“สุริยะ” ป้อง “บิ๊กตู่” ยันไม่ได้แลกเปลี่ยน เอื้อคิงส์เกต ประเคนที่ดิน 44 แปลง ถอนฟ้องอนุญาโตตุลาการฯ
วันนี้ (17 ก.พ.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ต่อเป็นวันที่ 2 หลังจาก น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายเปิดเอกสารลับที่สุดของรายงานคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัทคิงส์เกตฯ โดยไฮไลต์ในหนังสือเขียนไว้ว่า หากตกลงกันได้บริษัทคิงส์เกตฯ ต้องถอนคดีจากอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเอกสารนี้ชี้ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบรู้เห็นเป็นใจว่า ไทยแพ้คดี และมอบหมายให้หน่วยงานเจรจาเพื่อยอมความ มอบนโยบายให้เอาทรัพยากรของประเทศประเคนให้เพื่อให้เขายอมถอน โดยยกกระแสข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2563 ที่รัฐบาลจะให้บริษัทอัคราฯ บริษัทลูกของบริษัทคิงส์เกตฯ จะได้รับอนุญาตให้นำผงทองคำและเงินออกมาจำหน่าย รวมถึงได้อาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจแร่ทองคำเพิ่มอีก 44 แปลง
ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทำให้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลุกขึ้นชี้แจงว่า การขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ จำนวน 44 แปลงที่ น.ส.จิราพร บอกว่า เป็นจำนวน 2 แสน-4 แสนไร่นั้น ขอยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องของอนุญาโตตุลาการ กับบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากได้มีการยื่นมาตั้งแต่ปี 2546 และ 2548 แค่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้น มีมติให้ชะลอการพิจารณาการอนุญาตสำรวจแร่ทองคำไว้ก่อน เนื่องจากห่วงใยเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยได้มีการให้สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปศึกษาและจัดทำนโยบายแร่ทองคำ ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2552 ต่อมา ครม.มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำความคิดเห็นดังกล่าวไปพิจารณา ในเดือนพฤษภาคม 2554 กระทรวงอุตสหกรรมได้พิจารณา ประกอบกับความเห็นจากหน่วยงานตางๆ และจัดทำประกาศนโยบายทองคำแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่จัดทำนโยบายและเสนอครม. มีการยุบสภาเสียก่อน ทางสำนักงานเลขาธิการ ครม.จึงส่งเรื่องคืนมาที่กระทรวงอุตสาหกรรม หลังจากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับนโยบายแร่ทองคำ
นายสุริยะกล่าวว่า ในช่วงปี 2557 มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทอัคราฯ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ และประชาชนได้ยื่นข้อเรียกร้องไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ดังนั้น เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ทาง พล.อ.ประยุทธ์จึงได้มีการออกคำสั่งมาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการทองคำทุกรายทั่วประเทศ ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเป็นการชั่วคราว ซึ่งตนคิดว่า ในขณะนั้นใครก็แล้วแต่ที่อยู่ในฐานะนายกฯหรือหัวหน้า คสช.เมื่อมีการร้องเรียนของประชาชน และมีผลกระทบต่อสุขภาพมาตลอด มีการขัดแย้งในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ของประชาชน การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งมาตรา 44 นั้น คิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นในขณะนั้น แต่ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ให้นโยบายคณะกรรมการแร่แห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ไปจัดทำนโยบายทองคำเพื่อให้การทำเหมืองแร่ทองคำสามารถดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนให้ได้ เพื่อให้เสนอต่อ ครม. ต่อมา ครม.ก็เห็นชอบในเดือนสิงหาคม 2560 และต่อมาคณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติ ได้มีมติให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตและกลับมาประกอบการภายใต้นโยบายทองคำได้
“ดังนั้น บริษัทอัคราฯ จึงได้กลับมาเดินเรื่องขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจจำนวน 44 แปลง ที่เคยขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2546 และ 2548 ดังนั้น การมาเดินเรื่องคำขออนุญาตดังกล่าว และทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้อนุญาตไปนั้น จึงเป็นไปตามมติของคณะกรรมการแร่แห่งชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนเพื่อการถอนฟ้องแต่อย่างใด” นายสุริยะกล่าว
นายสุริยะกล่าวต่อว่า ส่วนที่ระบุว่า บริษัทคิงส์เกตฯ ได้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 22,500 ล้านบาท และบอกว่า รัฐบาลไทยแพ้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ขอบอกว่า ถ้ารัฐบาลไทยแพ้ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งคิงส์เกตฯ เขาคงไม่มาเจรจา เขาได้เงิน 22,500 ล้านบาท ก็เก็บใส่กระเป๋าทันที ทำไมจะเอามาแลกกับการขออาชญาบัตร เพราะกว่าจะลงทุนทำกำไลได้ ที่ผ่านมาระยะเวลา 15-20 ปี บริษัทอัคราฯมาลงทุนในเมืองไทยกำไลคิดว่าไม่เกิน 5 พันล้านบาท เพราะฉะนั้น ถ้าเอาจำนวนครบต้องอีก 25 ปี ถึงจะได้มา 22,500 ล้านบาท ดังนั้น ขอยืนยันว่าการที่คิงส์เกตฯกลับมาเจรจานั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องทางรัฐบาลจะไปเอื้อประโยชน์ให้เขา แต่เขาคิดว่าการกลับมาดำเนินกิจการต่อเพราะคิดว่าราคาทองคำเป็นราคาที่ขึ้นมาพอสมควร