การถอนตัวของตำรวจ จากระบอบเผด็จการ : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน สิ่งที่เราเห็นในหน้างานจริงๆ ก็คือความขัดแย้งระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม ไม่ใช่แค่ในระดับของความขัดแย้งของผู้ชุมนุมกับรัฐบาล รัฐ และระบอบ

ประเด็นท้าทายก็คือ ในช่วงความขัดแย้งตึงเครียดต่างๆ นี้ เราแทบจะไม่พบการศึกษา วิเคราะห์ หรือความเห็นจากบรรดานักวิชาการหรือภาคส่วนอื่นๆ ที่มีต่อบทบาทของตำรวจในความขัดแย้งทางการเมืองแต่อย่างใด รวมไปถึงประเด็นการปฏิรูปตำรวจ

เราพบว่าการชุมนุมเรียกร้องนั้นแม้จะมีการนำเสนอข้อเสนอการปฏิรูปที่ถือว่าดันทะลุเพดาน หรือก่อนหน้านั้นก็มีการพูดถึงการปฏิรูปกองทัพ รวมกระทั่งการวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด แต่ไม่มีการพูดถึงการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจัง

ทั้งที่ในรอบอย่างน้อย 5 ปี ในระบอบ คสช.นั้นความอื้อฉาวในระบบการแต่งตั้งโยกย้ายในวงการตำรวจก็เกิดขึ้นอย่างที่เป็นข่าว รวมทั้งความเคลือบแคลงสงสัยในการดำเนินคดีอีกตั้งหลายกรณีที่สังคมนั้นจำได้ดี

Advertisement

ผมเองก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องนี้ แค่อยากจะตั้งข้อสังเกตว่าในวงวิชาการของไทยเอง ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจในฐานะส่วนหนึ่งของกองกำลังความมั่นคงของรัฐ (security force) กับระบบการเมืองนั้นไม่ค่อยจะมี หรืองานเขียนในด้านนี้ก็ไม่ค่อยจะมี รายงานข่าวส่วนใหญ่ก็มุ่งไปแต่เรื่อง “แวดวงสีกากี” คือเป็นรายงานข่าวประเภทการแต่งตั้งโยกย้าย หรือยุคหนึ่งก็มีเรื่องของการระบุว่าตำรวจเหล่านี้เป็นสายไหน

สิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นก็คือ เวลาที่ระบุว่าเป็นตำรวจสายไหนแล้ว เราไม่พบการศึกษาวิจัยหรือการเปิดเผยข้อมูลว่าตำรวจเหล่านั้นมีการกระทำอะไรที่ชัดเจนที่เอื้อประโยชน์ให้กับสายเหล่านั้น

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในยุคที่มีการแยกเอาดีเอสไอออกจากตำรวจ แล้วเราก็พบว่าดีเอสไอมีบทบาทสำคัญในยุคของความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องสีเสื้อ จนกระทั่งมีการฟ้องร้องเอาผิดนายตำรวจระดับสูงของดีเอสไอ เรากลับไม่พบว่าความขัดแย้งทางการเมืองในรอบนี้จะมีเรื่องของบทบาทของดีเอสไอเข้ามาเกี่ยวพันกับการทำคดีความขัดแย้งทางการเมืองในรอบนี้แต่อย่างใด

Advertisement

แน่นอนว่าความขัดแย้งในปัจจุบันนี้ในหน้างานยังเป็นภาพความขัดแย้งระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ และมีตำรวจตระเวนชายแดนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องของกองกำลังในบางครั้ง และมีการเพิ่มบทบาทสำคัญของหน่วยควบคุมฝูงชน สิ่งที่ยังพบต่อจากนั้นก็คือบทบาทของตำรวจนครบาล และของโรงพักต่างๆ ทั่วประเทศในการดำเนินคดี และมีกิจกรรม “จับปล่อย-ปล่อยจับ” มาเป็นระยะ โดยที่ภาพรวมนั้นยังไม่ได้มีศูนย์กลางไปที่ตัวผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด และในอีกด้านหนึ่งบทบาทของทหารเองในการเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ก็ยังไม่มีความเด่นชัด ถึงไม่มีเลยในระดับทางการ ส่วนหนึ่งย่อมเป็นเพราะว่าภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้น ยังไม่ได้เอื้อให้การใช้กำลังทหารกับกิจการภายในประเทศเกิดขึ้นได้ เว้นแต่กรณีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีภัยร้ายแรง หรือกฎอัยการศึก

