ความปรารถนาในวาระปีใหม่ 2564

ขอส่งความสุขปีใหม่ 2564 แด่ทุกๆ คน ขอให้ฝันร้ายในปี 2563 ลดน้อยถอยไป ให้ปีใหม่นำสิ่งที่ดี ใหม่ๆ มาสู่บ้านเมืองของเรา สิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้เป็นความฝันเฟื่องของผมเอง คือผมอธิษฐานว่าปี 2564 จะเป็นปีที่ดี ทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 วิถีชีวิตกลับสู่ปกติใหม่ และเราจะก้าวพ้นปัญหาที่เรื้อรังของสังคมการเมืองไปได้บ้าง แน่นอนว่านี่เป็นเพียงความปรารถนา ไม่สามารถบอกได้ว่าจะทำให้เป็นมรรคผลได้อย่างไร

1. สังคมการเมืองมีผู้ที่คิดว่าตนเองรู้แจ้ง (เหมือนเป็นโหราจารย์) หยั่งเห็นการสมคบคิดของฝ่ายต่าง ๆ มีข้อมูลที่ลึกซึ้งกว่าใคร (เหมือนเป็นสปายใต้เตียง) สามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มีความประสงค์จะเตือนผู้อื่นให้เห็นภยัตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือต้องการให้ผู้อื่นเชื่อว่าระบอบ/ระบบ/โครงสร้างที่มีอยู่นั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร ฯลฯ ผมคิดว่าความคิดเห็นและการแสดงออกเช่นนี้ถือ “อัตโนคติ” (คติของตน) เป็นใหญ่ มักเกิดแก่ผู้ที่คิดว่าตนเองเป็นผู้รู้แจ้งทางการเมืองเหนือกว่าใคร ๆ บางทีคติเช่นนี้อาจมีที่มาจากวิปัสนูปกิเลส (อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา) ที่ตนยึดถือด้วยทิฏฐิว่าความรู้แจ้งเกิดขึ้นแก่เราแล้ว และเห็นว่าสิ่งนั้นน่าพอใจ (มานะและตัณหา) ความปรารถนาของผมคือการมีสติให้รู้ทัน เห็นว่าทิฏฐิของตนเองไม่เที่ยง เป็นไปตามเหตุปัจจัย ดังนั้น พึงเปิดใจให้กว้าง หมั่นดูความรู้สึกของตนเองและของผู้อื่น ที่สำคัญคือ เปิดรับความสมเหตุสมผลและค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์ให้มากขึ้น

2. ในสื่อสังคมออนไลน์ มีข้อความชวนให้เกลียดชังผู้อื่นอยู่ไม่น้อย ความเกลียดชังเปรียบเสมือนไวรัสร้ายที่แพร่ระบาดต่อ ๆ กันไปได้ง่าย เรื่องหนึ่งที่พึงระวังคืออคติที่มีต่อศาสนิกอื่น มายาคติที่ชื่นชมแต่ศาสนาของตนเอง และภยาคติว่าศาสนาของตนจะเสื่อมถอยเพราะการคุกคามของศาสนิกอื่น โดยละเลยว่าการเสื่อมถอยนั้นอาจจะมาจากปัจจัยอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ วิถีชีวิตในโลกทันสมัย ความเชื่อที่ตนมีนั้นไม่หนักแน่น ฯลฯ ตั้งแต่เกิดเหตุร้ายในชายแดนใต้ และการก่อการร้ายซึ่งส่วนใหญ่กระทำโดยมุสลิม ประกอบกับความเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจและการแต่งกายของมุสลิมในที่สาธารณะ ทำให้กระแสเกลียดชังมุสลิมได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันที่จริงตามรัฐธรรมนูญ ถือได้ว่ารัฐไทยเป็นรัฐฆราวาส (secular) แต่ก็มีกระแสอยากเปลี่ยนให้เป็นรัฐพุทธ ขณะเดียวกัน แม้พลเมืองไทยจำนวนมากถือศาสนาในเชิงพิธีกรรม หรือมีความเชื่อที่ผสมผสานทั้งพุทธ-พราหมณ์-ผี แต่ไม่ค่อยมีใครประกาศว่าตนไม่ถือศาสนาใด เพราะจะดูไม่ดี ความปรารถนาของผมคือการดำเนินรอยตามปณิธานของท่านพุทธทาส ที่ว่าให้ศึกษาคำสอนที่ตนเชื่ออย่างลึกซึ้ง พร้อมทั้งเรียนรู้คำสอนของศาสนาอื่น ๆ ด้วย รวมทั้งมีขันติหรือความทนกันได้ (tolerance) ต่อผู้ที่เชื่อหรือเห็นต่าง อนึ่ง มิใช่แต่อ้างพหุวัฒนธรรมเพื่อรักษาความเชื่อดั้งเดิมไว้อย่างเคร่งครัด แล้วสร้างชุมชนส่วนน้อยที่แยกขาดจากชุมชนใหญ่ ละเลยความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยร่วมกับคนส่วนใหญ่ โดยอ้างวัฒนธรรมเฉพาะของชนส่วนน้อย ในเรื่องนี้ ในสังคมการเมืองและการถือปฏิบัติในทางสาธารณะ ทั้งศาสนิกผู้เคร่งครัด ผู้ไม่เคร่งครัด และผู้ไม่ถือศาสนา ควรสื่อสารและหารือกัน เพื่อความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันอย่างพองามพอดี ในรัฐที่เป็นรัฐหลังฆราวาส (post-secular) ก็ว่าได้

