คุยกับ ‘เติ้ล-ณัฐนนท์’ หนุ่มผู้ถูกจับ หลังยื่นโบขาวให้ตร. วันสลายม็อบแยกปทุมวัน

คุยกับ ‘เติ้ล-ณัฐนนท์’ แห่ง spaceth.co หนุ่มผู้ถูกจับ หลังยื่นโบขาวให้ตำรวจ วันสลายการชุมนุมแยกปทุมวัน ‘เมื่อศัตรูคือความไม่รู้’

15 ตุลาคม หลังการสลายการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล “ราษฎร” เดินเท้าเข้าแยกราชประสงค์ ยึดพื้นที่ชุมนุม ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ถือโล่ เป็นแนวกับผู้ชุมนุม

“ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน” หรือ เติ้ล ราษฎรไทยวัย 22 ปี นำโบสีขาว ยื่นให้เจ้าหน้าที่ที่แนวกั้น เขาบอกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “วันนี้ไม่รับไม่เป็นไร วันหนึ่งหวังว่าเราจะได้เป็นเพื่อนกัน” เขายื่นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเรื่อยๆ จนกระทั่งรายที่ 3 ที่รับโบขาวของเขาไป

16 ตุลาคม คณะราษฎรประกาศนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง ที่แยกปทุมวัน ในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพิ่งให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า “ไม่ออก ผมทำผิดอะไรหรือ…” เมื่อถูกซักถามถึงข้อเรียกร้องของเหล่าผู้ชุมนุม

ช่วงเย็นของวันนั้น แยกปทุมวันคราคร่ำไปด้วยมวลชนในเวลาไม่นาน ขณะที่แกนนำยังไม่ทันได้ปราศรัยเป็นจริงเป็นจัง เจ้าหน้าที่ได้นำรถควบคุมฝูงชนเข้ามา นับถอยหลังฉีดน้ำ สลายการชุมนุม ท่ามกลางเหล่าราษฎรที่กางร่มเป็นแนวกั้น ณัฐนนท์ ยังเป็นหนึ่งคนที่ยึดวิธีการเดิม เดินนำ “โบขาว” หยิบยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ และยังไม่ทันที่เขาจะวางลงบนพื้นได้สำเร็จ เสียงของเจ้าหน้าที่ก็ดังขึ้นว่า “จับ” ก่อนที่ ณัฐนนท์ จะถูกพาตัวขึ้นรถห้องขัง ไปยังตชด.ภาค 1 ปทุมธานี พร้อมกับผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่ง

Advertisement

ภาพและคลิปวิดีโอ วินาทีถูกจับกุมหนุ่มแว่นถือโบขาวนั้น เผยแพร่ไปทั่วโลกออนไลน์ ตั้งคำถามถึงการใช้ความรุนแรง ท่ามกลางเสียงประณามจากองค์กรต่างๆ

ข้ามวันนั้น ศาลปทุมวัน ยกคำร้องขอฝากขัง ปล่อยตัวผู้ชุมนุม

แล้ว “ณัฐนนท์” เป็นใคร เขาคือประชาชนไทยวัย 22 ปี บรรณาธิการบริหาร ผู้ร่วมก่อตั้ง spaceth.co เว็บดาราศาสตร์ระดับต้นๆของไทย ที่มีคนติดตามมากกว่า 287,000 คน ในเฟซบุ๊ก เป็นนักเขียน โปรแกรมเมอร์ และที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี ที่ความชื่นชอบในดาราศาสตร์ ทำให้เขาได้ร่วมงานกับองค์กรต่างๆ อย่าง NASA, JAXA, ESA หรือมหาวิทยาลัยอย่าง MIT และ Harvard

Advertisement

และที่สำคัญ เป็นพลเมือง ที่อยากเห็นประชาธิปไตยในประเทศไทยเบ่งบาน ฝันอยากเห็นความเท่าเทียมเกิดขึ้นในไทย นั่นเป็นที่มา ที่ทำให้เขาก้าวเข้าสู่โลกการเมือง ที่เราอยากพาไปรู้จักกับเขามากขึ้นไปอีก

ณัฐนนท์ นำโบขาวยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ภาพจาก REUTERS

ความชื่นชอบในวิทยาศาสตร์ เริ่มต้นเมื่อไหร่

ตั้งแต่เด็กๆ เราเป็นลูกชนชั้นกลางคนหนึ่ง ที่เหมือนกับคนอื่น พ่อแม่ จะมีเวลาอยู่กับเราแค่เสาร์อาทิตย์ ชีวิตเราจึงอยู่กับกองหนังสือ อ่านหนังสือเยอะ แล้วก็ชอบสังเกตมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ชอบสิ่งนี้มาแต่เด็กๆ

 

อะไร ทำให้อยากลุกขึ้นมาเปิดแฟนเพจ spaceco.th

เรารู้สึกว่าประเทศไทย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการคิด แม้ว่าเราจะสอนวิทยาศาสตร์ แต่ว่าวิทยาศาสตร์ที่เราสอนในโรงเรียนเป็นแค่ผลผลิตของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยสอนวิทยาศาสตร์เหมือนเป็นแค่ขี้ของมัน ผ่านกระบวนการอะไรมาแล้วมากมาย แล้วเราก็มาท่องจำว่าสูตรมันคืออะไร สมการคืออะไร นักวิทยาศาสตร์คนนี้ คิดค้นอันนี้ปีอะไร ซึ่งมันไม่มีประโยชน์เลย มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ มันคือวิชาท่องจำที่เอาเรื่องวิทยาศาสตร์ที่มันผ่านการคิดมาแล้วเป็นร้อยเป็นพันครั้ง มาใส่ในสมองเด็ก แต่ไม่เคยสอนให้เด็กคิดตามเขาได้เลย ถอดสมการออกมา เด็กคิดไม่ได้เลย

