ปีใหม่ ปัญหาเก่า การเมือง เศรษฐกิจ ประเทศไทยต้องไปต่อ

ปีใหม่ ปัญหาเก่า การเมือง เศรษฐกิจ ประเทศไทยต้องไปต่อ

ปีใหม่ 2564 ผ่านพ้นไปท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดในประเทศไทยอีกครั้ง

เริ่มต้นจากจังหวัดสมุทรสาครหลังจากนั้นได้ระบาดไปยังจังหวัดต่างๆ

กระทั่งวันที่ 31 ธันวาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พบผู้ติดโควิด-19 ใน 51 จังหวัด ประกอบด้วย

โซนสีแดง ติดเชื้อมากกว่า 51 ราย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, สมุทรสาคร, ระยอง, นครปฐม, ชลบุรี, นนทบุรี

Advertisement

โซนสีส้ม ติดเชื้อ 11-50 ราย ได้แก่ สมุทรสงคราม, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, ปทุมธานี, ราชบุรี, จันทบุรี, ตาก, สระบุรี, เพชรบุรี

โซนสีเหลือง ติดเชื้อ 1-10 ราย ได้แก่ ชัยภูมิ, นครราชสีมา, ชัยนาท, กระบี่, พิจิตร, พระนครศรีอยุธยา, ขอนแก่น, ภูเก็ต, อุตรดิตถ์, กำแพงเพชร, นครสวรรค์, นครนายก, ปราจีนบุรี, สงขลา, สตูล, เชียงใหม่, เพชรบูรณ์, สุโขทัย, อ่างทอง, ลพบุรี, สุพรรณบุรี, เลย, อุดรธานี, สุรินทร์, อุบลราชธานี, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, ตรัง, นราธิวาส, ลำปาง, ระนอง, อำนาจเจริญ, ตราด, มหาสารคาม, หนองคาย, กาญจนบุรี

การระบาดของโรคกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจ

Advertisement

เมื่อเกิดโรคระบาดสิ่งที่ต้องทำคือการจำกัดพื้นที่การระบาดให้อยู่ในวงจำกัด ซึ่งเบื้องต้นแต่ละจังหวัดเริ่มต้นล็อกดาวน์เป็นบางพื้นที่ หรือสั่งให้ปิดทำการในกิจการที่เสี่ยง หรือจำกัดเวลาในการเปิด

เหตุที่ต้องทำเช่นนี้เพราะหากมีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ จะทำให้เศรษฐกิจหยุดนิ่ง และเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาดั่งเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2563

เฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าเมื่อมีการล็อกดาวน์จังหวัด จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่สมุทรสาคร จะเสียหายวันละ 3,000-4,000 ล้านบาท หากล็อกดาวน์ทุกจังหวัดจะเพิ่มเป็นวันละ 6,800 ล้านบาท ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อเป็นเดือนทั่วประเทศ โดยทุก 1 เดือนจะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมประมาณ 2-2.2 แสนล้านบาท/เดือน หรือกระทบต่อจีดีพี 1.5%

นี่เพียงแค่จังหวัดเดียว

ขณะเดียวกัน ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 ได้สั่งสมมาตั้งแต่ต้นปี 2563 และปีอื่นๆ ที่ผ่านมา

ปัญหาดังกล่าวสะท้อนออกมาให้เห็นว่าหนี้สินภาคครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น

ประมาณการคนว่างงานสะสม โดย นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) คาดว่าอัตราการว่างงานของแรงงานไทยปีนี้ยังคงสะสมอยู่ในระดับ 2.9 ล้านคน ขณะที่แรงงานใหม่เสี่ยงตกงานสะสมประมาณ 9 แสนคน

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจอื่นๆ อีกที่ล้วนแล้วแต่สะสมกันมานานเป็นปี

สิ่งเหล่านี้บางอย่างเกิดขึ้นแล้ว อีกหลายอย่างเป็นแค่การคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น