3. มาถึงเรื่องความชังที่ย้อนแย้ง ในระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองที่ดีและมีทักษะในการกำหนดนโยบายสาธารณะคือกลไกสำคัญในการนำพาประเทศสู่ความเจริญก้าวหน้า แต่น่าเสียดายที่คนจำนวนมากชังนักการเมือง ความชังนี้มักจะมาพร้อมกับการเชิดชูผู้มีอำนาจที่ไม่ได้อำนาจมาตามครรลองประชาธิปไตย รวมทั้งการฝากความหวังไว้แก่ระบบราชการบ้าง องค์กรอิสระบ้าง องค์กรที่มาจากการสรรหาหรือแต่งตั้งบ้าง ระบบที่รวมศูนย์อำนาจบ้าง สุดท้ายแล้วระบอบประชาธิปไตย ก็ยังไม่ได้น้ำใจของหลายฝ่าย รวมทั้งส่วนที่มีนัยสำคัญของข้าราชการประจำ และของข้าราชการตุลาการที่มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ความปรารถนาของผมคือการที่ระบบพรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง มีข้อกฎหมายที่ประกันความศักดิ์สิทธิ์ของอาณัติของประชาชนที่ให้แก่พรรคการเมืองผ่านการเลือกตั้ง ทั้งนี้ พรรคการเมืองไม่ควรถูกยุบง่าย ๆ โดยอ้างว่าพรรคทำให้ระบอบประชาธิปไตยเสียหาย เป็นต้น ผมปรารถนาจะเห็นระบบที่อำนาจได้มาด้วยความชอบธรรม และการจำกัดบทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระมิให้ขัดกับอำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทย

Advertisement

4. ลัทธิคลั่งชาติเคยสร้างหายนะอย่างใหญ่หลวงในการก่อสงคราม โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่สอง อันที่จริง ชาตินิยมพอประมาณเป็นพลังอันสำคัญในการสร้างความพร้อมเพรียง และการขับเคลื่อนประเทศให้เจริ

5. ก้าวหน้า ความรักชาติช่วยป้องกันการรุกรานอธิปไตย ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และเป็นปัจจัยในการเปลี่ยนแปลง เช่น ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นักศึกษาได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ยอมให้มีฐานทัพต่างชาติและยอมเสียเปรียบทางการค้าแก่ต่างชาติ พร้อมไปกับการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพื่อระดมพลังของคนหนุ่มสาวให้มาต่อต้านรัฐบาล

อนึ่งนักวิชาการได้เตือนว่า การกล่าวถึงเชื้อชาติไทย เสมือนว่าเป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากเทือกเขาอัลไตนั้น ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีใด ๆ มารองรับ คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนของไทยในปัจจุบัน ไม่ได้อพยพมาจากไหนเป็นพิเศษ แม้จะมีการอพยพย้ายถิ่นบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่เกิดในอุษาคเนย์นี่เอง ภาษาแม่ที่พูดในดินแดนนี้มีประมาณ 70 กลุ่มภาษา แบ่งเป็น 5 ตระกูลภาษาคือ ออสโตรเอเชียติก (มอญ-เขมร) ออสโตรนีเชียน (มาเลย์และหมู่เกาะทะเลใต้) ไท-กะได จีน-ทิเบต และม้ง-เมี่ยน คนในประเทศไทยส่วนใหญ่พูดตระกูลภาษาไท-กะได แต่คนที่พูดตระกูลภาษานี้มีอยู่กว่าร้อยล้านคน กระจายอยู่ในจีนตอนล่าง (มณฑลกวางสีและยูนนาน) ในเวียดนาม ลาว ไทย เมียนมา และบางส่วนของอินเดียตะวันออก (มลรัฐอัสสัมและอรุณาจัล) คนในประเทศไทยจึงไม่ใช่มีแต่คน “เชื้อชาติไทย” ซึ่งไม่รู้ว่าจะนิยามอย่างไร แต่มีหลายเชื้อชาติจนไม่อยากจะใช้คำว่าเชื้อชาติไทย จะเรียกว่าเป็นคนสัญชาติไทยหรือเป็นพลเมืองไทยน่าจะถูกต้องกว่า หรือถ้าจะกล่าวว่า ‘ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อหลายเชื้อชาติ เป็นประชารัฐ พลเมืองของไทยทุกส่วน’ ก็ไม่น่าจะผิดนัก ทั้งนี้เพื่อให้เกียรติแก่บรรพชนของเราที่มีหลายเชื้อชาติรวมทั้งลูกผสม

