วิธีการเข้าเป็นพลทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) น้องใหม่ที่เหมาะสมของไทย

วิธีการเข้าเป็นพลทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์)น้องใหม่ที่เหมาะสมของไทย

ในต้นเดือนเมษายนของทุกปีซึ่งใกล้เข้ามาแล้ว เป็นฤดูกาลเกณฑ์ทหารทั่วประเทศ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 10-13 วัน เป็นไปตามกฎหมายคือ พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ่อแม่ผู้ปกครองหรือตัวผู้ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการที่ไม่ต้องการเป็นทหารก็จะพยายามวิ่งเต้นติดต่อเสียเงินให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ต้องเป็นทหาร แต่ก็มีจำนวนมากที่สนใจสมัครในวันทำการคัดเลือกขอเป็นพลทหารโดยไม่ต้องจับสลากใบดำใบแดง ในช่วงปีที่แล้วมีภาคสังคมและพรรคการเมืองได้นำเสนอเพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหารและยกร่างกฎหมายใหม่ แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบเพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้าน
การเงินที่นายกรัฐมนตรีจะต้องให้ความเห็นชอบก่อน ผู้เขียนจึงมีความสนใจและทำวิจัยเรื่อง “บทบาทของนายทหารบกระดับกลางที่มีอิทธิพลต่อการเข้าเป็นพลทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ของไทย”
มีความหนา 211 หน้า แล้วเสร็จเมื่อประมาณกรกฎาคม 2563 และนำเสนอบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ที่สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย และได้รับการตอบรับและยืนยันจากบรรณาธิการวารสารสมาคมนักวิจัยว่าได้ส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 2 ท่าน พิจารณาบทความวิจัยเรื่องดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จึงเห็นชอบให้นำลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารสมาคมนักวิจัย ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2564 ผู้เขียนเห็นว่างานวิจัยเรื่องนี้ถึงแม้จะเป็นประโยชน์กับนักวิจัยด้วยกัน แต่ก็ควรนำเสนอให้สังคมทั่วไปได้รับรู้อย่างกว้างขวางเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะพร้อมกับตอบคำถามของสังคมไปในตัวด้วย

ผู้เขียนได้ใช้แบบสอบถามความคิดเห็นกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนายทหารบกระดับกลางชั้นยศพันตรีถึง พ.อ.(พิเศษ) ที่มาเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และวิทยาลัยการทัพบก ประจำปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.62-ก.ย.63) จำนวน 410 คน ใช้สถิติขั้นสูงด้วยการวิเคราะห์แบบจำลองสมการโครงสร้าง และใช้การสัมภาษณ์เจาะลึกจากนายทหารอีก 15 คน การที่ผู้เขียนใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นนายทหารบกระดับกลาง เพราะว่า 1.เคยเป็นผู้บังคับบัญชาทหารมีคุณวุฒิ วัยวุฒิเหมาะสม และเคยปกครองบังคับบัญชาทหารเกณฑ์มาโดยตรง ย่อมรู้ความต้องการของทหารเกณฑ์ได้ดี
ข้อที่ 2.จำนวนมากเคยเป็นประธานกรรมการและกรรมการคัดเลือกการเกณฑ์ทหารมาก่อน ย่อมทราบขั้นตอนและวิธีการที่สมควรแก้ไขปรับปรุง 3.ได้ปฏิบัติตามนโยบายของกองทัพบก กองทัพไทย และกระทรวงกลาโหม ที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตัวทหารเกณฑ์ให้เหมาะสมตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และ 4.เมื่อเจริญเติบโตเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงกลาโหม จะต้องเกี่ยวข้องกับนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