แต่ทั้งที่เกิดแล้วและอาจจะเกิด ล้วนแล้วแต่ต้องการความพร้อมในการรับมือ

ในห้วงจังหวะที่เศรษฐกิจต้องการความเชื่อมั่น กระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่คืบหน้า

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้กลุ่มผู้ชุมนุม “เว้นวรรค” การชุมนุมไประยะหนึ่ง แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ที่เป็นวาระของสังคม เช่นกรณีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับผลกระทบ

กลุ่มผู้ชุมนุมก็ขับเคลื่อนกิจกรรม

วันที่ 31 ธันวาคม ที่สนามหลวง นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ แกนนำกลุ่ม WeVo จัดกิจกรรมขายกุ้งเคาต์ดาวน์ เพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงกุ้งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด นำกุ้งน้ำหนักรวม 5 ตัน มูลค่ากว่า 8 แสนบาท มาที่บริเวณท้องสนามหลวง

กระทั่งตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าเจรจา ห้ามชุมนุม และจับกุมแกนนำ 16 คน

ส่วนการชุมนุมเพื่อเคาต์ดาวน์ได้เกิดระเบิดขึ้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน ก่อนที่แกนนำจะประกาศให้ผู้ร่วมชุมนุมรีบกลับบ้าน

สถานการณ์ดังกล่าวชี้ว่า การชุมนุมพร้อมที่จะเกิดขึ้น และวิธีการจัดการกับการชุมนุมยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

ขณะที่กระบวนการแก้ไขความขัดแย้งที่รัฐสภานำเสนอและกำลังดำเนินการ ขณะนี้ที่ถือเป็นรูปเป็นร่างคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อปลายปี 2563 การยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านพ้นวาระ 1 เข้าสู่วาระ 2 ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา

เมื่อเกิดโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้การชุมนุม “เว้นวรรค” ส่งผลให้ความตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแผ่วลง

แม้ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมาธิการจะยืนยันว่ามกราคมปีนี้ กรรมาธิการจะสรุปการพิจารณาแล้วนำเข้าสู่รัฐสภาเพื่อโหวตวาระ 2-3

แต่พรรคฝ่ายค้านกลับมองด้วยสายตาหวาดระแวง พร้อมดักคอว่าอย่าอ้างโควิด-19 มาเลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ล่าสุด นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเชิญหัวหน้าพรรคทุกพรรคไปร่วมประชุม เพื่อตกลงกันเรื่องการประชุม

นัดประชุม วันที่ 4 มกราคม เวลา 13.00 น.

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ปัญหาโรคระบาด ปัญหาการเมือง และปัญหาเศรษฐกิจ ดูเหมือนว่าปี 2564 จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์คล้ายคลึงกับปี 2563

เพียงแต่ปี 2564 มีประเทศไทยบอบช้ำสะสมมาจากปี 2563 การบริหารจัดการปัญหาจึงต้องมีความซับซ้อนมากขึ้น

ด้านการเผชิญหน้ากับโรคระบาด จะทำอย่างไรจึงจะหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์ประเทศ

ด้านการเมืองทำอย่างไรให้ความหวาดระแวงหายไป และการร่วมกันยกร่างกติกาใหม่ของประเทศเดินหน้าตรงตามคำสัญญา

ด้านเศรษฐกิจทำอย่างไรจึงจะลดความเสียหาย และเพิ่มศักยภาพภาคส่วนต่างๆ เพื่อความพร้อมในการเดินหน้า

ทุกด้านที่ประสบปัญหา มีข้อเสนอแนะและทางออกจากหลายฝ่ายมาอย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนอแนะและทางออกเหล่านี้ยังคงต้องการการดำเนินการจริงจังอย่างต่อเนื่อง

เพราะปี 2564 นี้ เป็นปีที่ประเทศไทยหยุดนิ่งไม่ได้

ประเทศไทยต้องไปต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image