บ้าน ห้องเรียน ทวิตเตอร์ และเพลงปลุกใจ กว่าจะถึงวัน ‘นักเรียนเลว’

บ้าน ห้องเรียน ทวิตเตอร์ และเพลงปลุกใจ กว่าจะถึงวัน ‘นักเรียนเลว’

“เมื่อเรียกร้องเรื่องการศึกษาแล้วไดโนเสาร์ไม่รับฟัง เจอกันราชประสงค์ นักเรียนจะพูดทุกเรื่อง ทุกเรื่องที่ไดโนเสาร์ไม่อยากฟัง !” เป็นถ้อยคำเชิญชวนของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “นักเรียนเลว” ซึ่งนัดหมายชุมนุมใหญ่แบบเบิ้มๆ ในวันนี้ เสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน หลัง “เสิร์ฟน้ำจิ้ม” ไปแล้วถ้วยใหญ่ เมื่อ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเดินเท้าเสิร์ฟตั้งแต่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ สับขารัวไม่มีอ่อนแรงไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสมทบ “ราษฎร” ที่งาน “ม็อบเฟสต์”

ปราศรัยเดือด ร่ายยาวพยากรณ์ชีวิตในวันข้างหน้าเมื่อระบบการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์ของพรุ่งนี้ ส่วนไฮด์ปาร์กในวันนี้จะเดือดเพียงใดโดยเฉพาะเมื่อ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เจ้ากระทรวงที่ขบวนนักเรียนเพิ่งแบกโลงจำลองวางดอกไม้จันทน์ฟาดฟันเชิงสัญลักษณ์ คือหนึ่งในผู้ “ไม่รับ” ทั้ง 7 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึง “ฉบับประชาชน” ที่เยาวชนออกโรงหนุน แม้จำนวนมากยังลงชื่อไม่ได้ด้วยซ้ำไป

วิบากกรรมนักเรียนไทย กว่าจะมาถึงวันนี้ เคยมีการต่อสู้มาอย่างยาวนาน ถึงขนาดที่ พลากร จิรโสภณ อดีตประธานศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ปี 2516 ยังบอกว่า “#ให้มันจบที่รุ่นเรา ถูกใจผมมาก เพราะสู้มา 50 ปี ยังเหมือนเดิม”

ก่อนฟัง “ทุกเรื่องที่ไดโนเสาร์ไม่อยากฟัง” ดังปรากฏในโปสเตอร์ของนักเรียนเลวเย็นนี้ มีประเด็นน่าสนใจที่เกี่ยวเนื่องอย่างแยกจากกันไม่ได้ อย่างประชาธิปไตย การเมืองเรื่องระบบความคิดทางการศึกษา จนถึงเทคโนโลยีที่มีส่วนร่วมสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการแสดงความคิดความเห็นในประเด็นการเมืองที่ในการปราศรัยไม่เพียงของกลุ่มนักเรียนเลว แต่รวมถึงทุกแฟลชม็อบตามมหาวิทยาลัย คิวรถตู้ และหน้าห้างสรรพสินค้า ต่างมีเยาวชนลุกขึ้นมาเอ่ยประโยคที่ว่า “การเมืองคือเรื่องของทุกคน”

Advertisement

เด็กไม่ใช่ ‘สมบัติ’ ของพ่อแม่ แต่เป็น ‘มนุษย์คนหนึ่ง’

ช่วงหนึ่งของเสวนาหัวข้อ “นิเวศ (Ecology) การเรียนรู้ความเป็นพลเมือง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน “พลเมืองประชาธิปไตยและพลังขับเคลื่อนสังคมของเยาวชน (Democratic Citizens and Civic Engagement of the Youth)” ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันเดียวกับม็อบเฟสต์อันเข้มข้นบนถนนราชดำเนิน

ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แชร์ความรู้สึกในนามความเป็น “แม่” ที่มีลูกเป็นวัยรุ่น โดยย้อนเล่าถึงเมื่อครั้งยังเรียนชั้นประถมศึกษาว่า ลูกเคยเขียนบทความวันแม่ บอกว่า “แม่เป็นเผด็จการ” เมื่อทราบก็ตกใจ จึงถามลูกว่า แม่เป็นเผด็จการอย่างไร เพราะมีอะไร แม่ก็ถามหนูไม่ใช่หรือ ลูกบอกว่าแม่ถาม แต่แม่ก็มีคำตอบสุดท้ายในใจตลอดเวลา

