แม่

12สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันแม่แห่งชาติ” เป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณของ “แม่” และปลุกจิตสำนึก ให้เราผู้ซึ่งเป็น “ลูก” ตระหนักรำลึกเคารพ กราบไหว้ บูชา ต่อบุพการี อยู่ชั่วนิรันดร์

คำว่า “แม่” เป็นคำที่ไพเราะที่สุด มีความหมาย นัยยะแฝงอยู่ นับแต่ความรัก ความอบอุ่น ความเอาใจใส่ ความปรารถนาดี “แม่” มีความเสียสละทุกอย่างไม่เห็นแก่ความสุขสบายของตน “แม่” เป็นคนพิเศษ เป็นผู้มีพระคุณสูงสุด และเป็น “คนเดียวในโลก” ที่หาไม่ได้อีกแล้ว เป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตเรา เป็นหญิงคนเดียว ที่รักเราอย่างแท้จริงไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่า “เรา” จะดีจะร้าย สุขหรือทุกข์ ท้อแท้ เครียด เหนื่อยหน่าย ตกระกำลำบากด้วยเรื่องเลวร้ายใดๆ ก็ตาม “แม่” ก็ยังคงเป็น “แม่” ของเราตลอดเวลา

“แม่” เป็นผู้คอยให้ กำลังใจเรา และยังคงเต็มใจที่จะช่วยเหลือเราทุกๆ อย่างทุกๆ เรื่อง อย่างสุดความสามารถ เพราะลูกคือแก้วตาดวงใจของ “แม่” ยามเราก้าวหน้า ประสบความสำเร็จในชีวิต แม่ก็พลอยยินดีชื่นชมกับความสุขของเราอย่างแท้จริงและจริงใจ ไม่เคยปรารถนาร้ายต่อเราแม้แต่น้อย “แม่” จึงเป็นพระคู่กับ “พ่อ” ที่อยู่ในบ้าน

“แม่” ไม่เคยทำอะไรเพื่อให้ลูกต้องตอบแทน

Advertisement

อย่างไรก็ตามชีวิตของคนทุกคนย่อมเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ที่หนีไม่พ้น เรื่องของการเจ็บป่วย เราไม่ต้องวิ่งดิ้นรนไปหาวัด สำนักสงฆ์ใดๆ เพื่อกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะพรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ในบ้านเรา ใกล้ตัวเราที่สุดแล้ว นั่นคือ “แม่พระ” ของเราในบ้าน คนที่เลี้ยงเรามาตั้งแต่ตั้งท้องจนคลอดออกมา นั่นแหละคือ “แม่” ความจริง “แม่เลี้ยง” สำคัญกว่าแม่เกิด เพราะคนบางคน “แม่” เกิดตายไปเสียแล้ว แล้วก็มีคนอื่นมาสมัครเป็นแม่ เขาไม่ได้เกิดเรา แต่เขาสมัครมาเลี้ยงเรา ให้ความอุปถัมภ์ค้ำชูแก่เราให้เราได้กินอยู่อย่างสะดวกสบาย มีความเสียสละทุกอย่าง เพื่อให้เด็กนั้นได้เจริญเติบโต ความจริงคนเป็นแม่เลี้ยงควรได้รับความเคารพบูชามากกว่าแม่ที่ไม่เลี้ยง

เสียอีกด้วยซ้ำไป

ความหวังของแม่ : ผู้หญิงเราเมื่อแต่งงานแล้วอยากเป็น “แม่” ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไม่มีโอกาสจะเป็นแม่ก็วิ่งเต้นขวนขวาย เขาบอกว่าหลวงพ่อที่ไหนศักดิ์สิทธิ์ หรือมีอะไรศักดิ์สิทธิ์ก็มักจะไปกราบไหว้ขอ “ลูก” เพื่อขอให้มีลูกกับเขาบ้าง อันนี้แสดงน้ำใจไมตรีของสตรี เมื่อแต่งงานแล้วก็อยากเป็น “แม่” ต่อไป ทำไมจึงอยากเป็นแม่ เพราะว่าเมื่อไม่มีลูกก็ไม่รู้จะทำอะไรให้ใคร “เด็ก” เป็นความหวังของครอบครัว เป็นอนาคตของวงศ์ตระกูล เพราะฉะนั้น ครอบครัวใดมี “บุตร ธิดา” ก็สบายใจ สบายใจว่า “ทรัพย์” ที่เราหามาได้จะไม่ไปไหน จะตกแก่ทายาทของเรา ให้ความสุขสบายแก่เรา เมื่อเราตายไป ลูกจะได้ทำศพให้แก่เรา อันนี้เป็นความปรารถนาของ “แม่” ทั่วๆ ไป