เราก็เลยตั้งคำถามว่า แล้วสิ่งนี้เริ่มต้นมาจากอะไร คำตอบก็อยู่ในสื่อที่เราเสพอยู่ทุกวัน ถามว่าละครสอนให้เราคิดแค่ไหน ละครบอกว่านี่เป็นเรื่องของผิดชอบชั่วดี แต่สุดท้ายแล้วมันก็เซ็ตมาแล้ว ถ้าเด็กดูละครกับพ่อแม่ แล้วเด็กบอกว่า ตัวร้ายเป็นคนดี พ่อแม่ก็ว่าแล้ว จริงๆแล้วมันไม่ได้ เราต้องถามว่าทำไมเด็กถึงคิดแบบนั้น แต่พ่อแม่กี่คนที่จะมาถามลูกว่า ทำไมคิดแบบนั้น ทำไมเป็นคนร้าย หรือคนดี เราไม่มีพื้นที่ในสังคมให้เด็กหรือคนในสังคมได้คุยกัน พอถูกปลูกฝังมาเรื่อยๆ ความที่เป็นคนที่ยอมไปกับทุกอย่าง ไปกับระบบ ยอมไปกับสิ่งที่เคยเป็นมาและเป็นอยู่เรื่อยไป ก็จะเป็นเหมือนเดิม ประเทศชาติไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

แต่ถามว่าจะดีแค่ไหน ถ้ามีสื่อที่สอนให้คนคิดจริงๆ คิดด้วยหลักการ คิดด้วยเหตุผล ซึ่งเมื่อก่อนแย่มากเลยนะ การอ่านข่าว อะไรแบบนี้ แทบจะเต็มไปด้วยอารมณ์ หน้าหนังสือพิมพ์ พาดหัวเน้นอารมณ์ มันเป็นการชี้นำโดยชัดเจนว่า คนนี้เป็นคนดี เป็นคนเลว เวลาดูละครก็ต้องมีพระเอก นางเอก ผู้ร้าย ซึ่งพล็อตมันก็เดิมๆ จบแบบธรรมะชนะอธรรม แล้วมันสอนอะไรเรา ไม่ได้สอนอะไรเลย มันเป็นแค่การตอกย้ำชุดความคิดเดิมๆ เลยดีใจที่ช่วงหลัง ไม่ใช่แค่ space.th แต่แนวโน้มของสื่ออื่นๆ สื่อออนไลน์ ออฟไลน์ มันทำให้เราคิดเยอะขึ้น ไม่ได้คิดแบบ binary ต้องมี ดำ-ขาว ถูก-ผิด

สิ่งที่ spaceth.co ทำ เหมือนจะเป็นข่าวดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แต่จริงๆ แล้ว เราพาวิเคราะห์นะ ถ้าเราอ่านบทความอย่างละเอียด จะเห็นการวิเคราะห์ เชื่อมโยง บางครั้งอาจมองว่าไม่เห็นเชื่อมโยงเลย เป็นการหยิบเอาสถานการณ์ จับเอาคำนู้นนี้มาลง แต่มันซ่อนนัยยะอะไรบางอย่าง มันเป็นสัญญะ เต็มไปด้วยสัญญะเยอะมาก อยู่ที่จะถอดอย่างไร จะมองให้เป็นเว็บดาราศาสตร์ธรรมดาก็ได้ แต่ถามว่าแบบนั้นก็มีมาตั้งนานแล้ว เว็บดาราศาสตร์ก็มีมานานแล้ว หนังสือเรียนก็มีมานานแล้ว แต่เรารู้สึกว่างานเราคือการแทรกสิ่งที่ถ้าเป็นหนังสือเรียนกระทรวงไม่ใส่มาแน่นอน

 

แล้วปัญหาของแบบเรียนวิทยาศาสตร์ไทย มันเป็นอย่างไร

ก็เป็นชุดความจริงที่ไม่ได้ถูกสอนให้คิด ทุกวิชาเลย เอาจริงแล้ว ก็พยายามคิดว่าจะมีวิชาอะไรที่ถูกสอนให้คิด คิดไปคิดมาก็ไม่มี แม้กระทั่งวิชาคณิตศาสตร์ ที่สอนให้เด็กเอาตรรกะมาคุยกัน ให้เหตุผล แต่ถ้าไม่ได้ทำตามครูบอก ก็ผิด หรือแม้กระทั่ง หนังสือเรียนที่ถามว่า ผู้ประพันธ์รู้สึกอย่างไร ตอบผิดศูนย์คะแนน แต่เราก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรกันแน่ มันเหมือนเป็นการคิดวิเคราะห์ที่ถ้าคิดนอกกรอบก็ผิด เรารู้สึกว่าการที่เราโตมากับอะไรแบบนี้ คือสิ่งที่ทำให้สังคมไทยเป็นแบบนี้