Advertisement

“อย่างน้อยก็ภูมิใจว่า เขารู้ว่าอะไรคือประชาธิปไตย อะไรคือเผด็จการ” ดร.วัชรฤทัยกล่าว ก่อนบอกว่า เรื่องนี้สะท้อนตัวเองว่าแม้ในความเป็นนักวิชาการ เป็นคนผลักดันประเด็นเหล่านี้ แต่ในชีวิตจริง มิติในความเป็นพ่อ แม่ และครอบครัว มันง่ายมากที่จะ “สั่งการ” บอกลูกว่าจะทำอะไร

“เราในฐานะพ่อแม่ อาจไม่ได้ตระหนักว่าบทบาทพ่อแม่ สำคัญ และมีอิทธิพลแค่ไหนในการสร้างคนคนหนึ่ง จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม พ่อแม่คือคนที่เด็กใกล้ชิดที่สุด พ่อแม่อาจคิดแค่ว่าเลี้ยงลูกให้โต แข็งแรง ต่อไปเลี้ยงดูพ่อแม่ อาจไม่ได้คิดว่า เขาจะมาเป็นพลเมือง

ดร.วัชรฤทัย ย้ำว่าวิธีคิด ความเชื่อ สิ่งที่เราทำหรือไม่ทำ เด็กมองเราอยู่ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ แต่ส่งผลอย่างแน่นอน

“ถ้าพ่อแม่จะสร้างพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย พ่อแม่ต้องเรียนรู้ตัวเองว่าเลี้ยงลูกอย่างไร ต้องมีความเข้าใจบางอย่าง อาจเปลี่ยนจากยุคเดิมที่มองว่าตัวเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ต้องสร้างความเข้าใจใหม่ว่า เด็กเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิ มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่มองว่า เด็กเป็นสมบัติของพ่อแม่ แม้ยังไม่มีประสบการณ์มากนัก เป็นไปตามวัย แต่มีความสามารถที่จะมีความคิดของตัวเอง ถ้าพ่อแม่มองมุมใหม่ จะเห็นลูกอีกแบบ ไม่ใช่ฝังชิพ นี่คือวิธีคิดใหม่ซึ่งผู้ใหญ่หลายคนไม่คุ้นเคย เพราะไม่เคยมองเด็กในมิติแบบนี้มาก่อน

นอกจากนี้ พ่อแม่ต้องเรียนรู้คุณค่าประชาธิปไตยว่าคืออะไร ตัวเองเวลาพูดกับลูก เราก็มองเรื่องความแตกต่างหลากหลาย เสมอภาค เป็นธรรม รับผิดชอบ พ่อแม่ต้องเรียนรู้ว่าคุณค่าแต่ละชุด มีความหมายอย่างไร พ่อแม่ต้องแสวงหาการเรียนรู้เหมือนกัน

พ่อแม่ต้องเชื่อว่าการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย จะนำมาซึ่งพัฒนาการที่ดีของลูกเอง ขยายความก็คือ การรับฟัง การเปิดกว้าง มีพื้นที่ถกเถียงพูดคุย มีส่วนร่วมตัดสินใจชีวิต เสียงของเขาได้รับการรับฟัง

ด้านทัศนคติ ต้องไม่มองว่าการเลี้ยงลูกคือภาระ หรือเป็นทรัพยากรอันมีค่าของเรา คือการลงทุนเพื่อให้ต่อไปมาเลี้ยงดูเรา แต่ต้องมองเป็น moral commitment” ดร.วัชรฤทัยฝากไว้ให้คิด

เมื่อครูก้าวไม่ข้าม สมัยก่อนสอนแบบนี้ ศิษย์ก็ได้ดี ‘เป็นเจ้าคนนายคน’

จากรั้วบ้าน ขยับมาสู่ประตูโรงเรียน ฮัมดาน อ่อนหวาน จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 ถอดประสบการณ์มาเล่าบนเวทีสนทนาว่า

การสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยในห้องเรียน เกี่ยวข้องตั้งแต่หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการวัดผล ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้มีความยึดโยงกัน

“โรงเรียนเอง บางคำถามอาจเป็นคำถามต้องห้าม บางอย่างไม่เอื้อ เช่น ห้องเรียน ถามแล้วอาจเกิดแรงต้านจากเพื่อนอีกกลุ่ม มีปัจจัยผลักให้ไม่กล้าตั้งคำถามกับหลักสูตร ว่าเรียนแล้วตอบโจทย์ไหม ตอนนี้หลักสูตรหลายตัวก็เพิ่มจินตนาการความคิด แต่มักสนับสนุนในแนวคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เช่น 6+3 คือ 9 และ 7+2 ก็คือ 9 เด็กคิดแบบนี้ ได้รับความชื่นชม แต่ถ้าแนวประชาธิปไตยจะถูกมองว่าไม่เชื่อฟังครู ไม่ทำตามคำสั่งครู คิดต่างจากคนส่วนใหญ่”

