47 จังหวัด ชุ่มฉ่ำต่อเนื่อง เคาท์ดาวน์ ‘พายุดีเปรสชัน’ ถล่ม 7-9 ต.ค.นี้

47 จังหวัด ชุ่มฉ่ำต่อเนื่อง เคาท์ดาวน์ ‘พายุดีเปรสชัน’ ถล่ม 7-9 ต.ค.นี้

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ระบุว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ทั้งนี้ พายุระดับ 1 (หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนใต้ (ในวันที่ 7 ตุลาคม 2563) หลังจากนั้นจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกลงสู่บริเวณอ่าวไทยตอนบน (ในวันที่ 8 ตุลาคม 2563) โดยจะมีผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 7-9 ตุลาคม 2563

ภาคเหนือ มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง 60% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส

Advertisement

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง 70% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

ภาคกลาง มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง 70% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี และอ่างทอง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออก มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง 70% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

Advertisement

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง 40% ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง 40% ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง 70% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส

ว่าที่ร้อยตรีธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายบริหาร / โฆษกประจำกรมอุตุนิยมวิทยา มีประกาศแจ้งข่าวสาร เกี่ยวกับ หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง พายุระดับ 1 บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มารายงานให้ทราบ

จากการติดตามสภาพอากาศในขณะนี้ พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนใต้ในวันพรุ่งนี้ หลังจากนั้นจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ผ่านประเทศกัมพูชาและลงสู่อ่าวไทยตอนบน ในวันที่ 8 ตุลาคม 2563

ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงทำให้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ต่างๆ ในช่วงวันที่ 7 – 9 ตุลาคม ดังนี้ภาคอีสานตอนล่าง ได้แก่ จังหวัด อุบลราชธานี ศรีสะเกษสุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ภาคตะวันออก และ ภาคกลาง ทุกจังหวัด ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต และ กระบี่

ขอให้พี่น้องประชาชน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่เปราะบาง เช่นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ธารน้ำไหล ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร พี่น้องชาวเรือ ควรงดการเดินเรือ และประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้ชายฝั่ง ภาคตะวันออก และ ภาคใต้ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image