พัฒนาการของ spaceth.co ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

คนรู้สึกว่ามันใหม่ ซึ่งมันก็ใหม่จริงๆ พอทำไปปีสองปีสามปี ก็ไม่เริ่มใหม่แล้ว แต่ว่า impact ของมันก็จะเยอะขึ้น มีคนของานศิลปะที่เราเคยทำไปสัก หรือเอาภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ ไปพิมพ์แจกในงานศพ ภาพนั้นเป็นภาพถ่ายทางปรัชญาที่ถ่ายภาพของโลกมาจากขอบของระบบสุริยะ ซึ่งอธิบายว่า จริงๆแล้วมนุษย์ก็ไม่ได้มีอะไร เป็นแค่จุดเล็กๆ แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นที่นี่ สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทุกอย่างเกิดที่นี่ สุดท้ายเราทำไปเพื่ออะไร รุนแรงไปเพื่ออะไร ภาพถ่ายนั้นก็เป็นภาพถ่ายทางปรัชญาไปซะงั้น แทนที่จะเป็นงานด้านวิทยาศาสตร์

 

เว็บใช้ทีมงานถึง 10 คน แบ่งการทำงานกันอย่างไร

ทุกคนมีความคิดคล้ายๆ กันว่า เราไม่ได้แค่ทำสื่อวิทยาศาสตร์ แต่ว่าเรากำลังเปลี่ยนแปลงสังคมในรูปแบบที่เราทำได้ เพื่อให้ประเทศไทยดีขึ้น ถามว่าเปลี่ยนแปลงแบบไหน เปลี่ยนแปลงด้วยการถ่ายทอดวิธีการคิด ซึ่งแต่ละคน มีวิธีการแสดงออกที่เป็นตัวเองอยู่แล้ว

แต่ละคน ใช้เวลาส่วนมากกับวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้มีใครเป็นนักดาราศาสตร์อาชีพ แต่ละคนสนใจแตกต่างกัน เรามองว่านี่คือความหลากหลาย เนื้อหาหลากหลายแต่ไปในทางเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้การศึกษาไทยไม่ได้สอน การศึกษาไทยมองแค่ Direction base มีทิศทางให้ แล้วก็มโนไปว่าจะถึงเป้าหมาย ถ้าจบปริญญาจะมีงานทำ ถ้าได้งานดีๆก็จะรวย แต่ไม่เคยสอนให้คิดว่า แล้วถ้าอยากรวย องค์ประกอบที่จะนำไปสู่ความรวยมีอะไรบ้าง หรือถ้าคุณอยากเป็นหมอ องค์ประกอบที่จะทำให้เป็นหมอ มีอะไรบ้าง เขาไม่เคยสอน แม้กระทั่งครูแนะแนว ก็บอกแค่ให้ไปลงเรียน เรียนกี่ปี แต่เด็กที่โตมายุคนี้ เขาไมได้ถูกสอนให้คิดแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว

และการที่เขาไม่ได้คิดแบบนั้นได้เอง มันเกิดจากการที่เขาสังเคราะห์ขึ้นมาได้เองด้วย ซึ่งมันเยี่ยมมากเลย มันแปลว่า ถ้าเรามีชุดข้อมูลชุดนึง ที่มันไหล มันโฟลว์มากๆ เป็นแบบทะเลข้อมูล เด็กเขาคิดได้เองนะ ดังนั้น คุณไม่ต้องไปกลัวว่าเด็กจะสับสนหรืออะไร เด็กมันสับสนอยู่แล้ว ทุกคนมันสับสน กับเรื่องอะไรที่เจอในชีวิต แต่วันหนึ่ง เขาก็จะคิดได้อยู่แล้ว ว่าทำแบบนี้หละ

 

ความยากในการเข้าถึงข้อมูล “วิทยาศาสตร์” ของคนไทย

เรามองว่า การรับรู้ที่ดีที่สุด ก็คือการเข้าใจวิทยาศาสตร์จริงๆ

การเข้าถึง วิทยาศาสตร์มันมีสองอย่าง หนึ่งคือ กระบวนการคิดแบบวิทยาศาตร์ อย่างที่สองคือ เนื้อหาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเนื้อหาเราเข้าถึงได้นานแล้ว แต่กระบวนการเนี่ย เราไม่แน่ใจว่าคนไทยเข้าถึงได้มากแค่ไหน ที่บอกว่าไม่เข้าแน่ใจเนี่ย ก็เพราะว่ามันวัดไม่ได้ เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นตัวชี้วัด จะบอกว่าความก้าวหน้าทางสังคม ก็ดูจะ Bias ไป ถ้าชุดข้อมูลก็คงเข้าถึงได้นานแล้ว แต่กระบวนการคิด เพิ่งจะมีสัญญะที่ทำให้เรามองว่า มันเจริญเติบโตในยุคหลัง คือในยุคของอินเตอร์เน็ต และ โซเชียลมีเดีย บางที เราไม่ได้เรียนรู้แค่จากสิ่งที่ถูกต้อง แต่เราเรียนรู้จากการเห็นสิ่งที่มันผิด ว่าตรรกะวิบัติมากเลย ไม่ make sense ก็ทำให้เราคิดได้ ช่วงหลังมันก็โผล่มาให้เห็นเยอะมาก ช่วงรัฐบาลคสช. การรัฐประหาร การออกค่านิยม 12 ประการ หรือว่า การทำอะไรที่มันย้อนแย้ง ในสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะพูดอยู่ตลอด ซึ่งมันก็เป็นตัวสอนเด็กที่ดีมาก ถ้าเด็กไม่ได้เติบโตมาในยุคของรัฐบาลคสช. เด็กเขาจะคิดเรื่องนี้ไม่ได้เหมือนกัน

