‘ณัฏฐพล’ ปักธงนำเทคโนโลยีปฏิรูปกศ. ชู ‘5ซี’ พัฒนาระบบการเรียนรู้ใหม่

‘ณัฏฐพล’ ปักธงนำเทคโนโลยีปฏิรูปกศ. ชู ‘5ซี’ พัฒนาระบบการเรียนรู้ใหม่ จับมือเอกชนพลิกประวัติศาสตร์

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาในงาน Powering digital Thailand 2021 ว่า ความคาดหวังที่ ภาคเอกชน ภาครัฐมีแนวทางขับเคลื่อนดิจิทัลของประเทศ เรามีการเตรียมความพร้อมอย่างไร เพราะวันนี้ตนเห็นแผนงานของภาคเแกชน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาประเทศ จึงรู้สึกกดดัน ว่า ศธ.จะมีความพร้อมเพียงพอที่จะเป็นแรงสนับสนุนได้หรือไม่ ตลอดเวลา 1 ปีที่ตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ พบว่าปัญหาการศึกษาไทย สามารถแก้ไขได้ ถ้าเรากล้าที่จะปฎิรูปการศึกษา เพราะการปฏิรูปการศึกษาจะทำให้ประเทศมีโอกาสพัฒนาต่อไปได้ ปัจจุบันเราพูดถึงการใช้เทคโนโลยี 5 จี คำถามที่ตามมาคือประชาชน โดยเฉพาะเด็ก และเยาวชน มีความพร้อมหรือไม่ จากที่ตนมีโอกาสลงพื้นที่ในโรงเรียนต่างจังหวัดไม่น้อยกว่า 500 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก ทำให้ตนเห็นว่าปัจจุบันนักเรียนไทย ไม่มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี เมื่อ ศธ.รู้ปัญหาก็ต้องหาทางแก้ไขอย่างจริงจังและรวดเร็ว ดังนั้น ศธ.ต้องพร้อมทำงานกับภาคเอกชนเพื่อผลักดันการศึกษาในเกิดการพัฒนา แต่ ศธ.พบปัญหาเมื่อทำงานร่วมกับภาคเอกชน คือ การขับเคลื่อนงานต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้า เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ตน เป็นหน้าที่ของ ศธ. ที่จะต้องฟันฝ่าแก้ไขปัญหาต่อไป เพราะ ศธ.มีหน้าที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ศธ.มีหน้าที่เตรียมความพร้อมให้ประชาชน เพื่อต่อยอดการพัฒนาประเทศ ดังนั้น สิ่งที่ ศธ.ต้องทำคือ ต้องปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง และขับเคลื่อนการศึกษายกกำลังสอง โดยจัดทำแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ หรือ DEEP ที่ทำให้ภาครัฐ เอกชน เอาข้อมูลมาใส่ในกระบวนการเรียนรู้ของ ศธ. ได้ ซึ่งแพลตฟอร์มนี้นักเรียน ครู และประชาชนสามารถเข้าถึง เรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา ศธ. ไม่ได้มองเรื่องของการศึกษาที่เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนแต่มองการศึกษาทั้งระบบ มองการเรียนการสอนสามารถเรียนได้ทุกที่ มองการเรียนการสอนที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มองเรื่องการเรียนการสอนทุกช่วงวัยเข้าถึงได้ และมองถึงการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีเทคโนโลยีมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในยุคปัจจุบันของการศึกษาไทย ต่อไป ศธ.จะใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบริหารจัดการศึกษา และการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ โดยมีจุดหมายเพื่อการสร้างทุนมนุษย์พัฒนาประเทศ การพัฒนาการศึกษา จะต้องมี 5 C คือ Capability มุ่งพัฒนาเด็กตามความสามารถ และความชอบของเด็ก Contents หรือหลักสูตรต้องปรับเปลี่ยน ต้องสร้างหลักสูตรที่หลากหลาย โดยรัฐและเอกชนต้องร่วมกันทำ โดยหลักสูตรเหล่านี้ต้องส่งถึงเยาวชนไทยและประชาชนทั้งหมด Connectivity เราต้องนำเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อเข้ากับการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียน Classroom/Channel ต้องปรับเปลี่ยนห้องเรียน ให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ไม่จำกัดแค่ห้องเรียนเท่านั้น และ Culture วัฒนธรรมการเรียนต้องปรับเปลี่ยน คือต้องเปลี่ยนจากการเรียนการสอนที่ครูพบนักเรียน โดยนำเทคโนโลยีมาสร้างวัฒนธรรมการเรียนในรูปแบบใหม่

“ทุกเรื่องที่ทำให้การศึกษาติดขัด ผมจะปรับเปลี่ยนแน่นอน และ ศธ.จะใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนงานตามกรอบที่วางไว้ โดยใช้สื่ออิเล็กทอนิกส์ มาเป็นฐานข้อมูลในการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตลอดเวลา การพัฒนาการศึกษานั้น หากเราเห็นจุดบกพร่อง กล้าเอาปัญหามาวาง และกล้าลงมือแก้ไข ผมมั่นใจว่าการศึกษาไทย ใน 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาแน่นอน ซึ่งการแก้ไขและพัฒนาเรื่องต่างๆ อยู่ในมือเราทั้งสิ้น เราต้องกล้าที่จะลงมือทำ และ ศธ.มีความตั้งใจที่จะใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนพลิกประวัติศาสตร์ของการศึกษา ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้นั้นหมายถึงการลงทุนในอนาคต แต่การลงทุนนี้ต้องมีการวางแผน และต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาดรวมถึงสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ” นายณัฏฐพล กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image