และแน่นอนว่าอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญมาก คือ ครู ฮัมดาน ซึ่งก็เป็นอดีตครู บอกว่า ในการเรียนการสอน มีกลุ่มครูที่สามารถก้าวผ่านหลักสูตรที่เปลี่ยนไป กับครูที่ก้าวไม่ข้าม ยึดติดแบบเดิม มักมีคำถามว่า สมัยก่อนสอนแบบนี้เด็กก็ได้ดี เกิดการเปรียบเทียบ และนำมาอ้างเพื่อจะทำแบบเดิม ฉายภาพซ้ำ ทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กโตขึ้นเป็น “เจ้าคนนายคน” ครูหลายคนเน้นให้นั่งเงียบ ตั้งใจจด นอกจากนี้ กระบวนการวัดผล และ “เกรดเฉลี่ย” ก็ส่งผลไม่แพ้กัน

“กระบวนการวัดผลก็ทำให้เด็กมีขอบเขตทางความคิดเฉพาะสิ่งที่ครูจะวัดผล ข้อสอบเชิงถามความเห็นมีน้อยมาก เกรดเฉลี่ย เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ถ้าส่งต่อเด็กโดยไม่ยึดติดตรงนี้ เด็กจะสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่เขารักได้”

ไม่เพียงเท่านั้น “แบบเรียน” ก็ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม เพราะทุกวันนี้ยังมีการให้แนวทางที่ว่า เด็กผู้หญิงต้องเป็นแบบนั้น เด็กผู้ชายต้องเป็นแบบนี้

“เด็กผู้หญิงควรล้างจาน ซักผ้า เด็กผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ชุดความคิดนี้ในแบบเรียนเป็นปัญหา ต้องคุยกับหน่วยงานที่ออกแบบแบบเรียน นโยบายเรียนฟรี 15 ปี โรงเรียนต้องเอาเงินมาจัดสรร เป็นเสื้อผ้า แบบเรียน ซึ่งมีกำหนดว่าสำนักพิมพ์ไหนซื้อได้ หรือไม่ได้ ระเบียบไม่เปิดให้ครูทำ”

เครือข่าย ‘ยินดีที่ (ไม่) รู้จัก’ แต่รักประชาธิปไตยเหมือนกัน

มาถึงประเด็นการสื่อสารในโลกออนไลน์ที่ส่งผลมากมายจนเป็นปรากฏการณ์

วิรดา แซ่ลิ่ม นักศึกษาปริญญาโทด้านสื่อและการเมือง ม.อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เลคเชอร์ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของตัวเอง ซึ่งได้ทำการศึกษาปรากฏการณ์ทางทวิตเตอร์ โดยเฉพาะการเลือกตั้งในปี 2562 จนถึงช่วงก่อนโควิด

“การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีส่งผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง ขบวนการประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ ชุมชนออนไลน์ สำคัญมากในการสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ ห่วงใยความเป็นไปของบ้านเมืองโดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 57”

วิรดา ยกแนวคิดของนักวิชาการชื่อดังในสหรัฐอเมริกาที่บอกว่า คนรู้สึก “ไร้พลัง” รัฐไม่ฟังเราเลย ในโลกออฟไลน์ เสียงไม่มีความหมาย คนจึงล่าถอยสู่โลกออนไลน์ ซึ่งชัดเจนมากในไทย

“จะไปอ่าน 1984 หน้าสยามพารากอนก็ไม่ได้ ไปรณรงค์เลือกตั้งก็ผิดกฎหมาย ในครอบครัวก็แชร์บางอย่างไม่ได้ การล่าถอยสู่โลกออนไลน์เป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจในยุคดิจิตอล ที่คนรู้สึกไร้พลังในโลกออฟไลน์ เราจึงกลายเป็นคนที่พยายามติดตามและตรวจสอบ”

อีกประเด็นน่าสนใจที่ถูกกล่าวถึงอีกครั้งในหลายๆครั้งบนเวทีเสวนาวิเคราะห์สังคมในช่วงหลังเกิดแฟลชม็อบตั้งแต่ต้นปี 2563 คือทำไมต้องเป็นทวิตเตอร์

“มันอนุญาตให้เราเชื่อมต่อกับคนอื่นในสังคมในเวลาที่ร่างกายเรารู้สึกปลอดภัย ออนไลน์ให้อำนาจในการปกครองความเป็นตัวเอง สำหรับเฟซบุ๊กคนรุ่นใหม่รู้ว่า ใช้ชื่อนามสกุลจริง มีเพื่อนร่วมกันเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ ต่างจากทวิตเตอร์ ที่ทำให้เจอคนที่คิดเหมือนกันที่หาได้ยากในโลกออฟไลน์ซึ่งถูกจำกัดเสรีภาพ เลยรู้สึกมีอำนาจมากกว่า”