ทำไมสนใจการเมือง และเมื่อไหร่ ที่คิดว่าต้องออกมา

เราสนใจการเมืองไทยมาสักพัก ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร แต่ว่ามาศึกษาจริงจังเพราะว่ารัฐประหาร ปี 2014 ตอนนั้นเราอยู่แค่ม.3 เอง หลังจากนั้นก็อ่านหนังสือ รัวๆ อ่านบทความต่างๆ

เรื่องรัฐประหารนั้น เราพอมีความเข้าใจเรื่องโครงสร้างอำนาจของรัฐ โดยเฉพาะรัฐไทยที่ปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แน่นอนการรัฐประหารขัดต่อหลักบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แม้กระทั่งโครงสร้างใหญ่ที่รวมถึงสถาบันเองก็ตาม มันก็ดูขัดไปหมด ทำให้เราสงสัยว่า เหตุผลอะไร ที่ทำให้คนๆ นึง สามารถพูดว่า ฉันจะทำรัฐประหาร แล้วประเทศทั้งประเทศตกเป็นของเขาได้

อย่างแรกเลยก็คือ กองกำลัง power กำลังที่ทหารใช้ เป็น Hard power คือ อำนาจที่พร้อมจะทำลายล้าง เขามีอาวุธ รถถัง มีอะไร หากคุณจะมาพูดว่า รัฐประหารทำได้ด้วยคำพูด ไม่จริงนะ เหมือนเราบอกว่า เราจะไปยึดบ้านคุณ คุณจะยอมไหม แต่ถ้าเราถือปืนจ่อ เราจะยึดบ้านคุณ ก็ต้องยอม เพราะตราบใดที่ไม่ยอม ก็คือชีวิต

ซึ่ง รัฐประหารนี้ มันก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก และเราก็สงสัยว่า มันไม่มีอำนาจในรูปแบบอื่นหรือ ที่จะมายับยั้งอำนาจ Hard power นี้ได้ ก็เลยไปศึกษาต่อ ก็มี Soft power นะ มีอำนาจนำ ก็พยายามศึกษา dynamic ของอำนาจ ว่าคืออะไร ทำไมจึงมีม็อบตอนนั้น ทำไมกระบวนการคิดถึงสำคัญ ทำไมห้ามแจกหนังสือ ทำไมการกินแม็คโดนัลด์ หรือหนังสือ 2-3 เล่ม มีภัยต่อความมั่นคงของชาติ ทำไมไปปิกนิกไม่ได้ ทำไมชูสามนิ้วต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้

 

อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ “เยาวชน” ต้องลุกขึ้นมาในเวลานี้

เรามองว่า สังคมมาถึงจุดที่เขายอมต่อไปไม่ได้แล้ว เขาไม่ใช่แค่เยาวชน เขาโตพอที่จะรู้สึกว่า เขาจะกำหนดอนาคตของประเทศเองแล้ว ด้วยสิ่งต่างๆ ที่มันถูกสั่งสมมา ความไม่สมเหตุสมผลต่างๆ และเขารู้สึกว่าเขาพอแล้ว การเลือกตั้งที่เขียนกติกาให้ตัวเองชนะ เขาไม่อยากจะได้อีกแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่คนร่างก็ไม่รู้จะอยู่ถึงหรือเปล่า แต่เราต้องอยู่ไปอีก ตอนนั้นเราอายุ 40 ก็ไม่รู้ว่าประเทศชาติมันจะเป็นอย่างไรเมื่อเราอายุเท่านั้น และลองคิดดูว่า ถ้าเราอายุ 40 ปีแล้วประเทศไทยมันพังพินาศมากๆ แล้วเราลองมองย้อนกลับมาดูตัวเองในวัย 20 ปี วันที่เราไม่ทำอะไรเลย มันน่าเศร้ากว่าอีก

หรือรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่เขามองย้อนกลับมาแล้วมองว่า ทำไม รุ่นพ่อถึงปล่อยให้ประเทศเราเป็นแบบนี้ ไม่มีการวางหมุดหมายอะไร ไม่มีแม้แต่จะขัดขืนอะไรเลยหรอ เราก็มองว่าสงครามนี้ ไม่ว่าจะแพ้ หรือชนะ หรือจะได้มาซึ่งการเรียกร้อง 3 ข้อ รวมถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรารู้สึกว่ามันคือการวางหมุดหมายว่า คนในยุคนั้นคิดอะไร มองว่าเยาวชนในยุคนั้นต้องการอะไร และจะถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ มันเหมือนการทำภารกิจ มันอาจจะยังไม่สำเร็จ แต่ว่าเรารู้ว่า อนาคตจะไปทางไหน สุดท้ายเมื่อวันที่ทุกอย่างพร้อมที่จะพลิกด้าน คนในยุคนั้น ก็จะเข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงมาถึงจุดนี้ได้ แต่เราจะไม่ปล่อยให้เขามองย้อนกลับมา แล้วเห็นความย้อนแย้งในประวัติศาสตร์ว่า อะไรเนี่ย พ่อไปเป่านกหวีดเรียกทหารมารัฐประหาร แต่บอกเรียกร้องประชาธิปไตยหรอ มันประชาธิปไตยตรงไหน เราไม่ต้องการให้คนรุ่นหลาน ที่เขาจะฉลาดกว่าเราอีกมาก มาคิดตรงนี้ และด่าว่าเราโง่ อะ เรายอมไม่ได้จริงๆ

