แก้ รธน. โค้งท้าย จับตา เงื่อนไข ดัน ‘การเมือง’ เดือด

แก้ รธน. โค้งท้าย จับตา เงื่อนไข ดัน ‘การเมือง’ เดือด

การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… คืบหน้า

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการแถลง

หลังการประชุมในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ทางคณะ กมธ.ได้เชิญสมาชิกรัฐสภาผู้ขอแปรญัตติ ประกอบด้วย ส.ว. 8 คน และ ส.ส. 101 คน รวมทั้งสิ้น 109 คน เข้าชี้แจงเหตุผลรายละเอียดประกอบคำแปรญัตติแล้ว

คาดว่าจะสามารถจะนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาวาระที่ 2 ระหว่างวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์

Advertisement

สำหรับขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากรัฐสภาพิจารณาวาระ 2 เสร็จแล้วต้องทิ้งเวลาไว้ 15 วัน หลังจากนั้นจึงจะลงมติวาระ 3

และเนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการแก้ไขในหมวดที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำประชามติ

ดังนั้น ต้องมีการจัดทำประชามติเสียก่อนจึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ

Advertisement

ความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปรากฏเป็นข่าว ทางคณะกรรมาธิการได้พิจารณาและมีมติ

ประเด็นที่น่าสนใจ

หนึ่ง ประเด็นการได้มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กมธ.เห็นควรให้ มี ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั่วประเทศ

เห็นด้วยกับการใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ละจังหวัดจะมีสัดส่วน ส.ส.ร.ที่แตกต่างกันตามจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

หนึ่ง ประเด็นการให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิก 2 สภา ในวาระที่ 1 รับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หนึ่ง ประเด็นการเห็นชอบในวาระที่ 3 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา

หนึ่ง เมื่อลงมติในวาระที่ 3 แล้ว ให้รอไว้ 15 วัน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้นำความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

เมื่อมติของคณะกรรมาธิการกำหนดให้ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ในการลงมติวาระ 1 และวาระ 3 ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น

เพราะแต่เดิมกำหนดให้ใช้เสียงเพียง 1 ใน 5 หรือเสียงกึ่งหนึ่งในการลงมติเท่านั้น

ทั้งนี้ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย โฆษกคณะกรรมาธิการ เปิดเผยว่า การกำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ทำให้รัฐธรรมนูญแก้ได้ยากขึ้น

เรื่องนี้ฝ่ายค้านแย้งตลอด และยืนยันให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่ก็สู้ไม่ได้ เพราะเป็นเสียงข้างน้อย

การกำหนดให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา หากอธิบายความไม่เข้าใจ อาจกลายเป็นชนวนขัดแย้งทางการเมือง

ยังมีประเด็นระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่น่าสนใจ

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณารับทราบผลการพิจารณารายงานศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ชุดที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะทำได้หรือไม่

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำหนังสือตอบกลับมา

ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับจะทำได้หรือไม่ ควรพิจารณาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง

หนึ่ง คือ คำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ที่ระบุการแก้ไขข้อบกพร่องรัฐธรรมนูญ ควรทำเป็นรายมาตรา แต่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ควรจัดให้ออกเสียงประชามติจากประชาชนก่อน

อีกหนึ่ง คือ คำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 ที่ระบุการแก้ไขที่มา ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งเพียงทางเดียว เป็นการขัดรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกัน

คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมปี 2560 มีบทบัญญัติเพิ่มเติมเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไว้ในหมวด 15 เป็นการเฉพาะ

ดังนั้น การแก้รัฐธรรมนูญย่อมทำได้

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกายังเห็นว่า สมควรคำนึงถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับที่วางแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เป็นบรรทัดฐาน อาจมีการยกเป็นประเด็นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เนื่องจากมีแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว

โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ผู้เสนอญัตติขอให้รัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ระบุว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ จะพิจารณาญัตติดังกล่าวว่า จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

บันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญประกอบการตัดสินใจของ ส.ส.และ ส.ว.ว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่

หากไม่ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ชัดเจน เมื่อต้องพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 ที่ต้องใช้เสียง ส.ว.ด้วย

หากเสียง ส.ว.ไม่ถึง 1 ใน 3 อาจทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป

ความเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้จะถูกกระแสโรคโควิด-19 และข่าวสารเกี่ยวกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดกลบ

กลบไปพร้อมๆ กับกระแสเสียงจากกลุ่มราษฎรที่เคยรวมตัวกันประท้วงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

กลับกลายเป็นม็อบที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าแผ่วลง

แต่อย่าลืมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขที่พร้อมจะปะทุเป็นความขัดแย้งอีกครั้งได้ตลอดเวลา

แม้ประเด็น ส.ส.ร. เลือกตั้งทั้งหมด 200 คน จะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ

แต่ก็ไม่มีใครไว้วางใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านรัฐสภาไปได้ง่ายๆ

โดยเฉพาะการส่งสัญญาณให้ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่า

ประเด็นนี้อาจจะบานปลาย กลายเป็นความไม่เข้าใจมากขึ้น

ยิ่งถ้านำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาบังคับให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราตามที่รัฐบาล และ ส.ว.ต้องการมาตั้งแต่ต้น

ประเด็นนี้อาจยิ่งขยายความร้าวฉาน

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นประเด็นที่น่าเฝ้าติดตาม

น่าติดตามไม่แพ้ประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image