เหยี่ยวถลาลม : สัญญาณ

เหยี่ยวถลาลม : สัญญาณ

นับจากการล่มสลายของคณะราษฎรในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2490 จนถึง พ.ศ.2563 รวมเวลาได้ 73 ปี
การปกครองของไทยอวดอ้างว่าอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่ “เวลา” ถูก “กองทัพบก” ยึดครองเสียเป็นส่วนใหญ่

รัฐบาลทหารหรือกึ่งทหารยึดกุม “อำนาจบริหาร” ตั้งแต่ 2490-2516 รวม 26 ปี

สลับให้พลเรือนลิ้มรสอำนาจแค่ 3 ปีก็ก่อเหตุสังหารหมู่ “6 ตุลา 2519”

Advertisement

ประชาธิปไตยสลบยาวจนถึงปี 2531 กินเวลาไปอีก 12 ปี

ระหว่างปี พ.ศ.2531-2534 แค่ 3 ปีเท่านั้นที่ “นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง”ได้ขึ้นมาเล่นสลับหน้ากันหลายคน

พอถึงเดือนกุมภาพันธุ์ 2534 “รสช.” ก็ก่อรัฐประหาร การเมืองทุลักทุเล ผู้นำเกรงสูญเสียอำนาจ แต่ไม่กลัวการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของพี่น้องลูกหลาน จึงก่อเหตุ “พฤษภาทมิฬ’35”

Advertisement

ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ ล้มตาย สูญหาย ประเทศบอบช้ำ กองทัพเสียหายหนัก ทหารก้มหน้า กลับเข้ากรมกอง เก็บตัว จนถึง กันยายน 2549 เป็นเวลา 14 ปีก็มี “รัฐประหาร” อีก

ปี 2551-2557 ก็แค่ 6 ปีเท่านั้น ที่รัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศ

22 พ.ค.2557 ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า “คสช.” ก่อรัฐประหาร

ห้วง 73 ปีนี้ การบริหารประเทศตกอยู่ในมือรัฐบาลทหารและกึ่งทหารทั้งสิ้นราว 50 ปี

รัฐบาลพลเรือนได้ทำงานราว 23 ปี

เช่นนี้จะให้เรียกว่า ระบอบอะไร

วันนี้ ท่ามกลางบรรยากาศการชุมนุมอย่างสันติวิธี มีแนวโน้มว่าจะขยายวงลุกลามออกไปกว้างขวางทั่วประเทศ รัฐบาลที่มีผู้นำจาก “อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร” ไม่ได้กลัวการสูญเสีย การบาดเจ็บล้มตายเท่ากับเกรงสูญเสียอำนาจ

คนมีอาวุธ มีกำลังและนิยมความรุนแรงพร้อมจะทำศึกกับผู้ต่อต้านเสมอ

คนประเภทนี้จะไม่สนใจ “บทเรียน”

14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519, พฤษภา’35, พฤษภา’53, ในแง่มุม “คนมีอาวุธ” แล้วมันคือภัยคุกคาม เป็นศัตรูที่จะต้องทำลาย

การบาดเจ็บ ล้มตาย ความสูญเสียของฝ่ายตรงข้ามคือวีรกรรม!

น่าสังเกตว่า เริ่มจุดประกายการประกาศกฎอัยการศึก การเตรียมเช็กบิลย้อนหลังแกนนำผู้ชุมนุมด้วยคดีอาญาตาม “มาตรา 112” การจับกุม “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ หัวหน้าการ์ดกลุ่มราษฎร การปล่อยข่าวรัฐประหาร การโหมกระพือบิดเบือนว่า “การปฏิรูปเท่ากับล้มล้าง” ตลอดจนการจัดตั้งมวลชนออกไล่ล่าคุกคาม “ธนาธร -ปิยบุตร”

คล้ายจะเป็น “สัญญาณ”

ลิดรอนกิ่งก้านใบ ก่อนจะถอนรากถอนโคน-ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ซ้ำแล้วซ้ำอีก!?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image