 

ก้าวแรกเริ่มชุมนุม

ที่หอศิลปวัฒนธรรมนี้เลย ต้านรัฐประหาร 2014 อยู่บนสกายวอล์ก ส่งเสียงโห่ลงมา ทหารก็ตั้งแถวอยู่ข้างล่าง ก็ต้องเอาหลังพิงกับกำแพงของราวกั้น และโห่ลงมา ต้องปิดหน้าด้วย ไม่ให้เห็นเพราะเขาเอากล้องถ่ายรูป วันนั้นนักศึกษา 3-4 คน ก็โดนจับ พี่รังสิมันต์ โรม ยังเป็นนักศึกษาอยู่เลย เราอยู่ในวันนั้นเลย ที่มีคนถูกลากในคลิป

เมื่อต้นปี ก็ได้ขึ้นพูดที่จุฬาฯ ไปพูดเรื่องพี่อาสา ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง แต่ทำให้เราได้มาซึ่งบทความหนึ่งว่า “ศัตรูของเราคือความโง่เขลา”  เราไม่ได้มองว่าศัตรูคือประยุทธ์ หรือคนยุคเก่า ฯลฯ แต่คือความโง่เขลา

ความโง่เขลาในที่นี้ ไม่ใช่คำด่า แต่คือว่าไม่รู้ และความไม่รู้นี้มันมีราคาที่ต้องจ่ายสูง โดยที่เราไม่จำเป็น สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าความไม่รู้ก็คือ ความไม่คิดจะอยากรู้สักที พร้อมที่จะอยู่กับชุดความคิดเดิมๆ ตลอดเวลา ซึ่งมันก็ไม่ผิดหรอก แต่มันก็เป็นลูปกลับมาว่า เพราะความไม่รู้ว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว มันเปลี่ยนไปไว และน่ากลัวมาก

สุดท้าย ก็จะนำมาซึ่งภัยกับเขาตัวเอง ที่เราทำทุกอย่าง พูดแบบเท่ ๆ ก็คือ left no one behind คือต้องการที่จะลากให้คนที่ไม่อยากรู้สักที มาเผชิญกับความจริงเถอะ เราไม่ได้ปล่อยให้แก่ตายเหมือนไดโนเสาร์ สิ่งที่เด็กและเยาวชนทำ เขาไม่กีดกันเลยนะ เขาจะทำก็ได้ ไม่คุยด้วยเลย  แต่เขาก็พยายามที่จะทำให้คุณยอมรับ 3 ข้อเรียกร้องของเขา ซึ่งมันคือสิ่งที่เขามองว่า เป็นต้นตอที่ทำให้ประเทศเป็นแบบนี้ คุณช่วยยอมรับหน่อยได้ไหม คุณไม่ร่วมไม่ช่วยก็ได้ แต่ช่วยเข้าใจ ว่าจริงๆแล้วมันคืออะไร

วันนั้นที่ราชประสงค์ ทำไมถึงได้นำโบ ไปให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในใจกลัวบ้างไหม ทั้งๆที่เพิ่งผ่านการสลายการชุมนุมมา

วันนั้นมีคนโดนจับ เพื่อนเราหลายคนถูกจับ (ณัฐนนท์ เล่าภายหลังว่า เขาและ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำคณะราษฎร เป็นเพื่อนมัธยมด้วยกัน ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ นนทบุรี) เราก็รู้สึกว่า มันยากที่เราจะนั่งอยู่บ้านเฉยๆ จริงๆ วันนั้น ก็ไปงานของสถานทูตอเมริกา แต่ยกเลิก เราก็เลยว่าง ไม่ได้ทำอะไร

วันนั้นเตรียมโบขาวไป ก็ไม่รู้จะเอาไปทำไร แต่พอเราเห็นภาพของตำรวจที่ยืนตั้งแนวกัน เราก็รู้สึกว่าเราอยากจะเข้าไปก่อกวน ไม่ใช่การก่อกวนแบบ กวนตีน แต่คือการก่อกวนทางความคิด ที่แบบทำให้เขาตั้งคำถามกับ status quo ของตัวเองว่า เขามายืนตรงนี้ทำไม ฉันเป็นใคร เขาเอาโบขาวมาให้ทำไม คนแรกไม่รับ คนที่สองไม่รับ แล้วคนที่สาม ทำไมรับ แล้วคนที่สามจะมองสองคนแรกยังไง ว่าทำไมไม่รับ หรือนายจะมองยังไง คนที่สามกลัวไหม โดนไล่ออกหรือยังก็ไม่รู้ มันเป็นการชวนเขาคิดด้วยวิธีการที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่เป็นการชวนเขาคิด สิ่งที่เราเห็นด้วยตาคือเขางง เขาไม่เคยถูกสอนให้รับของ เขาถูกสอนว่า ให้มาที่นี่ เพื่อปราบผู้ชุมนุม เพราะรู้ว่าคำสั่งคืออะไร และเขาคิดอะไรในวันที่เขาถูกสั่งให้ปราบ โดยที่ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้มีท่าทีที่เป็นภัยกับเขาเลย แม้แต่นิดเดียว แถมยื่นสิ่งที่เป็นมิตรไมตรีให้กับเขา