Advertisement

คุณธรรมของแม่ : คนที่เป็น “แม่” ทุกคน ไม่ว่าจะยาจก วณิพก ผู้ดี ไพร่ แม้คนเป็นเศรษฐี รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี มีคุณธรรมในใจหลายอย่าง เช่น เป็นผู้เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา พร้อมจึงเรียกคนที่เป็น “แม่” ว่าเป็น “พรหม” ของบุตร ธิดา ชื่อว่าเป็น “พรหม” ก็เพราะว่าท่านมีคุณธรรมของพรหม ไม่ใช่พระพรหม ที่ตั้งอยู่หน้าโรงแรม โรงงานต่างๆ ท่านมีคุณธรรม 4 ประการประจำใจ

ความชื่นใจของแม่จากลูก : เมื่อ “ลูก” มีความเจริญเติบโตทั้งกายใจ สติ ปัญญา อารมณ์ เข้าสังคมได้ดี มีความเติบโต มีหน้าที่ มีการมีงานทำเป็นหลักเป็นฐาน “แม่” นั่นแหละ เป็นผู้ที่มีความชื่นใจมากที่สุด มีความสบายใจมากที่สุดกว่าใครๆ เมื่อใดที่ลูกตกต่ำ ชีวิตไม่ก้าวหน้า มีปัญหา มีความทุกข์ ความเดือดร้อน ผู้ที่มาเป็น “ทุกข์” กับเราก่อนใครๆ ก็คือ “คุณแม่” ของเรานั้นเอง เพราะ “แม่” คือ “ผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุข” ของเรา เป็นมิตรแท้ผู้คอยให้ความช่วยเหลือเราตลอดเวลา ไม่มีคนใดจะมีน้ำใจเท่าแม่ เราลองทบทวนดู คิดดู “แม่” นั่นแหละ เป็นผู้ที่มีน้ำใจต่อเรามากที่สุด เป็นน้ำใสใจจริง 100% สมกับคำที่ท่านเรียกว่าเป็นพรหม ท่านมีพรหมวิหาร

ธรรมครบถ้วน

“แม่” คือเทวดาร่มโพธิ์ร่มไทรของลูก : เรียก “แม่” ว่า “เทวดา” เพราะท่านให้ความคุ้มครอง ปกป้อง ดูแล รักษา ตัวเรา บ้านเรือนใด มีการเคารพบูชามารดา บิดา บ้านเรือนนั้นก็มี “เทวดา” คุ้มครองรักษา บ้านเรือนนั้นให้เป็นปกติสุข บ้านเรือนใดไม่เคารพมารดาบิดา บ้านเรือนนั้นก็ไม่มีเทวดารักษาปกป้อง “เทวดา” ก็คือ ความงามความดีนั่นเอง ขอให้เราสังเกตดูในครอบครัวใด บุตรธิดามีความรัก ความเคารพต่อบิดามารดา ครอบครัวนั้นก็เป็น “ปึกแผ่น” มั่นคง แน่นหนา เพราะความเคารพมารดาบิดาเป็น “รากฐาน” ของศีลธรรม

เป็น “รากฐาน” ของชีวิต เป็นรากฐานของความเจริญก้าวหน้า เป็นรากฐานแห่งความมั่นคง มั่นคงในครอบครัว เมื่อครอบครัวมั่นคง ประเทศชาติก็มั่นคง มั่นคงเป็นธรรม

