‘บรรยง พงษ์พานิช’ โพสต์ข้อเสนอ ‘ปฏิรูปสถาบัน’ หวังทุกฝ่ายพิจารณายุติข้อขัดแย้ง

‘บรรยง พงษ์พานิช’ โพสต์ข้อเสนอ ‘ปฏิรูปสถาบัน’ หวังทุกฝ่ายพิจารณายุติข้อขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม นายบรรยง พงษ์พานิช ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich ถึงข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบัน ว่า

“ข้อเสนอ ในการ ‘ปฏิรูป’ สถาบันสูงสุดของประเทศ …23 ตุลาคม 2563

หนึ่งในประเด็นที่มีผู้เรียกร้องกันมากในขณะนี้ นอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ยุติการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ คสช. ให้นายกรัฐมนตรีลาออกแล้ว ประเด็นที่ร้อนแรงและเป็นที่ถกเถียงกันมากก็คงเป็นเรื่องของการ ‘ปฏิรูป’ สถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นองค์ประกอบที่เหมาะสมและถาวรของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากข้อเสนอสิบข้อของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมแล้ว ผมยังไม่ค่อยเห็นข้อเสนออื่นๆ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจากกลุ่มอื่นๆ แม้จากกลุ่มหลักเยาวชนปลดแอก ก็ดูเหมือนจะเรียกร้องกว้างๆ เพียงว่าขอปฏิรูปเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

Advertisement

วันนี้ผมจะลองนำเสนอแนวทางและเหตุผลในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่ออาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายพอจะรับได้ และเป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้จริง

ก่อนอื่นต้องขอประกาศเลยว่า ผมไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทั้งสิบข้อของคณะธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถึงแม้จะเห็นด้วยในบางข้อ (ขอไม่สาธยายนะครับว่าข้อไหนบ้างด้วยเหตุผลใด)

หลักการที่ผมขอเสนอในการปฏิรูปสถาบันสูงสุดนี้มีสั้นๆ และง่ายๆ ดังนี้นะครับ…

Advertisement

‘ในเมื่อเป็นที่พิสูจน์จนประจักษ์ชัดแล้วว่า ภายใต้พระราชอำนาจ และพระราชทรัพย์ที่มีอยู่ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นั้น พระราชาผู้ทรงธรรม สามารถปกครองประเทศได้อย่างวิเศษ สร้างคุณูปการมหาศาลให้แก่พสกนิกรได้อย่างถ้วนทั่ว จนได้รับการสรรเสริญว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ เปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรมครบถ้วน ดังนั้นเราจึงควรสืบต่อระบอบแบบเดิม ธำรงรักษาไว้เพื่อความสถิตย์สถาพรของสถาบันพระมหากษัตริย์สืบต่อไป’

ซึ่งภายใต้หลักการที่ว่านี้ ก็หมายความว่า ในระยะเริ่มต้นของรัชกาลปัจจุบัน เราไม่สมควรจะไปเปลี่ยนแปลงปฏิรูปอะไรให้วุ่นวายไป อะไรที่คณะ คสช. สนช. หรือแม้แต่รัฐบาล รัฐสภาได้ทำไปเกี่ยวกับสถาบันฯ ภายหลังจากที่เสด็จสวรรคตนั้น ก็น่าที่จะได้รับการปรับเปลี่ยนให้กลับไปเหมือนเดิม ซึ่งเป็นหลักการที่ทำให้พระมหากษัตริย์ได้ทรงปกครองพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างสงบร่มเย็น ก้าวหน้ามาเป็นที่ประจักษ์ต่อพสกนิกรตลอดเจ็ดสิบปีที่ทรงครองราชย์

ถ้าเราจะย้อนกลับไปดูข้อบัญญัติอันเกี่ยวกับสถาบันฯ ในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ (รวมถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว) จะพบว่าทุกฉบับ จะมีหลักการและการกำหนดพระราชอำนาจไว้แบบเดียวกัน ในขอบเขตเดียวกันทั้งสิ้น รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ก็เป็นกฎหมายที่สามารถทำให้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชกุศลได้อย่างเหมาะสมตลอดเจ็ดสิบปี

จริงอยู่ครับว่า ทุกสิ่งสามารถมีการปฏิรูปปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ตามพัฒนาการ ตามบริบทที่เปลี่ยนแปลง แต่ท่ามกลางความสับสน ความขัดแย้งยิ่งใหญ่อย่างในเวลานี้ เราจำเป็นที่จะต้องมีจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายพอรับได้เสียก่อน ก่อนที่จะเริ่มปฏิรูปต่อไป

สำหรับผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันนั้น ผมเชื่อว่าข้อเสนอของผมควรจะได้รับการพิจารณาด้วยดี เพราะเป็นข้อเสนอที่เราต่างก็ร่มเย็นด้วยพระมหากรุณาธิคุณภายใต้กฎเกณฑ์นี้มาตลอดชีวิต

สำหรับกลุ่มผู้เรียกร้องให้ปฏิรูปนั้น ผมขอเรียกร้องให้พิจารณาข้อเสนอนี้อย่างถ่องแท้ ถึงจะไม่เหมือนกับที่บางกลุ่มเรียกร้องแต่ก็น่าจะเป็นสถานะที่ควรยอมรับได้ จุดเริ่มต้นอย่างนี้ ไม่ได้บิดเบือนไปจากหลักการสากลแต่อย่างใด

สำหรับสถาบันฯนั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพ และด้วยทศพิธราชธรรม ย่อมเพียงพอที่จะทรงสร้างพระบารมี พระราชทานคุณประโยชน์แก่พสกนิกรถ้วนหน้า เป็นเยี่ยงอย่างสืบไปชั่วกาลนาน …อีกทั้งพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์ที่เพิ่มนั้นพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้ทรงเรียกร้องต้องการแต่อย่างใด เป็นเพราะคณะ คสช.และรัฐบาลจัดถวายทั้งสิ้น

สำหรับชาวคณะ คสช.นั้น นี่ก็จะเป็นการถอดสลักข้อขัดแย้งหลักได้อย่างสันติ

ทั้งหมดนี้ เป็นข้อเสนอภายใต้หลักการง่ายๆ ของผมเพื่อให้ทุกฝ่ายได้พิจารณาเพื่อยุติข้อขัดแย้งที่เริ่มบานปลาย อันเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงที่จะนำความเสื่อมถอยมาให้ประเทศอย่างยาวนาน

หวังว่าจะได้รับการพิจารณาจากทุกฝ่าย เพื่อเป็นทางเลือกในการออกจากความขัดแย้งยิ่งใหญ่ในครั้งนี้นะครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image