การตั้งคำถามนี้ เหมือนวิทยาศาสตร์ ที่พูดแต่แรกว่า เราไม่ค่อยถูกสอนให้คิด เรากำลังสอนให้สังคมคิด เรากำลังพยายามทำให้ตำรวจ เจ้าหน้าที่ และนายเขาคิดอยู่ ผู้ชุมนุมก็คิด เตือนใจว่าแม้เขาจะมาในฐานะคนที่ถูกสั่งให้ปราบเรา แต่เขาก็ยังมีความเป็นคนเหมือนเรา และการต่อสู้ของเรา ก็ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อห่ำหั่น ไปมองว่าศัตรูคือใคร ทำให้ใครออกนอกประเทศ และไม่มีที่ยืน แต่เราพยายามทำให้ทุกคนในประเทศ เขามีจุดยืน ที่จะยืนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขด้วยซ้ำ

 

กล่าวอะไรกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ก็พูดว่าไม่ว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้น ก็ขอให้รู้ว่าเรามาชุมนุมกันอย่างสันติ วันนี้รับไม่ได้ไม่เป็นไร วันหนึ่ง ก็หวังว่าเราจะได้เป็นเพื่อนกัน นี่ไม่ได้สร้างภาพอะไร แต่มันคือสิ่งที่เราต่อสู้ คือ message ของม็อบ คุณมองแค่ 3 ข้อเรียกร้องแล้วบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ คือจะบอกหรือว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะอยู่ร่วมกันในแผ่นดินนี้อย่างมีความสุข คุณคิดแย่มาก 3 ข้อเรียกร้องเรา มันคือการเสนอวิธีการ เพราะคุณคิดเองไม่ได้ คุณไม่แม้แต่จะคิด พอเยาวชนเขาคิด คุณไม่สนใจที่มาที่ไป ไม่สนใจแก่นแต่มาบอกว่าเขาชังชาติ ไม่ make sense เลย

REUTERS

แล้ววันที่ แยกปทุมวัน เกิดอะไรขึ้น

วันนั้นก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปแยกปทุมวัน คือเห็นข่าวสลายการชุมนุม ก็จะไปหาเพื่อนที่จุฬาฯ เพราะคิดว่าต้องมีคนเจ็บ คนที่หลง และน้องๆมัธยม อีก ก็คิดว่าจะไปช่วยเหลือ ซึ่งเพื่อนก็เปิดประตูมหาวิทยาลัยพร้อมแล้ว และเราก็ผ่านแยกปทุมวัน

ที่แยกปทุมวัน วันนั้น เราก็ไปชูโบขาว ด้วยชุดความคิดเดียวกับที่พยายามทำหน้าราชประสงค์ เพราะเราเห็นสิ่งเดียวกัน เราเห็นการกระทำที่เขาไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร ตอนที่เราเอาโบไปยื่นแล้วเขาถอย เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้ถูกสอนให้เผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบนั้น ถ้าเราเอาของไปเขวี้ยง เขาคงจะดันเรา แล้วมันผิดไหม พอเราจะเอาโบขาวไปไว้ที่พื้น ต้องการจะเห็นภาพที่โบขาวนั้นถูกเหยียบย่ำโดยเจ้าหน้าที่ สุดท้าย พอไม่ทันได้อะไร เขาก็คว้าตัวเราไป เจ้าหน้าที่พูดว่า จับ แล้วก็มาคว้าตัวเราไป

ซึ่งมันไม่แปลก เขาทำหน้าที่ของเขา เราก็เข้าใจว่าเขาทำหน้าที่ของเขา เราเข้าใจทุกอย่าง ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่เรารู้สึกว่า มันก็ต้องมีการคิดกันบ้าง ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งบางทีการชวนคิดด้วยคำพูด มันไม่เท่าการชวนคิดด้วยการกระทำ มันแสดงให้เห็นอยู่ ว่าเราไม่ได้สักแต่พูดว่าเรามาชุมนุมปราศจากอาวุธ เราทำให้เห็นจริงๆ

 

บรรยากาศ หลังถูกนำตัวไป ตชด.ภาค 1 เป็นอย่างไรบ้าง

สำหรับเราไม่ได้เจอความรุนแรง แต่ก็เห็นความสับสนวุ่นวาย ที่อยู่ในใจของแต่ละคน ว่ามาทำอะไร เพื่ออะไร วันนั้นก็มีทั้ง แก๊งศิลปะปลดแอก ที่เขาถือโทรโข่งบอกให้คนหนีไปจุฬาฯอยู่ มีคนทำงานบาร์ แล้วก็รถขนเครื่องเสียง เรามองว่า อะไรก็ตาม ถ้าไม่เป็นคำสั่งมา เขาก็ไม่อยากทำหรอก มันเสียเวลา ไม่ได้นอน ง่วงไปหมด ทุกคนอยู่ในสภาพเหนื่อย ทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ และมันยิ่งทำให้รู้ว่า “คุณยิ่งกวนน้ำ น้ำยิ่งขุ่น” มันเห็นได้ชัดเจน