ผมขอตั้งข้อสังเกตเอาไว้แค่นี้ก่อน เผื่อทางสื่อ และท่านผู้รู้จะนำเอาประเด็นนี้ไปอภิปรายถกเถียงต่อไป ส่วนในพื้นที่ที่เหลือผมจะนำเอาเรื่องราวการศึกษาปรากฏการณ์ของการล่มสลายลงของระบอบเผด็จการในตูนิเซีย ซึ่งส่วนสำคัญส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการถอยออกจากการปราบปรามประชาชนและใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมจากการสั่งการของรัฐบาลเผด็จการ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจในระดับล่าง

ในงานของ Merouan Mekouar ที่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย York ประเทศแคนาดา ว่าด้วยเรื่องการพังทลายลงของตำรวจในระบอบเผด็จการ โดยพิจารณาบทเรียนของตูนิเซีย (Police Collapse in Authoritarian Regimes: Lessons from Tunisia. Studies in Conflict and Terrorism. 40:10, 857-869, 2017) ได้ชี้ให้เห็นว่า การถอยออกจากการสนับสนุนระบอบเผด็จการของตำรวจมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของระบอบเผด็จการเอง

ก่อนหน้าตูนิเซียนั้นมีตัวอย่างที่สำคัญคือในกรณีของเซอร์เบียเมื่อ 2000 และจอร์เจีย 2003 และยูเครน 2004

โดยภาพรวมทางทฤษฎีแล้ว เมื่อระบอบเผด็จการนั้นเผชิญกับการลุกฮือของประชาชน เผด็จการจะเผชิญความท้าทายสองอย่างด้วยกัน หนึ่งก็คือ จะทำอย่างไรที่จะขจัดการชุมนุมนี้ออกไปให้ได้ เพื่อไม่ให้เป็นภัยอันตรายต่อผู้มีอำนาจ และสองก็คือระบอบเผด็จการซึ่งเป็นระบอบที่กดขี่ประชาชนนั้นจะต้องมั่นใจว่าบรรดาเจ้าหน้าที่ในฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะในระดับที่อยู่หน้างานซึ่งจะต้องทำหน้าที่จัดการกับประชาชนผู้ชุมนุมนั้นจะยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาลในการปราบปรามประชาชน

กล่าวอีกอย่างก็คือระบอบเผด็จการนั้นจะทำอย่างไรที่จะรักษาความภักดีของเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่อยู่หน้างานที่จะต้องทำการปราบปราม ข่มขู่ประชาชน ทั้งที่พวกเขาเองก็ใกล้ชิดกับประชาชน รับรู้ทุกข์สุขของประชาชน และก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาชนด้วย

หมายความอีกอย่างว่า ระบอบเผด็จการนั้นจะอยู่รอดได้ในทางหนึ่งเขาจะต้องมีความเข้าใจข้อมูลที่มาจากประชาชนต่างๆ (เพื่อให้เขาอยู่รอดได้) และในอีกด้านหนึ่ง เขาต้องมีระบบการสื่อสารแบ่งปันข้อมูลที่ทำให้ระบอบเข้าใจหัวอกหัวใจของเจ้าหน้าที่ระดับล่างด้วย ไม่ใช่แค่จะต้องเข้าใจประชาชน

โดยภาพรวมแล้วก่อนการลุกฮือของประชาชนในตูนิเซีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดตั้งต้นของอาหรับสปริง หรือการเบ่งบานของประชาธิปไตยในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง เหตุการณ์เริ่มจากการที่มีเยาวชนรายหนึ่งเผาตัวเองเมื่อ 17 ธันวาคม 2010 ในเมืองแห่งหนึ่ง และก็เป็นอย่างที่คาดได้แก่มีการลุกฮือของประชาชนในเมืองดังกล่าว ตามมาด้วยการปราบปรามอย่างหนักของตำรวจโดยพยายามที่จะปิดเมือง มีการจับกุมและทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ แต่กระนั้นก็ตามการชุมนุมก็ยังดำเนินต่อไปและลามไปถึงเมืองโดยรอบ การชุมนุมและการปะทะกันเริ่มยกระดับความรุนแรงโดยผู้ชุมนุมเริ่มใช้ยุทธวิธีใหม่คือการเผารถตำรวจและสถานที่ราชการ ขณะที่ตำรวจก็เริ่มใช้กระสุนจริงกับประชาชนในนามของการป้องกันตัว

