ธุรกิจไซส์เล็กครองตลาดบริหารจัดการโครงสร้างและระบบคอมพิวเตอร์ สร้างเงินกว่า2หมื่นล้าน

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมได้วิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าจับตามองประจำเดือนมกราคม 2564 พบว่า ธุรกิจบริหารจัดการโครงสร้างและระบบคอมพิวเตอร์ เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ หากมองย้อนหลังลงไปในช่วงที่ผ่านมาระหว่างปี 2560-2562 พิจารณาจากข้อมูลการนำส่งงบการเงินประจำปีที่นิติบุคคลนำส่งต่อกรม จะเห็นว่าผลการประกอบธุรกิจมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีรายได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเปรียบเทียบระหว่างปี 2561 ที่มี 14,327.76 ล้านบาท และปี 2562 ที่มี 20,105.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 40.32%

นายทศพล กล่าวต่อว่า แม้ปี 2562 ธุรกิจกลุ่มนี้ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามที่กล่าวมาแล้ว พบว่า นิติบุคคลส่วนใหญ่ที่ดำเนินกิจการในธุรกิจบริหารจัดการโครงสร้างและระบบคอมพิวเตอร์เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากถึง 99% โดยมีสัดส่วนรายได้ถึง 14,493.66 ล้านบาท หรือคิดเป็น 72% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอย่างกรุงเทพมหานคร 674 ราย คิดเป็น 59.17% และจังหวัดในภาคกลาง 245 ราย คิดเป็น 21.51% สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของธุรกิจไทยด้านการปรับตัวและพัฒนาเทคโนโลยี สำหรับทั้งธุรกิจผู้ให้บริการเองและธุรกิจทั่วไปที่ต้องการวางระบบการบริหารงานเข้าสู่เทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การครองตลาดของธุรกิจขนาดเล็กยังแสดงให้เห็นถึงโอกาสของธุรกิจในการแข่งขันระหว่างกันได้อย่างเท่าเทียมด้วย

นายทศพล กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ธุรกิจบริหารจัดการโครงสร้างและระบบคอมพิวเตอร์เติบโตเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ 1. นโยบายภาครัฐด้านการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องพัฒนาระบบโครงสร้างของตนเองให้รองรับระบบงานเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ธุรกรรมออนไลน์ และการบริหารข้อมูลในองค์กร เป็นต้น รวมไปถึงเมื่อมีลูกค้าเข้าใช้บริการผ่านทางระบบออนไลน์จำนวนมากขึ้น ทำให้ธุรกิจมีฐานข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าซึ่งต้องดำเนินการให้อยู่ภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งในปี 2564 มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจต้องเร่งวางระบบโครงสร้างคอมพิวเตอร์ให้ครอบคลุมถึงการรักษาข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าตามกฎหมายและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วย

และ2. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดชีวิตวิถีใหม่ลดการเดินทาง ลดการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน ผู้บริโภคจึงหันมาซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ผ่านทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ธุรกิจจึงจำเป็นต้อง วางระบบโครงข่ายคอมพิวเตอร์ให้ขยายเข้าสู่ตลาดออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

Advertisement

นายทศพล ต่ออีกว่า สำหรับปี 2564 คาดว่าธุรกิจบริหารจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรองรับปัจจัยในข้างต้นและรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดี ความท้าทายของธุรกิจนี้จะอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่แม้ว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่จะขยายตัวตาม แต่ก็ส่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของธุรกิจที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีที่รวดเร็วด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image