ว่าต้องตัดทิ้ง แต่มากไปจนไม่มีสังคม ตัดขาดการศึกษาแม่น้ำลำคลอง ถ้าเราไม่เข้าใจ ไม่ได้เรียนรู้ ก็ไม่มีวันมองเห็นความสำคัญ นี่คือปัญหาโครงสร้างหลักสูตร ถ้าการเมืองยังเป็นแบบนี้ มันแก้ไม่ได้ ใช้อำนาจ กฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ต้องรัก ผูกพัน และเห็นคุณค่า”

ไม่ใช่คำกล่าวบนรถแห่ หรือเวทีปราศรัยของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “นักเรียนเลว” แต่เป็นบางช่วงบางตอนจากความเห็นของอดีตนักเรียนดีเด่นที่ชอบโดดเรียนไปศึกษานอกหลักสูตรตามวัดวาอารามอย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์อาวุโสเช่นเดียวกับ ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน ผู้เติบโตในบ้านริมคลองด่านย่านบางขุนเทียน ที่สนับสนุนสุดแรงในด้านการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองเสมอมาโดยเน้นย้ำว่า “น้ำ คือ ชีวิต”

รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยวตอนล่าสุด ในค่ำคืนวันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ทั้ง 2 ผู้อาวุโส นำแฟนๆ เดินทางย้อนประวัติศาสตร์ไทยในตอน “ขวัญของเรียม คลองแสนแสบ เส้นทางยุทธศาสตร์และขนส่ง” ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร เช่นเคย

Advertisement

เปิดประเด็นที่ “วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร” ทางตอนใต้ของคลองแสนแสบ ถือเป็นวัดสำคัญฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเคยเป็นที่จำพรรษาของภิกษุนักปราชญ์รูปสำคัญของไทย อาทิ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท), สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) รวมถึงหลวงปู่มั่น ซึ่งเคยจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม แต่มาศึกษาธรรมะยังวัดแห่งนี้

งานศิลปะสำคัญที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ จิตรกรรมฝาผนังฝีมือ “ขรัวอินโข่ง” ในพระอุโบสถ โดยมี ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม พรรณนาความโดยละเอียด สรุปรวมได้ว่า งานศิลป์ชิ้นเลิศนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เขียนขึ้น ความโดดเด่นคือ ทัศนียภาพแบบตะวันตก มีมิติเสมือนจริง มีรูปฝรั่งต่างชาติต่างภาษา เนื้อหาแฝงปริศนาธรรม นำความรู้ดาราศาสตร์มาอุปมาอุปไมย เช่น ภาพด้านหลังพระประธาน เขียนเป็นรูปพระอาทิตย์ เปรียบดังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระผู้ซึ่งส่องแสงสว่างนำทางให้พ้น “อวิชชา” คือ “ความไม่รู้”

Advertisement

 

 

 

 

 

 

 

 

จากนั้นถึงคิว ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ที่มาเปิดปมลงลึกถึงก้นคลองแสนแสบ ด้วยการชวนอ่านพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ใหม่ จากความเข้าใจที่ถูกอ้างอิงเสมอมาว่า “คลองแสนแสบ” ถูกขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ทว่า สองกุมารสยาม ไม่ทิ้งลายศิษย์เก่าโบราณคดี รั้วศิลปากร เกิดความคาใจ ในการตีความบางอย่าง จนต้องหยิบพงศาวดารจากชั้นหนังสือมาปัดฝุ่น “อ่านใหม่” อีกครั้ง

 

 

 

 

 

 

 