ขณะที่การชุมนุมและการปะทะกันเริ่มยกระดับขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับล่างก็เริ่มที่จะอยู่ในภาวะที่กดดันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะในหน้างานนั้นพวกเขาเผชิญทั้งจากความจริงว่าคนเหล่านั้นที่เขาต้องปราบนั้นก็รู้สึกไม่พอใจกับรัฐบาลเผด็จการที่บริหารบ้านเมืองแย่ และปกครองในระบอบเผด็จการ และสะท้อนมาจากคำสั่งจากเบื้องบนที่เขาต้องกระทำการปราบปรามที่ผิดไปจากมโนสำนึก กอปรกับครอบครัวของพวกเขาเองก็กดดันการทำงานของเขาด้วย

ในต้นเดือนมกราคม 2011 จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นขาดการสื่อสารกับส่วนกลางเพิ่มขึ้น เพราะเจ้านายของเขาที่ส่วนกลางไม่ออกคำสั่งลงมา และไม่รับสาย ทำให้พวกเขาต้องตัดสินใจกันเองที่หน้างาน และยิ่งมีการใช้กำลังและกระสุนจริงกับผู้ชุมนุมผ่านกองกำลังในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อกองทัพเข้ามาร่วมปราบปราม จนมาถึงวันที่มีตำรวจยิงผู้ชุมนุมตายไปถึง 38 ศพในวันเดียว ในวันที่ 10 มกราคม 2011 ตำรวจส่วนใหญ่ก็ยุติบทบาทของการทำหน้าที่ปราบปรามประชาชนลง

ที่สำคัญเมื่อเผด็จการ เบน อาลี พอจะเริ่มรู้แล้วว่าตำรวจไม่ยอมทำหน้าที่ปราบปรามประชาชน เขาก็เริ่มสั่งการให้กองทัพเข้ามาทำหน้าที่แทนก่อนนั้นสองวัน แต่สิ่งที่เขาพบก็คือตำรวจจำนวนไม่น้อยกลับเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในนามส่วนตัว บางคนก็ไม่มาทำงานโดยอยู่บ้านกับครอบครัว ในที่สุดระบบการสื่อสารประสานงานระหว่างทหาร ตำรวจ และหน่วยความมั่นคงอื่นก็พังทลายลง และทำให้ท้ายที่สุดเบน อาลีก็ออกจากประเทศการจับกุมเครือข่ายเผด็จการก็เริ่มขึ้น

จากการวิเคราะห์ของ Mekouar พบว่าเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ระบอบเผด็จการสามารถอยู่รอดได้ในช่วงของวิกฤตการชุมนุมอยู่ที่เงื่อนไขสองประการคือ การรักษาเอกภาพของฝ่ายความมั่นคงในระดับต่างๆ ให้อยู่กันอย่างเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะการรับฟังคำสั่งจากเบื้องบน และสองก็คือระดับความสามารถของรัฐในการแทรกซึมและทะลุทะลวง/แผ่ซ่านลงไปในสังคมนั้นได้ เพื่อทำให้เข้าใจและว่องไวในการรับรู้ภัยอันตรายจากการต่อต้านที่เริ่มก่อตัวขึ้น

ในกรณีของตูนิเซียนั้น พบว่าเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจระดับล่างนั้นไม่ได้มีความพอใจกับงานที่ทำ เพราะมีค่าตอบแทนที่น้อยมากทั้งในระดับเม็ดเงินและในเงื่อนไขอื่น รวมทั้งการต้องทำงานให้กับเจ้านายระดับสูงประเภทล้างรถให้ก็ต้องทำ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความไม่พอใจในสภาพความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่เหล่านี้อาจจะไม่กระทบกับการปฏิบัติการในระบอบเผด็จการที่ดำเนินอยู่มานาน แต่เมื่อถึงในช่วงวิกฤตของความชอบธรรมและการเผชิญหน้าจริงกับผู้ชุมนุม ก็มีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่นั้นไม่มีกะจิตกะใจในการทุ่มเททำงานปราบปรามประชาชน ขณะที่นายตำรวจ-ทหารระดับสูงนั้นมีชีวิตที่ดีกว่ามาก อีกทั้งพวกเขายังจะต้องเป็นกลไกฟันเฟืองสำคัญในกระบวนการคอร์รัปชั่นที่จะส่งเงินขึ้นไปยังเบื้องบนด้วย