วิรดา เล่าด้วยว่า มีนักวิชาการทำการศึกษาพบว่า คนรุ่นใหม่ “คุยการเมืองเป็นเรื่องปกติ” มีการแชร์ข้อมูลที่สื่อกระแสหลักไม่รายงาน สร้างมีมล้อเลียน ทั้งหมดนี้ ท้าทายสถาบันการเมืองเดิมๆ และการผูกขาดข่าวสาร นอกจากนี้ ในโลกออนไลน์ เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนดัง แต่หากเผยแพร่สิ่งที่คนรู้สึก “ถูกใจ” ก็ได้รับการ “รีทวิต” ต่อได้อย่างมากมาย

“คนรุ่นใหม่เรียนรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านทวิตเตอร์ ใช้แฮชแท็ก มีแคมเปญออนไลน์ วันอังคาร ติดแฮชแท็ก เรื่องวันเฉลิม วันพฤหัส ติดแฮชแท็กสร้างความตระหนักรู้เรื่องชายแดนใต้”

ไม่เพียงชาว “ทวีตภพ” ในแดนไทย หากแต่พบความพยายามการสร้างพันธมิตรข้ามพรมแดนผ่านโลกออนไลน์

“นี่คือเครือข่ายของเพื่อนที่ไม่รู้จัก แต่รักประชาธิปไตยเหมือนกัน เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ ไม่เรียกร้องการเป็นสมาชิกทางการ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป ไม่ต้องมีผู้นำชัดเจนก็บรรลุจุดประสงค์ทางการเมือง สังคมบางอย่างได้ การหลอมรวมทางเทคโนโลยี ในมือถือเครื่องเดียว ส่งผลต่อการรับรู้มิติต่างๆ ของคนรุ่นใหม่”

เด็กเอ๋ยเด็กดีต้องมี ‘สิทธิ’ กี่อย่างด้วยกัน?

ปิดท้ายที่มุมมองของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ดาวสภาที่ปราศรัยปมปัญหาการศึกษาไทยได้อย่างเผ็ดร้อน ตรงไปตรงมา ขยี้ยับ “ความบ้ากฎระเบียบ” ไม่เพียงในห้องเรียน แต่สะท้อนภาพรวมของสังคมไทย

“ถ้าผมถามคำถามหนึ่ง ว่าใครชอบทุเรียน และใครไม่ชอบทุเรียน ผมรู้สึกว่า คนไม่ชอบโง่มาก เพราะเป็นราชาผลไม้ คนจีนยังชอบ คนไม่กิน ไม่รักชาติ คนไม่ชอบทุกเรียนจะน้อยลง” กล่าวอย่างขึงขัง ตามมาด้วยเสียงหัวเราะของผู้ฟังที่ชวนให้นึกถึงบางวาทกรรมขึ้นมาทันที

ส.ส.ก้าวไกลท่านนี้ ยังยกตัวอย่างเพลง “เด็กเอ๋ยเด็กดี” ที่ใช้สั่งสอนเด็กเป็นข้อๆ รวม 10 ข้อ เพลงเดียวกับที่ถูกแปลงเป็น “ผู้ใหญ่ดี” เปิดกระหึ่มม็อบ “นักเรียนเลว”

วิโรจน์ ตั้งคำถามแทนเด็กว่า เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน หนึ่งนับถือศาสนา แต่หากเด็กไม่พร้อมนับถือศาสนาใด นับเป็นคนชั่วหรืออย่างไร สำหรับข้อสาม ที่ให้เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์ แต่ถ้าอาจารย์ผิด ต้องเชื่อหรือ ส่วนข้อสี่ วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน แต่ถ้าอยากพูดตรงไปตรงมา ถามว่าทำได้หรือไม่

สิ่งที่ตั้งคำถามกลับไปคือ ประเทศนี้เคยพูดว่า เด็กเอ๋ยเด็กดี มี สิทธิ กี่อย่างด้วยกัน บ้างหรือไม่?

ส่วนประเด็นเรื่อง “พลเมือง” ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และไต้หวัน มองไปถึง “พลโลก” กันแล้ว ไม่ใช่แค่พลเมือง และต้องสร้างศักยภาพให้เด็กวิ่งตามความฝันของเขา ไม่ใช่ความฝันนายทุน

“สิ่งที่ต้องทำร่วมกันคือ พูดเรื่องสิทธิของผู้เรียนให้มากขึ้น ไม่อย่างนั้นแก้ปัญหาไม่ได้

“เราควรเพิ่มสิทธิของผู้เรียนให้มากกว่านี้ ไม่อย่างนั้นความพลเมืองใต้ระบอบประชาธิปไตย เกิดยากมาก”

สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image