จากการศึกษาเรื่องการเข้าเป็นพลทหารกองประจำการของไทยแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะคือ 1.ด้วยความสมัครใจ 2.ด้วยการเกณฑ์ และ 3.ด้วยวิธีผสม โดยมีปัจจัยภายนอกที่สำคัญ 4 ประการ ที่ส่งผลต่อการเข้าเป็นพลทหารเกณฑ์ ได้แก่ 1.ผลของกฎหมาย โดยพิจารณาจาก การรับผิดทางอาญา-แพ่ง การนิรโทษกรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการทุจริตของเจ้าหน้าที่ 2.ความมีฐานะเกียรติยศโดยพิจารณาจาก สิทธิด้านค่าตอบแทน สิทธิด้านสวัสดิการ สิทธิด้านความเจริญก้าวหน้า และสิทธิด้านสังคม 3.ความมีอุดมการณ์รักชาติ โดยพิจารณาจากการเสียโอกาส การสมัครเป็นนักศึกษาวิชาทหาร และการมีจิตอาสา 4.ผลของการฝึกอบรมโดยพิจารณาจากการมีวิชาชีพติดตัว การเป็นผู้นำในสังคม และการศึกษานอกโรงเรียน โดยมีคำถามแบบประมาณค่าให้ตอบ 5 ระดับคะแนน ได้แก่ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ไม่เห็นด้วย ปานกลาง เห็นด้วย และเห็นด้วยอย่างยิ่ง รวมทั้งหมด 99 คำถาม

Advertisement

ได้ผลการวิจัยที่สำคัญโดยมีคะแนนค่าเฉลี่ยดังนี้ (ในวงเล็บจะเป็นค่าระดับความสำคัญ)

1.ผลของกฎหมาย มีค่า 3.53 (มาก) โดยการรับผิดทางอาญาและแพ่ง มีค่า 4.23 (มากที่สุด) การทุจริตของเจ้าหน้าที่มีค่า 3.97 (มาก) การนิรโทษกรรม มีค่า 3.12 (มาก) และการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีค่า 2.8 (ปานกลาง)

2.ความมีฐานะเกียรติยศ มีค่า 4.19 (มาก) โดยสิทธิด้านสวัสดิการ มีค่า 4.25 (มากที่สุด) สิทธิด้านค่าตอบแทน มีค่า 4.20 (มาก) สิทธิด้านสังคม มีค่า 4.16 (มาก) และสิทธิด้านความเจริญก้าวหน้า มีค่า 4.14 (มาก)

Advertisement

3.ความมีอุดมการณ์รักชาติ มีค่า 3.60 (มาก) โดยการมีจิตอาสา มีค่า 3.91 (มาก) การสมัครเป็นนักศึกษาวิชาทหาร มีค่า 3.59 (มาก) การเสียโอกาส มีค่า 3.30 (มาก)

4.ผลของการฝึกสอนอบรม มีค่า 3.95 (มาก) โดยการศึกษานอกโรงเรียน มีค่า 4.12 (มาก) การมีอาชีพติดตัว มีค่า 3.89 (มาก) และการเป็นผู้นำในสังคม มีค่า 3.84 (มาก)

5.การเข้าเป็นทหารกองประจำการ มีค่า 3.77 (มาก) โดยความสมัครใจ มีค่า 3.86 (มาก) ด้วยวิธีผสม มีค่า 3.79 (มาก) และด้วยการเกณฑ์ มีค่า 3.65 (มาก)

และจากการวิเคราะห์ด้วยสมการโครงสร้าง โดยใช้โปรแกรมลิสเรล พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลรวมสูงสุด (ทางตรง-ทางอ้อม) ต่อการเข้าเป็นพลทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ของไทยมากที่สุดเรียงลำดับดังนี้คือ 1.ความมีอุดมการณ์รักชาติ 2.ผลของกฎหมาย 3.ผลของการฝึกสอนอบรม และ 4.ความมีฐานะเกียรติยศ