พ่อแม่ คือ “ครู” คนแรก คือ “หมอพยาบาล” คนแรกของเรา : มารดาบิดานั้นเป็นหมอ พยาบาล คนแรกของเรา ดูได้จากยามเราเจ็บไข้ ร้องไห้ ไม่ทราบสาเหตุท่านจะเป็นคนแรกที่คอยดูแล ปฐมพยาบาลเราเบื้องต้นด้วยสัญชาตญาณ เช่น ไข้สูง จะเอาผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเรา หรือร้องไห้ ท้องอืด ท่านก็จะเอามหาหิงค์มาป้ายหน้าท้องเรา เป็นต้น ท่านเป็น “ครู” คนแรก ด้วยวิญญาณ สัญชาตญาณ จะกล่อมเกลาเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน ให้ตั้งแต่หลังคลอด ตั้งแต่นั่ง ตั้งไข่ ยืน เดิน กิน ขับถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ สอนฝึกฝนให้ลูกเล็กๆ ให้ปฏิบัติตัวเองได้ ควบคุมตนเองได้ เมื่อเติบใหญ่ ท่านก็จะอบรมสั่งสอนเราเรื่องคุณธรรม จริยธรรม สั่งสอนให้เรามีมารยาท การกิน การเดิน การกราบไหว้ การประพฤติ ปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกาลเวลา สถานที่ บุคคล

หน้าที่ของ “พ่อแม่” : สมัยอดีตครอบครัวหนึ่งๆ จะมีบุตรธิดา 6-7 คน พอปัจจุบันมีเพียง 1-2 คน พ่อแม่เลี้ยงลูก จนเติบใหญ่ ส่งเสียให้เล่าเรียนจนมหาวิทยาลัย จนกระทั่งมีการงานทำ ซ้ำยังหาคู่ตบแต่งให้มี “ครอบครัว” มีเหย้ามีเรือน เป็นฝั่งเป็นฝา บางคนแม่คนเดียวยังเลี้ยงดูไม่ได้ก็มี แม่ท่านเลี้ยงลูกตามวิถีวัฒนธรรมไทยๆ เป็นครอบครัวที่อยู่ด้วยกัน รักใคร่กันดี เคารพบูชากันดี พี่เป็นพี่ น้องเป็นน้อง ความรักของแม่เป็นน้ำใจแท้ๆ ที่มีให้ลูก : ว่าด้วย “น้ำใจแท้ๆ ของแม่” แม้ว่าเราอายุมาก เป็นผู้ใหญ่แล้ว ท่านก็ยังสอนเตือน ด้วยความรัก ความห่วงใย ความมีเมตตากรุณาที่มีต่อลูกๆ เสมอๆ… ท่านเป็นแม่ที่ทำหน้าที่แม่ที่สมบูรณ์ บริบูรณ์ สอนเตือนเวลาท่านป่วยก็ไม่หนักอะไร ท่านก็จะสอนเราว่า อย่าประมาทอะไรต่างๆ อันนี้คือ “น้ำใจแท้ ที่แม่ มีต่อเรา” คนอื่นจะสอนสักกี่คนก็ตามใจเถอะ ก็ไม่ชื่นใจเท่ากับที่แม่สอนเราเป็นเรื่องที่ชื่นใจประทับในจิตใจเรา เราควรต้องปฏิบัติตาม เพราะคำสอนของแม่นั้นเหมือนกับคำประกาศิตทีเดียวที่เราต้องทำตาม บุตรธิดาคนใดก็ตามเมื่อได้รับคำสอนจากแม่ คำเตือนจากแม่แล้วปฏิบัติตาม นั่นแหละดี “ลูกที่ดี” ผู้ที่เคารพรักคุณแม่ แล้วการกระทำเช่นนั้นแหละจะทำให้เสริมรุ่งเรือง ทำให้เราก้าวหน้าในชีวิตการงานต่อไป