 

ในใจมีบ้างไหม ที่คิดว่าอาจจะโดนจับ

ก็คิด แต่ไม่มีใครอยากถูกจับหรอก และเราก็คิดว่าเขาพลาดด้วย ที่จับเรา วันเดียวเต็มทวิตเตอร์เลย (หัวเราะ)

 

ในฐานะเป็น 1 ในคนที่โดนกฎหมายเป็นเครื่องมือ คิดอย่างไรกับการใช้กฎหมายปราบผู้ชุมนุม

ไม่มีประโยชน์กับใครเลย มันยิ่งทำให้เราเห็นว่า ประเทศไทยใช้กฎหมายมั่วซั่ว ใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ พ.ร.บ.ความสะอาดก็มาจับคนได้ ซึ่งเราไม่พูดกันตรงๆ ถ้าเราพูดกันตรงๆ ไม่อยากให้ชุมนุม ก็จบ ก็ไปคุยกันต่อว่า ทำไมไม่อยาก แต่พอคุณมาบอกว่า โควิด จบ ก็ไม่ได้คุยกันเรื่องเดียวกันแล้ว

ถ้าการเมืองดี มองโลกวิทยาศาสตร์ จะเปลี่ยนไปอย่างไร

ประเทศไทยมี การสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ที่ดีมากๆ อยู่แล้วในระดับหนึ่ง จากการช่วยกันในหลายๆ หน่วยงาน อย่างดาราศาสตร์ มีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่เขาทำสื่อ ทำอะไรมาดีมากๆ มาโดยตลอด การเข้าถึงข้อมูลต่างๆในไทย ไม่ได้ยาก เท่าเมื่อก่อน เราดีกว่าหลายประเทศด้วยซ้ำ อินเตอร์เน็ตของเราเร็วแทบจะต้นๆ ของอาเซียน เรามีโครงสร้างพื้นฐานในกทม. ที่ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับหลายๆประเทศ ซึ่งก็หวังว่าต่างจังหวัดจะดีด้วย ทุกอย่างพร้อม

แต่สิ่งที่เป็นตัวที่ทำให้เราไม่พัฒนาไปไหนสักที ก็คือชุดความคิด เราติดกับชุดความคิดเดิมๆ อยู่เยอะมาก วิทยาศาสตร์ ของไทยจะต้องเปลี่ยน จากค่านิยมวิทยาศาสตร์ เป็นกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ค่านิยมวิทยาศาสตร์ คือ ชอบหมอ ชอบนักวิทยาศาสตร์ ชอบดร. แต่ก็ยังเชื่อฟอร์เวิร์ดในไลน์ มากกว่าดร. นี่คือค่านิยมวิทยาศาสตร์ เราต้องการสังคมที่มีกระบวนการคิดวิทยาศาสตร์ คุณต้องคิดได้อะ ต้องรู้ว่า ทำไมเขาถึงพูดแบบนี้ ทำไมมันรักษาโรคไม่ได้จริง ทำไมเป็นเฟคนิวส์

ถ้าเราก้าวข้ามจากสังคมค่านิยมวิทยาศาสตร์ ไปสู่สังคมที่เป็นกระบวนการคิด จะดีมาก

 

เมื่อคนหนึ่งลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง มักมีคนตั้งคำถามว่ามีเบื้องหลัง

ก็มี มีเบื้องหลังเป็นนักวิทยาศาสตร์ กี่ร้อยกี่พันคน ที่ทำให้เราคิดแบบนี้ได้ แต่เขาไม่ได้สั่ง เราคิดได้เอง ทุกคนก็มีเบื้องหลังหมดอะ ไอแซค นิวตัน ก็เคยบอกว่า ที่ฉันมองเห็นได้ไกล เพราะว่าฉันยืนอยู่บนบ่าของยักษ์ใหญ่ เราก็รู้สึกว่า ทุกคนก็มีเบื้องหลังหมดหละ ไม่ได้ไปมองว่า สั่งมาแบบนั้นนี้ ต่อให้เรามีเบื้องหลัง แล้วจะไปผิดอะไร ใครก็มีเบื้องหลัง เขาเองก็มีเบื้องหลัง

 

