อำนาจหน้าที่กับจิตวิญญาณของ‘ทนายแผ่นดิน’

อำนาจหน้าที่กับจิตวิญญาณของ‘ทนายแผ่นดิน’

หลังจากเกิดข่าวกรณีของ “บอสกระทิงแดง” ดังครึกโครมทางสื่อ ทำให้เพื่อนฝูงและประชาชนแฟนๆ ผู้อ่านหลายท่าน ส่ง “ปุจฉา” มาถามผู้เขียนในฐานะเป็นกรรมการอัยการว่า แท้จริงแล้ว พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างไร? และพึงมีจิตวิญญาณในการปฏิบัติหน้าที่เช่นใด?

ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่หลักๆ ได้บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 13 องค์กรอัยการ มาตรา 248 ว่า

“องค์กรอัยการมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายพนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรมและปราศจากอคติทั้งปวง และไม่ให้ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง

Advertisement

การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นขององค์กรอัยการให้มีความเป็นอิสระ โดยให้มีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสมและการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับพนักงานอัยการต้องดำเนินโดยคณะกรรมการอัยการ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยประธานกรรมการ ซึ่งต้องไม่เป็นพนักงานอัยการ และผู้ทรงคุณวุฒิบรรดาที่ได้รับเลือกจากพนักงานอัยการ ผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีบุคคลซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นพนักงานอัยการมาก่อนสองคน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

กฎหมายตามวรรคสาม ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้พนักงานอัยการกระทำการหรือดำรงตำแหน่งใดอันมีผลประโยชน์ให้การสั่งการหรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามวรรคสอง หรืออาจทำให้มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวต้องกำหนดให้ชัดแจ้งและใช้เป็นการทั่วไป โดยจะมอบอำนาจให้มีการพิจารณาเป็นกรณีๆ ไปมิได้”

ฉะนั้น โดยสรุปอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่หลักใหญ่คือ…

Advertisement

1.การอำนวยความยุติธรรม

พนักงานอัยการจะพิจารณารวบรวมข้อมูลอรรถคดีและวินิจฉัยสั่งคดีทั้งปวง ดำเนินคดีอาญาทางศาล และดำเนินอรรถคดี ตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในฐานะทนายแผ่นดินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ เช่น

การฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น ตลอดจน ฟ้องอุทธรณ์ ฟ้องฎีกา และแก้อุทธรณ์ แก้ฎีกาด้วย

การยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์

การร้องต่อศาลให้สั่งผู้เสียหายกระทำหรือละเว้นกระทำการที่ผู้เสียหายจะกระทำให้คดีของพนักงานอัยการเสียหาย ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ

การยื่นฟ้องคดี ที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องคดีไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นเสีย เว้นแต่คดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว เป็นต้น ฯลฯ

2.การรักษาผลประโยชน์ของรัฐ

จะเห็นได้ว่า สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาและให้คำปรึกษาในด้านกฎหมายแก่ส่วนราชการ หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ดำเนินอรรถคดีแทนรัฐบาล หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาในฐานะทนายแผ่นดิน อาทิ ในคดีแพ่ง มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง กับมีอำนาจและหน้าที่ที่ตามกฎหมายอื่น ซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ ฯลฯ

3.การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

สำนักงานอัยการสูงสุด มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ดังนี้

ในคดีที่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องเองไม่ได้โดยกฎหมายห้าม เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการมีอำนาจเป็นโจทก์ได้ เช่น

ในคดีแพ่ง ผู้ใดจะฟ้องผู้บุพการีของตนไม่ได้ แต่เมื่อมีผู้ใดร้องขอขึ้นมา พนักงานอัยการมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องแทนได้

ในคดีอาญา ผู้ใดจะฟ้องคดีผู้บุพการีตนไม่ได้แต่เมื่อมีผู้ใดร้องขอขึ้นมาพนักงานอัยการมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องแทนได้

นอกจากนั้น การให้บริการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบท เช่น การให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย การประนอมข้อพิพาท เป็นต้น

สําหรับประเด็นในเรื่องของทนายแผ่นดินที่พึงมีจิตวิญญาณของการเป็นพนักงานอัยการนั้น ผู้เขียนใคร่ขอนำบทความของท่าน ศ.โกเมน ภัทรภิรมย์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและอดีตอัยการสูงสุด เขียนไว้ในหนังสือ 100 ปีอัยการ เมื่อหลายปีก่อน ในเรื่อง “เครื่องหมายราชการสำนักงานอัยการสูงสุด” ตอนหนึ่งว่า…

…..มีท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้ดูภาพ พระแว่นสุริยกานต์ ซึ่งเป็นของใช้ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงเคยเป็นหลวงยกกระบัตร (อัยการ) เมืองราชบุรี ทรงใช้เป็นแว่นขยายสำหรับทรงพระอักษร และทรงใช้สำหรับจุดไฟจากแสงพระอาทิตย์

อีกภาพหนึ่ง เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องรบ ทรงดาบ พระหัตถ์ขวาทรงถือช่อชัยพฤกษ์ ท่านผู้ใหญ่แนะว่า น่าจะนำสองสิ่งนี้ประกอบเพิ่มเป็นหมายราชการของหน่วยเพื่อเป็นสิริมงคล…

ในที่สุด เครื่องหมายของสำนักงานอัยการสูงสุดจึงเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐานเหนือพระแว่นสุริยกานต์และตราชูรูปพระขรรค์รองรับด้วยช่อชัยพฤกษ์ อันมีความหมายถึง อำนาจหน้าที่ในการเป็นทนายแผ่นดิน เป็นผู้ใช้กฎหมายด้วยความรอบคอบ เป็นธรรมและเด็ดขาด มีชัยชนะเหนืออธรรม

มีความหมายดีใช่ไหมครับ

สัญลักษณ์อันเป็นนามธรรมเหล่านั้นมีความหมายในทางจิตใจ!!

ใจของคนเป็นใหญ่เสมอ เพราะกำกับทิศทางการประพฤติปฏิบัติของคนอยู่ทุกลมหายใจ!

เป็น “อัยการ” จึงต้องมีความเที่ยงธรรมอยู่ในหัวใจ

เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายจึงไม่อาจใช้กฎหมายไปกดหัวข่มเหงใครโดยเด็ดขาด

เครื่องหมายของสำนักงานอัยการสูงสุดบ่งชี้ถึงคุณค่าความหมายทางจิตใจของผู้ที่รับราชการเป็นพนักงานอัยการทั้งปวง

เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสิริมงคล

เป็นเครื่องเตือนใจ รั้งสติให้ระลึกอยู่เสมอว่าจิตวิญญาณของผู้เป็น “ทนายแผ่นดิน” นั้นคือ จิตวิญญาณที่เป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำของสิ่งอัปมงคลทั้งสาม คือ โลภ โกรธ และหลง

สิ่งอัปมงคลทั้งสามนี้ เป็นรากเหง้าของความชั่วร้าย เผลอไปเคลิ้มไป ปล่อยให้มันชักแถวกันมาครอบงำตัวเราเมื่อไหร่!

ความเป็น “อัยการ” ก็หมดสิ้นลงเมื่อนั้น?!!

ดังนั้น โดยสรุป ข้อเขียนนี้ คงเป็น “วิสัชนา” ของ “ปุจฉา” จากเพื่อนมิตรดังกล่าวข้างต้นได้ระดับหนึ่ง….ว่าไหม?

ไพรัช วรปาณ
กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image