พณ.ดึง หัวเว่ย ปั้นเอสเอ็มอี-เจนเซด 1.2หมื่นคน เป็นซีอีโอมืออาชีพ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีเป็นประธานการลงนามด้านวิชาการ ระหว่าง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด เป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการ (MOU) ในการร่วมมือพัฒนาหลักสูตรด้านดิจิทัล ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคธุรกิจ ที่อาคาร จี ทาวเวอร์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดกับโลกในอนาคต โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลนำการค้า ( Digital Technology led commerce )ผู้ประกอบการที่สามารถใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้รวดเร็ว อาจเป็นกุญแจสำคัญในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ต้องมีการพัฒนา โดยอาศัยเทคโนโลยีด้านต่างๆ เช่น การสื่อสารแบบ 5G เทคโนโลยี Cloud Big Data Robotics Machine Learning Artificial Intelligence และอื่นๆ เข้ามาช่วยในการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีความเห็นว่าอย่างน้อยเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างสูงในการพัฒนาธุรกิจภาคเอกชนของประเทศ ด้านเทคโนโลยี 5G ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่เริ่มต้นได้รวดเร็ว นอกจากนั้น iot (Internet of Things)ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง มีบทบาทมาระยะหนึ่งแล้ว จะต้องพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง พวกเราตามทัน เพราะหัวเว่ยไปเร็วมาก รวมทั้งระบบคลาวด์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเก็บข้อมูลและบริหารจัดการข้อมูล เพื่อนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็วแม่นยำทุกที่ทุกเวลา

“อย่างน้อย 3 ตัวนี้เป็นสิ่งที่เราจะมีความจำเป็นที่จะนำมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ภาคธุรกิจในประเทศไทย เอสเอ็มอี มีความสำคัญอย่างยิ่งปัจจุบันเอสเอ็มอี ถือว่าเป็นธุรกิจฐานรากมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต และจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก ”

Advertisement

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในไทยมี เอสเอ็มอี กว่า 2-3 ล้านราย นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญ ที่จะมุ่งพัฒนาเอสเอ็มอี ให้สามารถนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เพื่อประกอบธุรกิจให้ทันโลกเท่านั้น แต่เรายังมีความเห็นเพิ่มเติมว่าเด็กรุ่นใหม่โดยเฉพาะคนที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือกำลังจะเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัย จะเป็นกลุ่มสำคัญต้องได้รับการพัฒนาหรือเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อที่จะเตรียมตัวสำหรับที่จะเป็น ซีอีโอต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นนอกจากนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในการพัฒนาเอสเอ็มอี ให้สามารถใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลได้อย่างคล่องตัว เด็กรุ่นใหม่ต้องได้รับการเตรียมการเช่นเดียวกัน

” ตามโครงการที่กระทรวงพาณิชย์ริเริ่ม โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ช่วยของการปั้น Gen Z ให้เป็น CEO หรือโครงการ CEO Gen Z ได้กำหนดเป้าหมายชัดเจนว่าภายในหนึ่งปีจะปั้นให้เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 12,000 ราย ถือว่ากลุ่มนี้จะเป็นทัพคนรุ่นใหม่สำคัญที่เป็นกำลังให้กับประเทศในการเพิ่มมูลค่าการค้า”

ทั้งนี้ เอสเอ็มอี ซึ่งตามเป้าหมายจะทำให้ได้ภายในรวดเร็ว 1,000 ราย โดย 3วันที่ผ่านมาทำได้ 250 ราย ที่ประเทศไทยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเอสเอ็มอี และจะเป็นฐานกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไปในทุกในยุคนิวนอร์มอล ที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยจับมือร่วมมือกันสามารถพลิกโควิดเป็นโอกาส

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image