ผู้เขียนได้เสนอแนะวิธีการที่เหมาะสมต่อการเข้าเป็นพลทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ของไทยด้วยวิธีการที่เรียงลำดับดังนี้คือ 1.วิธีการผสม คือเปิดรับสมัครทั่วไปด้วยวิธีการสมัครใจก่อน ถ้าได้จำนวนทหารเพียงพอก็ไม่ต้องเกณฑ์ แต่ถ้าได้จำนวนผู้สมัครใจไม่พอจึงต้องเรียกเกณฑ์ภายหลัง ในวิธีการสมัครใจนั้น ทางราชการต้องเปิดรับสมัครทั่วไปเหมือนเปิดรับชายไทยสมัครเข้าเป็นนักเรียนทหาร (นักเรียนนายสิบ นักเรียนจ่าทหารเรือ นักเรียนจ่าทหารอากาศ นักเรียนช่างฝีมือทหาร นักเรียนเตรียมทหาร นักเรียนนายร้อยของเหล่าทัพ นักเรียนแพทย์ทหารของกองทัพบก ฯลฯ) ล่วงหน้าก่อนฤดูเกณฑ์ในเมษายนของทุกปีพอสมควร และแจ้งสิทธิที่ทางราชการจะให้เมื่อเข้าเป็นทหารกองประจำการด้วยระบบนี้ ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางสื่อทุกประเภท ถ้ามีบุคคลสมัครมากเกินความต้องการก็ให้บุคคลสมัครก่อนได้รับสิทธิก่อน โดยอำนวยความสะดวกการสมัครให้ทุกค่ายทหารที่มณฑลทหารบกมีอยู่ทั่วประเทศ ให้เลือกเหล่าทัพที่ต้องการตามลำดับ ไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาทหาร จำนวนทหารที่ต้องการแต่ละปีต้องมียอดความจำเป็นที่แท้จริง ส่วนรายละเอียดต่างๆ ทางราชการต้องมากำหนดให้ครอบคลุมที่ทางราชการจะได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไปภายหลัง 2.ด้วยความสมัครใจ ต้องประกาศล่วงหน้าพอสมควร ไม่ใช่สมัครในวันทำการคัดเลือก ส่วนเวลารับราชการควรขยายจากเดิม 1 ปี หรือ 2 ปี
เป็นมากกว่า 2 ปี เพื่อที่ทางราชการจะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ภายหลัง เมื่อทางราชการได้ตอบแทนสิทธิต่างๆ อย่างดีแล้ว

3.ด้วยการเกณฑ์ เมื่อทำวิธีที่ 1 และ 2 ไม่ได้ จำนวนทหารครบต้องเรียกเกณฑ์ภายหลังต่อไป ไม่สามารถยกเลิกวิธีนี้ได้เพื่อเป็นหลักประกันในอนาคต

มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ทางราชการกระทรวงกลาโหมสมควรดำเนินการ

1.เปลี่ยนแปลงวิธีการเดิมมาเป็นวิธีผสม (วิธีสมัครใจก่อน ถ้าได้ทหารไม่พอจึงเกณฑ์ภายหลัง) โดยเริ่มทำตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 (ก่อนวันเกณฑ์ในเดือนเมษายนของทุกปี) ถ้าดำเนินการได้ทัน ถ้าไม่ทันก็เลื่อนไปปีหน้า โดยจัดทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกภาคส่วนรับทราบ เช่น ป้าย “กองทัพต้องการทหารสมัครใจรับใช้ประเทศชาติ” หรือข้อความรณรงค์เหมือนในต่างประเทศ เช่น ใช้คำว่า “I want you To Military”

2.ต้องดำเนินการแก้ไขนามเรียกขานของสังคมในทำนองดูถูกเหยียดหยาม ไม่ให้เกียรติ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น เรียก ไอ้เณร ไอ้หัวเกรียน ไอ้โล้น ฯลฯ และฟ้องดำเนินคดีเป็นตัวอย่างให้สังคมได้รับรู้บ้าง

3.มีความมุ่งมั่นที่ขจัดกระบวนการทุจริตในทุกขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ (ฝ่ายทหาร ฝ่ายมหาดไทย ฝ่ายแพทย์ (กลาโหมและกระทรวงสาธารณสุข) ฯลฯ และลงโทษอย่างเด็ดขาดจริงจัง และทำการประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้รับรู้ และเมื่อได้พลทหารเข้าประจำการในหน่วยแล้ว ต้องไม่หาผลประโยชน์ใดๆ จากตัวทหาร และไม่ใช้ทหารนอกเหนือภารกิจทางทหารและที่ทางราชการกำหนด