การตอบแทนพระคุณแม่ : ทั้งคุณแม่ คุณพ่อ เราเป็นลูกทุกคน ต้องมีจิตสำนึกเสมอว่า “นิมิตฺตํ สาธุรุปานํ กตญฺญู กตเวทิตา”: ผู้มีความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี เมื่อเรารักท่าน ควรจะทำอย่างไร ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ในโลก เราต้องเอาใจใส่ดูแลท่านตลอดเวลา ท่านเลี้ยงเรามาจนเติบใหญ่ เราต้องเลี้ยงดูท่านตอบ ช่วยทำกิจการงานให้แก่ท่านอย่างสม่ำเสมอ เสมอต้นเสมอปลาย “เจ็บไข้ ได้ป่วย” เป็นเรื่องที่คุณพ่อ คุณแม่ ทุกคนเมื่อยามชราแล้ว โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็มาเยือน เราก็ต้องช่วยดูแลพาท่านไปหาหมอ ตรวจรักษาให้ท่านมีความสุข ความสบายโดยเร็ว ท่านต้องการอะไร ก็รีบจัดให้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ถ้าหากท่านตายไปจากโลกนี้ ก็ไม่มีอะไรจะต้องทำให้ท่านแล้วเพราะหมดเวลา หมดโอกาส ทุกอย่างจบแล้ว อย่างดีนอกเสียจากจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน และประการสุดท้ายที่ต้องรักษาคือ ดำรงวงศ์ตระกูลของท่านไว้ อันนี้คือ “หน้าที่” ของเราที่จะต้องให้แก่ “คุณแม่” เป็นดอกไม้ที่เราควรจะเคารพบูชา ด้วยการปฏิบัติต่อท่าน

ในการเลี้ยงดูเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น : เราเลี้ยงดูท่านตามฐานะให้คุณแม่ คุณพ่อ ให้ท่านสบาย ให้สบายด้วยการกินการอยู่ การนุ่งการห่มอย่างนี้เรียกว่า “เลี้ยงกาย” เช่น สร้างที่ให้ท่านอยู่ มีห้องน้ำห้องส้วมให้ท่านได้อาบน้ำขับถ่ายสะดวกสบาย อาหารการกินเราต้องจัดให้ท่าน แล้วก็ต้องคอยสังเกตว่าท่านชอบอะไร อย่างไร ชอบจืด ชอบหวาน ชอบแกงชนิดใด ประเภทใด ท่านทานได้เราก็จัดให้ท่านทานอย่างนั้น อย่าขัดใจโต้แย้งท่าน เวลาท่านทานก็เอาใจใส่ดูแล คอยนั่งดูอย่างใกล้ชิด คอยพูดจาชวนคุยให้ท่านมีความสบายใจ ว่าเราดูแลเอาใจใส่ดูแลท่านจริงๆ ไม่ใช่ตักแกงไปวางทิ้งไว้ กินก็ช่างไม่กินก็ช่างหัว อย่างนั้นไม่เป็นสิ่งที่ดีเลย เราควรแนะนำเอาใจใส่ แนะนำว่าควรทานอย่างนั้น ควรทานอย่างนี้ ถามคุณแม่อร่อยไหม เอาอีกหน่อยนะ ตักข้าวเติมให้ท่าน อย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ดีเรียกว่าปฏิบัติวัตรฐากจริงๆ เมื่อตอนเราเป็นเด็กเล็ก ท่านปฏิบัติต่อเราอย่างไร พอเราโต ท่านแก่ลงเราก็ควรต้องปฏิบัติต่อท่านอย่างนั้นให้ท่านได้รับความสะดวกสบายด้วยความเต็มใจ จริงใจ เสมอต้นเสมอปลาย

เรื่อง “จิตใจ” เป็นเรื่องสำคัญจำไว้ว่า “คนแก่ ขี้น้อยใจ” เป็นเรื่องสำคัญ ต้องเลี้ยงใจท่านด้วย เลี้ยงใจคุณแม่ เลี้ยงใจคุณพ่อ ด้วยการประพฤติในสิ่งที่ท่านพอใจ ท่านสบายใจ เราต้องเรียนรู้นิสัย “คุณแม่” ท่านชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เช่น ท่านไม่ชอบใจ คนดื่มเหล้า คุณแม่ทุกคนส่วนใหญ่จะเกรงใจไม่กล้าพูด ไม่กล้าบอกลูก ท่านจะไม่แสดงอาการไม่ชอบ กลัวลูกจะรำคาญ คอยสังเกต แต่เราอย่าทำให้ท่านรำคาญใจ สังเกตดูว่าคุณแม่ไม่ชอบอะไร ท่านบ่นอะไรขึ้นมา เราก็ควรหยุดกระทำเช่นนั้นเสีย ทำอะไรสังเกตสังกาดูกิริยาท่าทางของคุณแม่ ถ้าเห็นว่าท่านไม่พึงพอใจแล้ว เราก็จะไม่ทำสิ่งนั้น “เป็นกตเวที” เพราะรักแม่มากกว่าสิ่งนั้น