หลายคนบอกว่า การชุมนุมของเยาวชนไทย เหมือนฮ่องกง แต่ก็เป็นโมเดลที่อาจจะจบไม่สวย

มันโมเดลเดียวกัน ฮ่องกงลุกขึ้นมาทำไม คนที่ลุกขึ้นมา ก็คือคนที่เกิดหลังปี 1997 ที่ฮ่องกงคืนกลับไปจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อนหน้านั้นเจริญมาก แทบจะเป็นศูนย์กลางธนาคารในเอเชีย เด็กก็ตั้งคำถามว่า แค่เขาเกิดมา เขาผิดหรอ เขาผิดตรงไหน แค่เกิดมาก็ต้องไปอยู่ใต้อำนาจ สี จิ้นผิง แล้วอะ เขาทำอะไรผิด เขาไม่ได้ทำอะไรเลย สิ่งที่เด็กๆ ฮ่องกงทำ มันยิ่งใหญ่กว่าเรามากเลยนะ เด็กไทย มีหมุดหมายที่วางมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคณะราษฎร 6 ตุลา หรือคนเสื้อแดง ที่เด็กเอามาตีความใหม่ ตามวิธีการมองของ อ.ประจักษ์ เด็กเขามีหมุดหมายแล้ว เขาก็แค่ทำภารกิจต่อ แต่ว่าเด็กฮ่องกง เขาเริ่มต้นจากสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เขาโคตรกล้า แม้ไม่สำเร็จ อย่างน้อยก็ได้เห็นว่า เจเนอเรชั่นแรก เขาต่อสู้ เขาใช้เวลา 20 ปี ในการมองโลก และสั่งสมประสบการณ์ของเขา แล้วในวันที่เขาอายุ 20 ปี เขาเลือกจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิ่งที่เขาควรจะได้ ซึ่งมันเป็นความคิดที่น่ายกย่องมาก มันอาจจะไม่สำเร็จในเจเนอเรชั่นเดียว แต่เป็นการวางหมุดหมายไปเรื่อยๆ

การเมืองไทยต่อจากนี้ มองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

คน คิดเยอะขึ้น ทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ขอให้คิดเยอะๆ ก่อนที่จะทำอะไร ก่อนจะพูดอะไร และทุกอย่างจะดีขึ้นจริงๆ ต้องอย่าลืมว่า เรากำลังสร้างประเทศไม่ใช่สำหรับคนใดคนหนึ่ง ถ้ามันจะมีวิธีคิดที่กีดกันคนใดคนหนึ่ง ก็อย่าทำ ดังนั้น อนาคตที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนั้น เราไม่รู้หรอกว่าจะแพ้หรือชนะ จะได้มาซึ่ง 3 ข้อเรียกร้องหรือไม่ แต่เราได้วางหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ไว้แล้ว ว่าอยากให้เป็นแบบนี้ ระยะยาวก็เชื่อว่า โลกเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้

ตอนที่พูด เรื่อง black lives matter มันก็เป็นเรื่องที่แบบ พูดไม่ได้เลย ในช่วงทศวรรษ 1940 แต่พอพูดวันนี้ กลายเป็นเท่ คูลมากเลย หรือเรื่องเลิกทาส เรื่องสิทธิมนุษยชน ก็คงพูดไม่ได้ในวันที่ยังมีตลาดฆ่าทาส กำลังเฆี่ยนตี เรื่องพวกนี้เหมือนกัน วันนี้อาจเป็นเด็กชังชาติ แต่วันนึงอาจจะคูลมากเลย

 

แล้วไทยตอนนี้ พ้นยุคมืดหรือยัง

ใกล้ละ จะเรเนสซองส์แล้ว ก็ต้องสู้กันอีกสักพัก อย่างให้เทียนมันดับ อย่าให้เทียนแห่งความสดใสมันดับ แล้วเราจะก้าวข้ามผ่านไปได้

เรามองว่า อนาคตข้างหน้า สังคมจะไหลไปทางไหน ก็จะไหลไปได้ แต่อย่าแค่ช่วงสั้นๆ อย่าไปยึดติด มนุษย์ไม่เคยปราศจากความขัดแย้งอยู่แล้ว มันถูกฝังอยู่ในยีนส์ แค่มนุษย์ฉลาดพอที่จะรับมือกับความขัดแย้ง ยุคหินอาจจะทุบกันเลย ตอนนี้ก็ตั้งรัฐสภา มันมีความ subjective ขึ้นเรื่อยๆ หลักการและเหตุผล มันก็มี ความจริงเป็นสิ่งซับซ้อน วันหนึ่งเราอาจจะต้องก้าวผ่านไปตั้งคำถามว่า ถ้ารถไร้คนขับไปชนคน ใครเป็นผู้รับผิดชอบกันแน่ เป็นชุดความคิดที่ไม่รู้ว่า ethics ของอนาคตคืออะไร

 

แล้วเด็กไทย ยังต้องพิสูจน์อะไรอีก

ทุกคนที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ มันมีความยากเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะยุคไหน สมัยไหน เพียงแต่ว่า เราจะต้องไม่เอาความยากลำบากในยุคตัวเอง ไปบอกว่า ยุคอื่นจะคิดอย่างไร ความยากลำบากในยุคเรา มันคือการต่อสู้ทางความคิดแล้ว ไม่ใช่การต่อสู้กับการมีตัวตนอยู่ในเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ หรือสงคราม เหมือนที่คนสมัยก่อนหน้านี้เจอ

สิ่งที่เรากำลังทำ คือ ชุดความคิดแบบไหน ที่จะทำให้โลกสงบสุข ทำให้โลกอยู่ด้วยกันในโลกอย่างสันติที่สุด ซึ่งมันเป็น momentum มาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นล่ะ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อะไรแบบนี้ แต่ว่าในช่วงแรกยังสับสนกันอยู่ ช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กจะพูดถึง Declaration of human right มากกว่ายุคอื่นใดก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ มันกลายเป็นเครื่องมือ เด็กยุคนี้เขาอิน กับเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาก็เชื่อว่าเป็นแนวทางของโลกที่เขาอยากให้มันเป็น

เด็กไทยก็คงต้องพิสูจน์ว่า “การใช้เหตุผล มันไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด”

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image