“ทุกวันนี้ประวัติศาสตร์และป้ายต่างๆ บอกว่าคลองแสนแสบ เริ่มต้นจากบริเวณโบ๊เบ๊ จุดที่คลองมหานาคชนกับคลองผดุงกรุงเกษม ต่อด้วยคลองแสนแสบ เกิดเป็นสี่แยก ย่านนี้เป็นตลาดขายผ้า เรียกตลาดมหานาค หรือตลาดโบ๊เบ๊ ผมไม่คิดว่า รัชกาลที่ 1 โปรดขุดคลองมหานาคมาสุดแค่โบ๊เบ๊ แต่เชื่อว่าขุดมาตลอดสาย เกิดสงสัย เลยตรวจสอบใหม่หมด”

จากนั้นโชว์ภาพถ่ายเก่าเส้นทางคลองสุดคึกคัก

“คลองแสนแสบที่ไปออกแม่น้ำบางปะกง เป็นตัวดึงขนส่งสินค้าเข้ากรุงเทพฯ เรือมาหลายทิศทาง จอดแน่นเอี้ยดที่คลองผดุงกรุงเกษม ย่านตลาดโบ๊เบ๊ จากย่านนี้ไปจนสุดแม่น้ำบางปะกง ปัจจุบันเรียก คลองแสนแสบตลอดสาย ทุกคนอ้างอิง พ.ศ.2380 ในพงศาวดารว่ารัชกาลที่ 3 โปรดให้ขุดคลองแสนแสบขึ้นในปีนี้ เชื่อมเจ้าพระยากับบางปะกง ผมบอก ต้องอ่านใหม่ เพราะที่อ่านมา คือ รัชกาลที่ 3 โปรดให้ขุดคลองเมื่อ พ.ศ.2380 แต่เรียกคลองบางขนาก พระยาศรีพิพิพัฒน์เป็นแม่กอง จ้างแรงงานจีนขุดคลองจากหัวหมากไปบางขนาก แล้วเรียกคลองบางขนาก”

ปักหมุดที่ชื่อคลองบางขนาก แล้วทำความเข้าใจต่อไปพร้อมกันว่า หัวหมาก ซึ่งอยู่ในย่านคลองตัน บริเวณหัวถนนรามคำแหงปัจจุบัน เลียบไปออกปากคลองบางขนาก ลงแม่น้ำบางปะกง ทั้งหมดนี้ เรียกคลองบางขนาด ไม่ใช่คลองแสนแสบ

“ถามว่า จากหัวหมากไปโบ๊เบ๊ เรียกอะไร ไม่ทราบ ไม่มีหลักฐาน แต่ในเอกสารอื่น เรียกว่า ทุ่งแสนแสบ ทุ่งบางกะปิ คลองแสนแสบ คลองบางกะปิ เอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกอย่างนี้หมด

เหลือแต่ว่าสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งพงศาวดารเขียน สมัยรัชกาลที่ 4 ระบุว่า เมื่อพระเจ้าตากโปรดให้ เจ้าพระยาจักรี ไปรบที่เขมร ปรากฏว่าเกิดจลาจลที่กรุงธนบุรี พระเจ้าตากโปรดให้กลับ หลวงสรวิชิต หรือเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ขี่ม้าไปรอรับที่ ‘ทุ่งแสนแสบ’ โดยไม่ได้เรียกคลองทั้งสายว่า คลองแสนแสบ”

ชี้เป้าคลองบางขนาก ที่วัดปากคลองบางขนาก

สองกุมารสยามย้ำว่า สำหรับตน เชื่อว่าคลองแสนแสบไม่ได้ขุดทั้งสายในคราวเดียว แต่รัชกาลที่ 1 โปรดให้ขุดคลองมหานาค ยาวไปถึงหัวหมากคลองตัน หวังให้เชื่อมคลองพระโขนงที่มีอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ต้นอยุธยา

“เอาง่ายๆ ว่า คลองมหานาค คือชื่อที่คนไทยเรียก ส่วนแสนแสบ แขกเรียกคำว่า แสนแสบ

ผู้อธิบายเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ 1.มาจากภาษาเขมร ว่า เซสาป แปลว่า น้ำจืด 2.มาจากภาษามลายู ว่า เซนแญป แปลว่า เงียบสงบ ส่วนคำอธิบายว่า มาจากยุงเยอะ กัดจนแสบผิว คิดว่าเป็นการลากเข้าความ ไม่น่าเชื่อถือ เพราะอย่าว่าแต่แสนแสบ คลองอะไรยุงก็ชุมหมดแหละ”