ถ้าเราไปรักเหล้ามากกว่ารักแม่ รักการพนันมากกว่าแม่ ทำให้แม่ไม่สบายใจ ความไม่สบายใจของ “คุณแม่” ในเมื่อลูกไม่รู้จักตอบแทน…หนักใจมาก เป็นทุกข์หนัก บางทีทุกข์นั้นถึงกับตายไปเลยทีเดียว เป็นโรคจิต โรคประสาทใปเลยทีเดียวก็มี

ผู้เขียนขอฝากเรื่องการดูแลคุณแม่ คุณพ่อ ยามชรา ยามเจ็บป่วย ขอให้ “เรา” ตระหนัก 4 ประการเสมอว่า

1.ไม่ว่าเราจะโตแค่ไหน มีความรู้เยอะเพียงใด อายุก็ยังห่างกับพ่อแม่เท่าเดิม อย่าพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของท่าน แม้จะเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อโรคที่ท่านเป็นอยู่ก็ตาม เถียงกันไปแล้ว เราจะเหนื่อยทั้งกาย ใจ ให้เราค่อยๆ ทำไปอย่างเนียนๆ จนกว่าท่านจะยอมรับและปรับเอง, ดูแลพ่อแม่อย่างลูกพึงดู ไม่ใช่อย่างผู้รู้ นักวิชาการ หรือผู้ปกครอง อย่าลืมว่าพ่อแม่ต้องการความรัก ความอบอุ่น ความเคารพจากลูกมากกว่าอะไรทั้งหมด, ไม่มีใครอยากเป็นคนป่วย อยากช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หรืออยากเป็นคนแก่ที่สูญเสียความเคารพตัวเอง และศักดิ์ศรีของความเป็น “มนุษย์” ข้อนี้ “คนเป็นลูก” มักจะมองข้ามมากที่สุด ไม่ว่าท่านจะป่วยหรือแก่ขนาดไหนก็ตาม ขอร้องว่า “อย่าดุ” ว่าพ่อแม่เด็ดขาด เป็น “บาป” ท่านมีสิทธิเต็มที่ที่จะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพนอบน้อมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

2.อย่ายัดเยียดสิ่งที่เราเห็นว่าเหมาะที่สุดกับพ่อแม่ โดยท่านไม่เต็มใจ ถึงแม้มันจะเป็นสิ่งที่ดีเลอเลิศเหลือเกินในสายตาเราหรือชาวโลกก็ตาม อย่าบ่นว่า…หาคนมาดูแลก็ไม่เอา ซื้อเตียงใหม่ก็ไม่ชอบ ทำห้องนอนใหม่ก็ไม่ยอมอยู่ หมอที่เก่งกว่าตั้งเยอะก็ไม่ยอมเปลี่ยน ขอให้ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เมื่อความไว้เนื้อเชื่อใจเกิดขึ้นแล้ว ผู้ใหญ่จะรับความหวังดีจากเราด้วยความเต็มใจ, การเปลี่ยนแปลงบทบาทจาก “ผู้ถูกดูแล” มาเป็น “ผู้ดูแล” ทั้งทางกาย และใจ ทางทุนทรัพย์ เป็นการเปลี่ยนแปลง ที่อาศัย เวลาและความเข้มแข็งมหาศาล อย่าโทษตัวเอง ถ้าพบว่ามันไม่ง่าย หรือท้อแท้ ขอให้คิดถึงหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของ “พ่อแม่” แล้วจะพบว่า… “หัวใจของลูก” ที่พร้อมจะทำทุกอย่าง เพื่อตอบแทนท่าน ไม่ได้ยิ่งใหญ่น้อยไปกว่ากันเลย,

ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องรู้เวลากิน นอน ขับถ่าย วัดความดัน บริการอาหารและยา และการตอบสนองทั้งหมดต่อสิ่งเหล่านั้น รวมทั้งเบอร์โรงพยาบาลและรถพยาบาลฉุกเฉิน เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ข้อมูลยิ่งพร้อม การรักษาพยาบาลยิ่งเป็นผลดี, เป็นคนพาพ่อแม่ไปหาหมอทุกครั้ง แรกๆ อาจจะได้รับการปฏิเสธไม่ให้ไปด้วย ให้พยายามแทรกซึม จนท่านชินที่มี “เรา” เข้าไปอำนวยความสะดวก ที่สุดแล้วท่านจะรู้สึกขึ้นกับความสบายนี้ และเปิดใจให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการ “รักษา”, หากจะจ้างคนดูแล เราต้องแน่ใจที่สุดว่า เรามีเวลาในการดูแล การทำงานของเขาอย่างใกล้ชิด คนดูแลไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าเรา และไม่ได้มีใจรักพ่อแม่ อย่างที่เรามีแน่นอน ขอให้ “ลูก” นึกเสมอท่านดูแลเรามาตั้งแต่แบเบาะ เราต้องดูแลท่านได้เมื่อท่าน “ชรา” หรือเป็น “ผู้ป่วย”…

3.จัดหาทุกอย่างที่พ่อแม่เคยชอบ เคยใช้อยู่ แม้จะไม่ค่อยได้ใช้แล้วก็ตาม เช่นเสื้อผ้าที่นานๆ จะเอาออกมาใส่สักครั้ง นอกจากท่านจะรู้สึกว่าเราเอาใจใส่แล้ว ยังจะรู้สึกว่า “ตัวเองมีคุณค่า” ไม่มีอะไรเสื่อมถอยด้อยค่า ใช้ของดีๆ สวยๆ ไม่ได้แล้ว คุณค่าทางใจแบบนี้ ประมาณค่าไม่ได้เลย แบ่งหน้าที่กันกับพี่น้องหรือคนในครอบครัวให้ชัดเจน จะช่วยลดภาระทางกาย ทางใจลงได้มาก อย่างน้อยที่สุด ก็ลดความตึงเครียดในครอบครัว รวมทั้งการดูแลซ้ำซ้อน เช่น การให้ยาซ้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตราย คุยทิศทางการดูแล การรักษา กับคนในครอบครัวให้ชัดเจน ก่อนคุยกับคุณหมอ เมื่อหมอเสนอวิธีการรักษาอะไร อย่ากลัวที่จะถามหมอ หรือขอเวลาหมอไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ความคิดเห็นลำดับที่สอง ลำดับที่สามสำคัญเสมอ อย่าหลับหูหลับตาเชื่ออะไรที่ไม่เข้าใจ และก่อนตัดสินใจอะไรที่สำคัญทุกครั้ง อย่าลืมหาข้อมูลของแต่ละทิศทาง และผลข้างเคียงประกอบการตัดสินใจด้วย

4.ถ้าคนในครอบครัวไม่รู้เรื่อง ญาติที่ไกลออกไปหน่อย ที่มีความเป็นกลาง จะช่วยไกล่เกลี่ยได้ดีมาก จำไว้เสมอว่าเราอาจจะเป็นคนที่คิดผิดเองก็ได้ เพราะทิฐิมานะ ไม่เคยช่วยอะไรให้ดีขึ้น, หากเกินอะไรผิดพลาด อย่ามัวแต่โทษตัวเอง หรือปิดบังความจริงให้รีบแจ้งหมอ แจ้งครอบครัวของเรา และช่วยกันแก้ไขปัญหา ทุกข้อมูลสำคัญกับการรักษาทั้งสิ้น ทุกปัญหามีทางแก้ไข

“12 สิงหาวันแม่แห่งชาติ” ผู้เขียนเอง ขอให้ผู้เป็น “ลูก” ทุกคน ได้สำนึกในหน้าที่ เรามี “แม่” ด้วยกันทั้งนั้น มีจิตสัมพันธ์เกี่ยวกับ “แม่” ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ไป “กราบเท้าแม่” แล้วก็ปฏิบัติต่อท่านให้อยู่เย็นเป็นสุขตามสมควรแก่ฐานะ อย่าละเลยหน้าที่ ให้นึกเสมอว่า “แม่” เลี้ยงเรามาเหนื่อยกว่าเราเลี้ยงแม่เป็นไหนๆ เราควรปฏิบัติหน้าที่ให้เรียบร้อย ท่านจะได้มีชีวิตเป็นสุข สงบ ร่มเย็น แล้วอยากจะกล่าวคำสุดท้ายว่า คุณแม่ ครับ ผมเคารพรักคุณแม่มากที่สุดในโลก และจะเป็น “ลูกที่ดี” ของคุณแม่ ตลอดไปนะครับ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image