เปิดมุมมอง ‘2 นักวิชาการ’ สะท้อนปัญหา ‘ผลิต-พัฒนาครู’

เปิดมุมมอง ‘2 นักวิชาการ’ สะท้อนปัญหา ‘ผลิต-พัฒนาครู’

ทุกครั้งที่มีการ “ปฏิรูปการศึกษา” สิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่ต้องปรับเรื่องแรกๆ คือ การผลิต และพัฒนาครู ซึ่งที่ผ่านมา มีปัญหามากมาย ทั้งการผลิตครูเกินกว่าความต้องการ โดยบางสาขาผลิตมากเกินไป ขณะที่บางสาขาผลิตน้อย จนเกิดปัญหาขาดแคลน อีกเรื่องสำคัญที่พูดถึงกันมากคือ คุณภาพของบัณฑิตที่จบออกมา เพราะครูคือหัวใจสำคัญของการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ

ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสถาบันฝ่ายผลิต ต่างระดมสมอง เพื่อยกเครื่องการผลิต และพัฒนาครู รวมถึง สร้างแรงจูงใจให้คนเก่ง และดี มาเรียนครูเพิ่มขึ้น

นายสมบัติ นพรัก คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา และประธานที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ส.ท.) มองว่า ขณะนี้การผลิตครูมีปัญหาทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ โดยในเชิงปริมาณ มีปัญหาในเรื่องการผลิตครูเกินมานานกว่า 10 ปี สถาบันผลิตครูกว่า 100 แห่ง ผลิตบัณฑิตออกมาปีละ 5 หมื่นคน ขณะที่ความต้องการครูมีเพียงปีละ 1 หมื่นคน เท่ากับว่าผลิตเกินกว่า 4 หมื่นคน หรือคิดเป็น 80% ของจำนวนการผลิตทั้งหมด ขณะที่การสอบคัดเลือกครู แต่ละปีมีผู้สมัครมากถึงปีละกว่า 1 แสนคน เพราะมีบัณฑิตที่สอบไม่ผ่านปีก่อนๆ มาสมัครสอบร่วมด้วย

ประธาน ส.ค.ส.ท.ยังมองอีกว่า ดังนั้น คิดว่าการผลิตครูในระบบปิด จะเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งปัจจุบันเรามีการผลิตครูในระบบปิดกว่า 30% อนาคตควรจะเพิ่มอีก 40% เป็นผลิตครูระบบปิด 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% เปิดเป็นทางเลือกให้กับนักเรียนทั่วไป ทั้งนี้ การผลิตครูระบบปิด จะช่วยคัดกรองผู้เรียนที่มีคุณภาพ และอยากเป็นครูอย่างแท้จริง ผ่านระบบการรับทุน ซึ่งจะต้องคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งคุณภาพอาจารย์ สถานที่ การเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้มีครูที่จบจากสถาบันผลิตแต่ละแห่ง เข้าไปทำการสอนในสถาบันต่างๆ มากพอสมควรแล้ว ดังนั้น สถาบันการศึกษาควรจะมีระบบประเมินคุณภาพครูด้วย เพื่อเป็นตัวสะท้อนกลับมายังสถาบันฝ่ายผลิต

Advertisement

“แม้ปัจจุบันตัวเลขเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจะลดลง แต่เด็กที่เลือกเรียนในคณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ ไม่ลดลงเลย อาจเพราะเป็นสาขาที่จบแล้วสามารถทำงานได้กว้าง ดังนั้น ทางแก้ปัญหาการผลิตครูล้น หรือผลิตบัณฑิตไม่มีคุณภาพ คือใช้ระบบเข้าไปจับ ไล่ตั้งแต่การคัดเลือกผู้เรียนที่ต้องทำในระบบปิดมากขึ้น รวมถึง ติดตามผลลัพธ์ ซึ่งก็คือคุณภาพบัณฑิตที่จบออกมาทำหน้าที่สอนในสถาบันการศึกษาต่างๆ ด้วย” นายสมบัติกล่าว

ขณะที่ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพครู (กมว.) กล่าวว่า นับตั้งแต่ปรับเปลี่ยนมาตรฐานวิชาชีพครูใหม่ ในปี 2562 และนโยบายของรัฐบาลยุคนั้น ได้สนับสนุนให้ปรับหลักสูตรการผลิตครูจาก 5 ปี เป็น 4 ปี ตามความพร้อมของมหาวิทยาลัย หากมหาวิทยาลัยใดประสงค์จะผลิตครูหลักสูตร 5 ปี ก็ย่อมดำเนินการต่อไปได้ และกำหนดให้ผู้ที่จบปริญญาทางการศึกษาจากหลักสูตรครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ทุกหลักสูตร จะต้องผ่านกระบวนการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

ซึ่งประธาน กมว.ได้สรุปถึงปัญหาหลักๆ ในการผลิตครูที่ผ่านมา โดยสรุปได้ 3 เรื่อง ดังนี้