นอกจากรายได้จะน้อยแล้วทั้งตำรวจและทหารระดับล่าง พวกเขายังพบว่ากองกำลังพิเศษที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อพิทักษ์ประธานาธิบดีอาลีนั้นกลับมีอำนาจและค่าตอบแทนที่สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด

อีกมิติหนึ่งที่สำคัญก็คือในการฝึกทั้งตำรวจและทหารระดับล่างนั้นการฝึกฝนนั้นไม่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญจริง บ่อยครั้งการฝึกเป็นไปในลักษณะของการใช้กำลังข่มขู่ ทารุณ บังคับในเงื่อนไขข้ออ้างของการสร้างระเบียบวินัย แต่อย่าลืมว่าการสร้างระเบียบวินัยเช่นนี้ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์และย่อมส่งผลสำคัญต่อทัศนคติ และประสบการณ์จริงเมื่อพวกเขานำมาใช้ในการควบคุมฝูงชนหรือจัดการกับประชาชน

นอกจากนี้แล้ว การที่ประธานาธิบดีของเขาเองนั้นหันมาวิจารณ์การทำงานของตำรวจมากกว่าการเข้าอกเข้าใจสภาพการทำงานของตำรวจ และการปล่อยให้คนใกล้ชิดของประธานาธิบดีเข้ามามีบทบาทในองค์กรและมีความเชื่อมโยงกับการใช้อำนาจในทางที่ผิดและแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ยิ่งทำให้ความนิยมและความชอบธรรมของตัวผู้นำนั้นลดลงในสายตาของเจ้าที่ที่ตำรวจในระดับล่างที่ต้องเข้ามาเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนความเลวร้ายเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญประธานาธิบดีเองก็ไม่มีความสามารถและกลไกทางอุดมการณ์ใดๆ ในการที่จะเชื่อมร้อยประสานให้ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งระดับล่างและบนเลื่อมใส ศรัทธา ยินยอมและเห็นดีเห็นงามกับระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ต่อไปอีก

ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ท้าทายการทำความเข้าใจระบอบเผด็จการก็คือ ระบอบเผด็จการนั้นมักจะมีการลงทุนลงแรงในแง่ของการเข้าถึงประชาชนอยู่อย่างมาก เช่น การมีสัดส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคงต่อประชาชนนั้นจะมีจำนวนสูง และมีด้วยกันหลายหน่วยงาน อย่างในกรณีของตูนิเซียนั้นมีเจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคงหนึ่งคนต่อประชากร 55 คน ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่กระนั้นก็ตาม การคำนวณความเข้มข้นของวิกฤตการณ์และการไม่ประสานงานกันให้ดีของกองกำลังต่างๆ ก็มีส่วนที่ทำให้การรับมือกับการชุมนุมนั้นนำไปสู่ความร้าวลึกของวิกฤตการณ์ ขณะที่เบื้องบนอาจจะมองวิกฤตการณ์การปะทะและเผชิญหน้าในแง่ของการมองเชิงวอร์รูมหรือการวางแผนบนกระดาน แต่คนที่อยู่หน้างานนั้นเขาเจอกับการบาดเจ็บ การสูญเสียของคนที่เขาเองเชื่อว่าเขาต้องปกป้องด้วยซ้ำ เพราะเจ้าหน้าที่เขาไม่รู้ว่าเขาต้องรักษาระบอบนี้เอาไว้ทำไม

ผมอ่านกรณีของตูนิเซียแล้วก็คิดว่าของบ้านเรานั้น การที่เราไม่ค่อยทำความเข้าใจบทบาทการทำงานของตำรวจที่สัมพันธ์กับวิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างเป็นระบบ ทั้งที่ตำรวจมีบทบาทสำคัญมากในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมานี้เอง น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การทำความเข้าใจรัฐและอุดมการณ์ของรัฐนั้นอาจจะยังละเลยเรื่องราวในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่มีความสำคัญต่อทั้งหน้างานและในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองทั้งระบอบครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image