4.ใช้ระบบเทคโนโลยี (Technology) ที่ทันสมัยเข้ามาใช้แทนระบบการทำด้วยมือ (Manual) เช่น ระบบบัญชีทหารกองเกิน กองหนุน ทุกประเภท ฯลฯ ให้สามารถตรวจสอบได้ทุกสถานการณ์เวลา (Real time) และเป็นจริงทุกขั้นตอน

5.คณะกรรมการคัดเลือก (ถ้ามีการเกณฑ์) ต้องได้บุคคลที่มีความซื่อสัตย์ ใจซื่อมือสะอาด ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างใดๆ โดยเฉพาะประธานคณะกรรมการ ถ้าคณะกรรมการทุจริตเสียเองต้องมีบทลงโทษเพิ่มขึ้นไปอีก

6.ทำการปรับปรุงสิทธิต่างๆ ที่ทางราชการและรัฐวิสาหกิจกำหนดไว้แต่เดิมให้ทันสมัย และเพิ่มมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ และให้สามารถใช้สิทธิต่างๆ ได้จริง

7.การคำนวณความต้องการยอดทหารในแต่ละปี ต้องคำนึงถึงภัยคุกคามต่างๆ ที่ต้องสอดคล้องกับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียน ฯลฯ เป็นยอดทหารที่กองทัพจำเป็นอย่างแท้จริงเท่านั้น

8.การให้สมัครเป็นนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) ต้องมีจำนวนความต้องการกำลังพลสำรองที่เพียงพออย่างแท้จริง ไม่มากเกินควรและเข้มงวดการฝึกอบรม ทดสอบให้ได้มาตรฐานตามกำหนด

9.นำเสนอออกกฎหมาย การซ้อมทรมานบุคคล นำมาบังคับใช้กับทหาร ตำรวจ ราชทัณฑ์ดีเอสไอ ฯลฯ ในโอกาสต่อไป

10.ปรับปรุงสิทธิให้เป็นข้าราชการทหารในช่วงเวลาที่เข้ามาเป็นพลทหารกองประจำการเพื่อสิทธิกำลังพลของตนและครอบครัว

11.ควรนิรโทษกรรมให้ทหารที่หนีราชการในอดีตให้กลับมาเป็นพลเมืองดีของชาติต่อไปเหมือนในต่างประเทศ

มีข้อเสนอแนะเชิงวิชาการ ดังนี้

1.ให้มีการสอน อบรมบรรยายวิชา “สิทธิมนุษยชน” ในหลักสูตรของโรงเรียนทหารทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ เช่น การสอนอบรมพลทหารทุกเหล่าทัพ, โรงเรียนนายสิบทหารบก โรงเรียนจ่าทหารเรือ โรงเรียนจ่าทหารอากาศ โรงเรียนช่างฝีมือทหาร โรงเรียนนายร้อย วิทยาลัยแพทย์ พยาบาล ของทุกเหล่าทัพ, หลักสูตรจ่าอาวุโส, ชั้นนายร้อย ชั้นนายพัน โรงเรียนเสนาธิการ และวิทยาลัยการทัพทุกเหล่าทัพ ฯลฯ เพื่อให้กำลังพลทุกระดับมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน

2.ให้มีการสอนอบรม บรรยายวิชาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทหารอย่างสม่ำเสมอ เช่น พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476, ประมวลกฎหมายอาญาทหาร, จริยธรรมของทหาร และกฎหมายปกครองเบื้องต้น ฯลฯ ในหลักสูตรต่างๆ ของทหารตามข้อ 1 เพื่อให้กำลังพลทุกคนได้รับทราบและปฏิบัติตามได้ถูกต้อง