ถามว่า ถ้าแสนแสบ เป็นชื่อที่แขกเรียก ทำไมต้องเป็นภาษาแขก และแขกเหล่านี้มาจากไหน

“แขกที่ว่านี้ คือ แขกจาม มาจากกัมพูชา รัชกาลที่ 1 เกณฑ์มาขุดคูคลอง สร้างกรุงเทพฯ ตอนนั้นประชากรน้อย ต้องยกทัพ ตีหนังวังช้างเอาไพร่มา”

พูดง่ายๆ ว่า คลองสายนี้ คนไทยเรียกคลองมหานาค แต่คนขุด เรียกแสนแสบ

“ชื่อแสนแสบน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่เป็นชื่อที่ ไม่เป็นทางการ ถามว่า เมื่อไหร่ที่แสนแสบกลายเป็นชื่อเรียกคลองทั้งเส้น คิดว่าสมัยส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะเมื่อสัก 50 ปีก่อน ยังมีการเรียกชื่อคลองบางขนาก”

ว่าแล้ว เปิดวาร์ปไปยัง “วัดปากคลองบางขนาก” อำเภอบางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา บรรยายสรุปริมฝั่งคลอง

“คิดว่าคลองแสนแสบเริ่มต้นทับสายกับคลองมหานาค ตั้งแต่ภูเขาทองช่วงแรกมาถึงคลองตัน ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดให้ขุดต่อไป จากหัวหมากจนออกบางขนากที่คลองบางน้ำเปรี้ยว ผ่านบางกะปิ มีนบุรี หนองจอก จนกระทั่งออกอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา ลงแม่น้ำบางปะกง ชาวบ้านเรียกคลองบางขนาก ชื่อแสนแสบคนกรุงเทพฯเรียก ชาวบ้านในอดีตเรียกชื่อคลองเป็นตอนๆ ไม่ได้เรียกทั้งสาย เป้าหมายการขุดคลองแสนแสบสมัยรัชกาลที่ 3 คือเรื่องสงครามไทยรบญวน เพื่อแย่งกันยึดเขมร เพราะเส้นทางบางปะกงใกล้เขมรที่สุด”

ปิดท้ายที่ทุ่งบางกะปิ แสนแสบสะท้านสังคมไทย ด้วยความสะเทือนใจในวรรณกรรมอมตะอย่าง “แผลเก่า” โดย ไม้ เมืองเดิม นามปากกาของ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา

“ในนิยายแผลเก่า เจ้าของบทประพันธ์ ใช้ฉากทุ่งบางกะปิ ทุกวันนี้คือเขตห้วยขวาง ตามเขตปัจจุบัน แต่พูดแล้ว งง เอาเป็นว่า เป็นย่านอาร์ซีเอ พระราม 9 ก็แล้วกัน พยานคือ วัดบางกะปิ หรือวัดอุทัยธาราม ในเรื่อง ตัวเอกตื่นขึ้นมา มองทางรถไฟ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ในยุคนั้น คือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 ปี รถไฟสายเลียบขนานไปกับคลองแสนแสบ”

ส่วนศาลขวัญเรียมที่ตลาดน้ำขวัญเรียม ตรงวัดบางเพ็งใต้ บางกะปิ นั้น ไม่ตรงกับพิกัดในวรรณกรรม แต่สองกุมารสยามย้ำว่า ขวัญเรียม เป็นตำนานไปแล้ว จะสร้างตลาดน้ำตรงไหน ไม่เป็นปัญหา หากสร้างรายได้ให้ชุมชน

เพียงแต่ให้ทราบข้อมูลที่ถูกไว้ด้วยก็ยิ่งดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image