Advertisement

ข้อเสียของการคลั่งชาติข้อหนึ่งคือการเหยียดแรงงานเพื่อนบ้าน ที่ตกเป็นผู้ต้องหาว่าทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในขณะนี้ ข้อกล่าวหาอาจมีส่วนถูก แต่ไม่ควรเหยียดเขาแบบเหมารวม แรงงานเพื่อนบ้านได้ช่วยสร้างผลผลิตและความมั่งคั่งแก่ประเทศไทยมาหลายสิบปี เขาพึ่งเราเพื่อเลี้ยงชีพ แต่เราก็พึ่งเขาเช่นกัน ความปรารถนาของผมคือการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน จะเริ่มจากคนไทยก็ไม่ว่า แต่ควรนับรวม (include) คนจำนวนมากที่สุด ไม่ควรตั้งข้อรังเกียจเพราะเห็นว่าเขาเป็นอื่น หากควรยึดข้อเท็จจริงและหลักการพึ่งพาอาศัยกันมากกว่า

6. ความปรารถนาข้อ 5 นี้แม้เรียงไว้เป็นข้อสุดท้าย แต่ก็เป็นความปรารถนาอันแรงกล้า นั่นคือปรารถนาที่จะรับฟังและให้โอกาสแก่คนรุ่นใหม่ แม้จะบอกว่าเขาเป็นคนกลุ่มน้อย เป็นผู้หลงผิด (ถูกชักจูง) เป็นผู้มุ่งร้าย หรืออะไรก็ตามแต่ โปรดคิดเสียว่ามีคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่ต้องการส่งสารมายังคนรุ่นเก่า ผมเองอาจจะโกรธเมื่อถูกต่อว่าว่าหน้าไหว้หลังหลอก ผมอาจจะอยากตอบกลับว่าไม่รู้ข้อเท็จจริงแล้วเอาอะไรมาพูด แล้วเราก็พูดสวนกันไปมาโดยไม่มีใครฟังใคร “คนรุ่นเก่า” ผู้ที่ถือว่าตนมีวุฒิภาวะจะยอมถกแถลงอย่างสมเหตุสมผล และยอมเปิดเผยข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส โดยไม่มีการคุกคามกันได้ไหม ผมอยากถามคนรุ่นเก่าที่มีอำนาจว่า ทำไมจึงตีญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ตกไป (ยกเว้นเรื่องการแก้ไขมาตรา 256) ผมอยากถามคนทั้งสองรุ่นว่าจะถกแถลงเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมีอารยะจะได้ไหม (ไม่ใช่ด้วยอารยขัดขืนที่ฝ่ายคนรุ่นใหม่กำลังเสี่ยงต่อคุกตาราง)

การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศตะวันตกหลายประเทศได้มาโดยการปฏิวัติและการหลั่งเลือด ในอังกฤษต้องใช้เวลาหลายศตวรรษผ่านการสู้รบที่ลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายสภา และการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในสหรัฐอเมริกา หลังการปฏิวัติและการประกาศเอกราช ผู้ก่อตั้งประเทศมุ่งการพัฒนาระบบและสถาบันการเมืองการปกครองให้มีความเข้มแข็งจนถึงปัจจุบัน ในฝรั่งเศส การปฏิวัติมุ่งระดมคนยากไร้ให้มีปากมีเสียงและมาร่วมขับเคลื่อนการปฏิวัติเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง แต่กว่าจะสร้างระบบการเมืองการปกครองให้มั่นคงได้ก็ใช้เวลาร่วมศตวรรษหลังการปฏิวัติ แล้วประเทศไทยจะเลือกเส้นทางไหน หรือจะรอไปเรื่อย ๆ ก็เป็นไปได้ แต่ไม่ควรปราบปรามผู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงก็แล้วกัน ความปรารถนาของผมคือการรับฟังคนรุ่นใหม่ และการปรึกษาหารือโดยมีวิสัยทัศน์การสร้างระบบการเมืองการปกครองที่มั่นคง และไม่มีใครมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ

ในโอกาสปีใหม่ 2564 ผมขอฝากความปรารถนาไว้ 5 ข้อ คือการมีสติ ไมตรีจิตระหว่างคนต่างศาสนา/ต่างความเชื่อ การมีระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง การได้อำนาจทางการเมืองที่มีความชอบธรรม และการรับฟังคนรุ่นใหม่ พร้อมกันนี้ ขอส่งความปรารถนาดีมายังผู้อ่านทุกๆ คน

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image