Advertisement

1.ปริมาณบัณฑิตทางการศึกษาที่ผลิตจากสถาบันผลิตครู ไม่สอดคล้อง หรือเป็นไปตามความต้องการของสถานศึกษา หรือหน่วยงานผู้ใช้บัณฑิต เช่น ขาดครูสาขาวิชาเฉพาะทางวิทยาศาสตร์ ดนตรี นาฏศิลป์เหล่านี้ แต่กลับผลิตครูสาขาวิชาอื่นๆ เกินความต้องการ มากกว่าผลิตให้สอดคล้องความต้องการ เนื่องจากข้อมูลความต้องการครูสาขาวิชาต่างๆ ในอนาคต 5 ปี หน่วยงานผู้ใช้บัณฑิตอาจจะไม่ได้เผยแพร่ หรือจัดทำให้สถาบันผลิตครูได้รับรู้ และนำไปใช้เพื่อวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต

2.คุณภาพของบัณฑิตทางการศึกษาที่จบจากสถาบันผลิตครู ยังขาดทักษะการคิด (Thinking Skills) ระบบการคิด (Systems Thinking) ที่จะนำตนเองในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของตนเองให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สามารถเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ครูได้อย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ

3.สถาบันผลิตครูยังติดอยู่กับรูปแบบ ทั้งการจัดหลักสูตร วิชาแบบเดิมๆ การจัดการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ด้วยความเคยชิน มากกว่าการพัฒนาวิชาใหม่ๆ หรือสร้างวิชาใหม่ๆ หรือพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ หรือแบบผสมผสาน (Hybrid) เพื่อสร้างบัณฑิตครูให้มีทักษะการปฏิบัติงานที่พร้อมสำหรับอนาคต

นายเอกชัยกล่าวด้วยว่า การผลิตครูในอนาคต ต้องไม่มุ่งผลิตครูเข้าสู่วิชาชีพอย่างเดียว แต่จะต้องเตรียมครูให้มีความสามารถ เรียนรู้ และพัฒนาทักษะตนเองให้มีความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) ที่ผ่านมาในอดีตมักจะพูดถึงครูว่าเป็น “วิชาชีพชั้นสูง” เพราะมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งคงต้องสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนว่าการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ คงไม่ใช่เหตุผลของการเป็นวิชาชีพชั้นสูง เพราะทนายความ นักบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชี และอีกหลายอาชีพ จะประกอบอาชีพได้นั้น ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเช่นกัน ดังนั้น การมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ใช้อ้างว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง

“ผมคิดว่าครูเป็นอาชีพที่มีความรับผิดชอบสูง ดังนั้น จึงต้องกำกับด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ไม่ใช่ใครๆ ก็เป็นครูได้ กรณีคนเก่งๆ สาขาวิชาอื่น ที่สถานศึกษาต้องการให้ทำหน้าที่ครู หากไม่ได้จบทางครู ก็จะต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้วิชาครู เสริมสร้างประสบการณ์ความเป็นครู จึงจะมีโอกาสทำหน้าที่ครูได้ อาชีพครูต้องเป็นอาชีพที่เปิดโอกาสให้คนเก่งๆ มีความรู้ ความสามารถในสาขาวิชาที่ต้องการ มีโอกาสเป็นครูได้ เพื่อประโยชน์ด้านคุณภาพของการศึกษาที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นสำคัญ” นายเอกชัย กล่าว

นายเอกชนยังเห็นว่า การผลิตครูในอนาคตเข้าสู่วิชาชีพ จะต้องมีความสามารถในการพัฒนาความเป็นมืออาชีพได้ นอกจากจะต้องเก่ง มีความรู้ในเนื้อหาในวิชาที่จะสอน (Hard Skills) แล้ว จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะที่หลากหลายด้าน (Transversal Skills) ควบคู่ไปด้วย เพราะเป็น Soft Skills ที่จำเป็นในการเสริมสร้างการเรียนรู้ การปฏิบัติงาน

สำหรับการปฏิบัติตนให้มีความสามารถในการปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต ต้องอาศัย 9 ทักษะที่มีความหลากหลาย ได้แก่

1.ทักษะการคิด ไม่ว่าจะเป็นการคิดวิพากษ์ คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์
2.ทักษะการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ การสื่อสารในการสอน เป็นต้น
3.ทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีต่างๆ
4.ทักษะการเรียนรู้ใฝ่เรียนรู้อยู่เสมอเมื่อมีโอกาส
5.ทักษะการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น
6.ทักษะภาวะผู้นำ
7.ทักษะการแก้ปัญหา และการตัดสินใจ
8.ทักษะมนุษยสัมพันธ์
9.ทักษะการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง

ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่สถาบันผลิตครูต้องมีความพร้อมในการผลิต “บัณฑิตครู” ให้มีความรู้ความสามารถที่จะสอนวิชาต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาไทยก็ได้ บัณฑิตครูในอนาคตจะได้มีโอกาสปฏิบัติงานในโรงเรียนสองภาษา ทั้งของรัฐ และเอกชน อนาคตของบัณฑิตครู ขึ้นอยู่กับครูของครูในสถาบันผลิตครู

ถือเป็นมุมมองจาก 2 นักวิชาการ ที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ซึ่งหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งแก้ปัญหาในการผลิต และพัฒนา เพื่อให้สามารถคัดเลือกคนเก่ง และดี มาเป็นครูที่มีคุณภาพได้ในอนาคต

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image