กรมเจรจาฯกระตุ้นเกษตรอินทรีย์ ชัยภูมิ ต่อยอดส่งออกตลาดโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 – 29 พฤศจิกายน กรมลงพื้นที่พบปะเกษตรกรในพื้นที่อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ดินแดนหุบเขาเกษตรอินทรีย์ สำรวจศักยภาพสินค้าเกษตรในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพิ่มแต้มต่อให้กับสินค้าเกษตรของไทยในตลาดคู่ค้าสำคัญให้กับสหกรณ์ เกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่สร้างเครือข่ายผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยสู่ตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ที่ได้มีการลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกส่วนใหญ่จากไทยแล้ว ถือว่าเป็นโอกาสที่เกษตรกรในอำเภอหนองบัวแดง จะพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ

นางอรมน กล่าวว่า กรมมีโอกาสหารือกับประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อและเครือข่ายโคขุนเพื่อการส่งออกจังหวัดชัยภูมิ และประธานกลุ่มผู้ผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก ในวงเสวนาเรื่องการพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าสหกรณ์ไทยสู่การค้าเสรี เพื่อหาแนวทางพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรของสหกรณ์ เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมพบกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ อาทิ ผ้าย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง ทอลวดลายแบบโบราณ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นลงบนผืนผ้า คือ ลายไข่มดแดงและลายนาค ซึ่งได้รับความนิยมมากทั้งในและต่างประเทศ

ซึ่งการผลิตผ้าของกลุ่มผ่านการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand และกำลังเติบโตก้าวไปสู่การเป็นเกษตรอินทรีย์สากล มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ (IFOAM) มีสมาชิก 180 คน สร้างรายได้ 3.6 ล้านบาทต่อปีกล้วยหอมทอง (ส่งออกไปญี่ปุ่น) และอื่นๆ โคขุนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อและเครือข่ายโคขุนเพื่อการส่งออกจังหวัดชัยภูมิ มีสมาชิก 3,000 ครัวเรือน มีโคขุน 6,000 ตัว รายได้ 200 ล้านบาทต่อปี กล้วยหอมทองของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก ซึ่งมีสมาชิก 74 ครัวเรือน มีรายได้ 2.4 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่พบหารือกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านโหล่น ผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออกไปประเทศเกาหลีใต้ จีน และเวียดนาม มีสมาชิก 150 ราย มีรายได้ 63 ล้านบาทต่อปี จึงแนะนำให้ใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีที่ไทยมี เพื่อสร้างความได้เปรียบให้แก่สินค้าไทยในตลาดโลก

Advertisement

นางอรมน กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศช่วง 10 เดือนปี 2563 พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตร (กสิกรรม ประมง และปศุสัตว์ ไม่รวมอุตสาหกรรมการเกษตร) ของไทยไปประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) มีมูลค่ากว่า 12,288.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 70.5% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปโลก โดยขยายตัว 0.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงมีโอกาสสูงที่การส่งออกสินค้าเกษตรไทยจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีความพร้อมในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจของตลาดส่งออกสำคัญเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศ อาทิ กล้วยหอม

ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออก อันดับ 2 ของอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ ในช่วง 10 เดือนของปี 2563 ไทยส่งออกกล้วยหอมสดสู่ตลาดโลก 2,800 ตัน มูลค่ากว่า 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดสำคัญ คือ ญี่ปุ่น จีน และกัมพูชา ปัจจุบัน 15 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้ากล้วยหอมจากไทยแล้ว เหลือเพียงอินเดียและเกาหลีใต้ที่ยังเก็บภาษีนำเข้า 30% และญี่ปุน มีโควต้าภาษีนำเข้าไม่เกิน 8,000 ตัน ไม่เสียภาษีนำเข้า

นอกจากนี้ ไทยครองตำแหน่งผู้ส่งออกมะม่วง อันดับ 1 ของอาเซียน ช่วง 10 เดือนของปี 2563 ไทยส่งออกมะม่วงสู่ตลาดโลกถึง 8.5 หมื่นตัน มูลค่ากว่า 83 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15% ช่วงเดียวกันของปี 2562 ตลาดส่งออกสำคัญ คือ มาเลเซีย เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น ปัจจุบัน 15 ประเทศคู่เอฟทีเอ เช่น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เวียดนาม มาเลเซีย ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว เหลือเกาหลีใต้ที่ยังเก็บภาษีนำเข้า 24%

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image