3.เสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายทหารตามข้อ 2 และกฎกระทรวง ระเบียบ คำสั่ง ฯลฯ ที่ออกมาใช้บังคับเป็นเวลานานแล้ว ให้สอดคล้องกับสภาพของสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ผลงานวิจัยดังกล่าวได้ส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาใช้ประโยชน์ตามแต่จะเห็นสมควร เช่น กรมเสมียนตรา กรมสรรพกำลังกระทรวงกลาโหม กรมกำลังพลทหารบก หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยการทัพบก และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับน้องพลทหารที่เข้ามารับราชการอยู่ในขณะนี้ว่า พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้อนุมัติเมื่อ 7 ธ.ค.63 ให้ปรับสัดส่วนการรับบุคคลเข้าเป็นนักเรียนนายสิบ (นนส.) หลักสูตรที่ผลิตโดยโรงเรียนนายสิบทหารบก (รร.นส.ทบ.) ระหว่างกลุ่มที่รับจากทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) กับกลุ่มที่รับจากบุคคลทั่วไปจากเดิมกำหนดสัดส่วนการรับบุคคลฯทั้งสองกลุ่มไว้ที่สัดส่วน 50:50 ปีนี้ (ปีงบประมาณ 2564) เป็นสัดส่วนทหารกองประจำการ ร้อยละ 80 บุคคลทั่วไป ร้อยละ 20 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ทหารกองประจำการได้มีโอกาสเข้ารับราชการเป็นนายทหารประทวน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้บุคคลทั่วไปมีความสนใจร้องขอเข้ารับราชการกองประจำการเพิ่มมากขึ้น และกองทัพเปิดโอกาสให้นักเรียนนายสิบที่มีผลการเรียนสอบได้ที่ 1
ของแต่ละเหล่าได้สิทธิศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหารปีละประมาณ 20 คนด้วย

และในการสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) ในส่วนของกองทัพบกประจำปีการศึกษา 2564 ผู้บัญชาการทหารบกท่านปัจจุบันได้อนุมัติเมื่อ 14 ธ.ค.63 ตามนโยบายใหม่เพื่อการคัดสรรบุคคลพลเรือนเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (รร.จปร.) ได้ปรับปรุงวิธีการดำเนินการเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ยากจน
ผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร และประชาชนโดยทั่วไปที่รักในอาชีพทหาร สามารถสมัครเพื่อโอกาสเข้ารับการคัดเลือกอย่างเท่าเทียมกัน ยุติธรรม และเป็นธรรม มีการแบ่งสัดส่วนระหว่างคัดสรรบุคคลพลเรือนที่มีผลการศึกษา และคุณลักษณะทหารที่ดีเยี่ยมตามโควต้าในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 นาย รวม 77 นาย ครอบคลุมทั่วประเทศและการคัดเลือกจากส่วนกลาง ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามได้จาก website ของกองทัพบก โรงเรียนนายร้อย จปร. และโรงเรียนเตรียมทหาร (ในอดีตมีนายทหารขั้นนายพล นายพัน ที่เคยเข้าเป็นพลทหารกองประจำการมาก่อน ได้สิทธิเป็นนักเรียนนายสิบ นักเรียนเตรียมทหาร และนักเรียนนายร้อยมาแล้วหลายท่าน

ผู้เขียนก็หวังว่างานวิจัยนี้คงเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงกลาโหม เหล่าทัพและสังคมในภาพรวม ต่อไปในอนาคตถ้าปรับปรุงสิทธิ และเปลี่ยนวิธีการใหม่ คงจะเห็นผู้สมัครเข้าเป็นพลทหารกองประจำการกันล้นเกินความต้องการ โดยไม่ต้องเกณฑ์ คงจะสร้างความพึงพอใจให้แก่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยได้อย่างดีแน่นอน

พลโท ดร.ทวี แจ่มจำรัส
ข้าราชการบำนาญ
กรรมการตรวจสอบและประเมินผล
ประจำกระทรวงกลาโหม (คตป.กห.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image