‘บิ๊กป้อม’ ถก กก.สิ่งแวดล้อม เดินหน้า 4 โครงการ พัฒนาคุณภาพชีวิตปชช.

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองรองประธานฯ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะกรรมการและเลขานุการ และนางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ซึ่งมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณารายงาน EIA จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา – ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยประหยัดระยะเวลาในการเชื่อมต่อระบบการเดินทางจากเดิมที่ต้องเชื่อมต่อ 2 ครั้ง (สายสีเหลือง – สายสีน้ำเงิน – สายสีเขียว) 2.โครงการถนนเลี่ยงเมืองสตูลฝั่งตะวันออก ตำบลคลองขุด ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดและลดอุบัติเหตุ 3.โครงการศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนโดยระบบราง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เพื่อรองรับการเดินทางในเมืองหาดใหญ่ และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว และ4.โครงการทางหลวงหมายเลข ๒๐๓ (หล่มสัก-หล่มเก่า-เลย) ของกรมทางหลวง เพื่อลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ทั้งนี้ เจ้าของโครงการ ต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับความเห็นของ คณะกรรมการฯ ไปดำเนินการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเกี่ยวกับ ร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2563 โดยสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เช่น พื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น การใช้พลังงานทดแทน/พลังงานหมุนเวียน เพิ่มขึ้น และอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น เป็นต้น สำหรับสถานการณ์เฝ้าติดตาม เช่น พื้นที่ป่าไม้คงที่ คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่เมืองใหญ่ หมอกควันจากไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือรุนแรงเพิ่มขึ้น เป็นต้น รวมทั้ง ได้เห็นชอบการปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากท่าเทียบเรือประมงบางประเภท โดยได้มีการปรับปรุง ชื่อประกาศ คำนิยาม ชื่อพารามิเตอร์ รวมทั้งปรับปรุงวิธีการวิเคราะห์ วิธีการตรวจสอบ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับมาตรฐานอื่น โดยปรับปรุงนิยามตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ซึ่งไม่รวมถึงท่าเทียบเรือ ประมงพื้นบ้าน หรือท่าหลังบ้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image