หอค้าไทย-จีน เตรียมพร้อมตรวจสอบย้อนกลับ ส่งออกผลไม้ไทยปลอดเชื้อ คาดขายทุเรียนได้1.5พันล้านดอลล์

นายณรงค์ศักดิ์  พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน  เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน ลงนามเอ็มโอยูร่วมกับ นายหลิ่ว หัวลวี่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นองค์กรตรวจสอบและรับรองแห่งชาติจีนประจำประเทศไทย เพื่อสนับสนุนขยายการส่งออกไปตลาดจีนของสมาชิกหอการค้าไทย-จีน โดย ซี ซี ไอ ซี ทำหน้าที่ตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์ส่งออกสินค้าจากไทยไปจีน  ซึ่งปีที่ผ่านมาภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลจีน กำหนดให้อาหารหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่นำเข้าหมุนเวียนในตลาดจีน ต้องสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาและตรวจสอบย้อนกลับได้ ถ้าไม่ผ่านตรวจสอบจะไม่สามารถขายในตลาดจีนได้

ซึ่งความร่วมมือในปี 2563  ส่งผลต่อส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ของไทยไปจีน มีมูลค่า 2,908 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 39.43% เฉพาะทุเรียนสด มีมูลค่าถึง 1,508 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 77.57% ถือเป็นอัตราการขยายตัวสูงมาก แม้อยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 และคาดว่า ปี 2564 จะส่งออกผลไม้ของไทยไม่ต่ำกว่าปี 2563 หรือมูลค่าเกิน 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐได้ แต่ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขชัดเจนได้ เพราะอยู่ระหว่างตรวจสอบปริมาณผลผลิตและสถานการณ์โดยรวมผลไม้ไทย

แต่อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นส่วนทำให้การค้าระหว่างไทยและจีนปีนี้ได้ถึง 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ต่อจากนี้จะมีการลงนามกับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (CCIP) เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปจีนอีกช่องทางหนึ่ง โดยยึดการปฏิบัติตามข้อกำหนดในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ให้ถูกต้องตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้ รวมทั้งการขอและออกใบรับรองสุขอนามัย และข้อกำหนดเฉพาะสำหรับผลไม้บางชนิด จะทำให้ไทยส่งออกผลไม้ไทยไปจีนได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีอุปสรรค

Advertisement

นายหลิ่ว หัวลวี่  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นบริษัทร่วมทุนกับฝ่ายไทย ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยกว่า 30 ปี และเป็นหน่วยงานสาขาขององค์กรตรวจสอบและรับรองแห่งชาติจีน (CCIC)  ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีน สำนักงานใหญ่ตั้งที่กรุงปักกิ่ง  ที่ผ่านมาโรงงานบรรจุภัณฑ์ผลไม้ของไทยหลายแห่งเลือกใช้บริการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดของบริษัท CCIC (ประเทศไทย) โดยสมัครใจ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลและผู้บริโภคจีน และอีกด้านหนึ่งยังสามารถป้องกันการสวมสิทธิ์หรือการปลอมแปลงของผลไม้จากประเทศอื่น ว่า เป็นผลไม้ของไทยและส่งออกไปยังจีนอย่างผิดกฎหมาย

ปีที่ผ่านมาได้ให้บริการแก่สินค้าทุเรียน มังคุด และลำไยที่ส่งออกไปยังจีนกว่า 8 พันล้านบาท ล่าสุดมีผู้ส่งออกไทยยื่นขอตรวจสอบสินค้าเกษตรเพิ่มเติม คือ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง นอกเหนือจากผลไม้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image