ไม่ว่าคนไทยมาจากไหน ‘เชื้อชาติไทย’ก็ไม่มีจริง

คนพื้นเมืองดั้งเดิมชาติพันธุ์ต่างๆ แถบลุ่มน้ำโขง (ภาพจากหนังสือ A Pictorial Journey on the old Mekong, Cambodia, Laos and Yunnan by Louis Delaporte and Francis Garnier)

‘คนไทยมาจากไหน ?’ คือประเด็นแห่งการถกเถียงระดับอภิมหาตำนานใน ‘ประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์’ สังคมไทย

แผนที่โซเมียทางภาคใต้ของจีน

ทว่า ในรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ประจำเดือนเมษายน พุทธศักราช 2564 ที่จะเผยแพร่ให้รับชมกันในวันพรุ่งนี้ ไม่ได้มีเนื้อหาหลักในการเปิดปมคำถามสำคัญที่ฟาดฟันทางความคิดมาแสนนาน หากแต่เป็นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่ ขรรค์ชัย บุนปาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขอส่งเทียบเชิญชี้ชวนมาร่วมทำความเข้าใจ ว่า ‘ชาติพันธุ์ ล้วนบรรพชนไทย เชื้อชาติไทยไม่มีจริง’

และนั่นก็คือชื่อตอนที่พร้อมออนแอร์พร้อมกันในค่ำคืนของวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายนนี้

“เราหลงทางในประวัติศาสตร์นานมาก เอาวิธีคิดคลั่งชาติมาใช้ นอกจากดูถูกชาติพันธุ์อื่นแล้วยังรังแกด้วย” สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน อดีตบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กล่าวท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นริมคลองตะเคียน พระนครศรีอยุธยา โดยมีฉากเบื้องหน้าคือ ‘มัสยิดกุฎีช่อฟ้า’สถาปัตยกรรมล้ำค่าด้วยความเป็นมาอันยาวนาน

Advertisement

สบตาสนทนากับ ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกันนำเสนอข้อมูล หลักฐาน และภาพถ่ายเก่าที่แสดงถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในดินแดนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อดีตสองกุมารสยาม เลือกปักหมุด ณ จุดนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า

กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง (ลายเส้นฝีมือชาวยุโรป พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1873)

“เพราะเนื้อหาหลักเกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ ซึ่งกรุงศรีอยุธยาถือเป็นศูนย์รวมชาติพันธุ์อย่างมหึมา”

Advertisement

มัสยิดแห่งนี้ กล่าวกันว่าเป็นที่ตั้งของมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในอยุธยา เดิมชื่อว่า ‘จามมัสยิด’ โดยมีการเปลี่ยนชื่ออย่างน้อย 3 ครั้ง จนมาใช้ชื่อมัสยิดกุฎีช่อฟ้าในทุกวันนี้ ตั้งอยู่ริมคลองตะเคียนซึ่งยังใสสะอาด ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ บริเวณเกาะเรียน นับเป็นคลองที่มีประวัติศาสตร์ของตัวเองมากมาย

“ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศส บันทึกไว้ว่ามี 42 ชาติพันธุ์ที่เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นจริงๆ ต้องมีมากกว่านั้น แต่ประวัติศาสตร์ไทยมักพูดเหมือนมีแต่คนไทย สมัยนั้นไม่มีใครเป็นคนกลุ่มใหญ่ เพราะมีพอๆ กัน เมื่อไม่มีกลุ่มใหญ่ ก็ไม่มีคนกลุ่มน้อย คนที่อำนาจมากกว่า คือมีเงินซื้อปืน ซื้ออาวุธ เพราะฉะนั้น อย่าหลงตัวเอง อย่าสำคัญตนผิดว่าความเป็นไทยไม่เหมือนใครในโลก”

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ย้ำว่า แนวคิดเรื่องเชื้อชาติเพิ่งมีในยุโรปเมื่อ 200 กว่าปีมานี้เอง แล้วแผ่มารัตนโกสินทร์ ไทยเพิ่งรับมาในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 สมัยสุโขทัย อยุธยา ไม่มีเชื้อชาติไทย

“เมื่อถอดความเป็นไทย ก็เหลือความเป็นคนซึ่งต้องมาก่อน”

ทั้ง 2 วิทยากรอาวุโสเกริ่นเป็นน้ำจิ้มที่ปรุงเองด้วยวัตถุดิบคือข้อมูลเข้มข้นก่อนให้รับชมและรับชิมประวัติศาสตร์จานใหญ่ในคืนพรุ่งนี้ว่า ชาติพันธุ์ล้วนเป็นคน แต่เป็นคน ‘ไม่ไทย’ ทว่า เป็นส่วนหนึ่งของบรรพชนคนไทย ในโลกความเป็นจริง ก่อนเป็นไทย ล้วนเป็นคน หากลดความเป็นไทย เพิ่มความเป็นคน จะพบว่า ‘คนเท่ากัน’

ถามว่าบรรพชนไทยเป็นใครบ้าง ตอบกว้างๆ คืออย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ

1.พวกที่มาจากโซเมีย ทางภาคใต้ของจีน กระจายลงมาข้างล่าง

2.พวกร้อยพ่อพันแม่ในอุษาคเนย์

3.พวกนานาชาติ มาจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย ลังกา อิหร่าน ยุโรป ต่อมามีอเมริกาด้วย เป็นต้น ขนาดสุนทรภู่ ต้นตระกูลยังมาจากอินเดียใต้คือพราหมณ์รามราช ท่านเขียนบอกไว้เอง”

โล้ชิงช้า มาจากกะเหรี่ยง (ภาพถ่ายสมัย ร.5 ที่เสาชิงช้า หน้าโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพฯ)

สำหรับคำว่า ‘ไทย’ ถูกใช้ในรัฐอยุธยามากกว่า 600 ปีมาแล้ว ต่อมา เมื่อ ‘สยาม’ เปลี่ยนนามเป็น ‘(ประเทศ)ไทย’ ใน พ.ศ.2482 ก็ยิ่งถูกใช้เรียกแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม ในผืนแผ่นดินราชอาณาจักรไทย กอปรขึ้นด้วยผู้คนหลายชาติพันธุ์ หลากที่มา ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ถามว่าเหตุใด ประเด็นเรื่องเชื้อชาติไทย คนไทย และความไม่ไทย จึงกลายเป็นประเด็นที่ต้องถูกหยิบยกขึ้นมาส่องสปอตไลต์ในช่วงเวลานี้

สุจิตต์ บอกว่า ปัจจุบันเกิดสถานการณ์ต่างๆ ที่ผู้ถูกเรียกว่า ‘คนต่างด้าว’ และกลุ่มชาติพันธุ์โดนดูแคลน กีดกัน ด้วยเหตุผลแบบ ‘ไทยๆ’ เรื่องความเป็นไทย คำอธิบายในเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดี อีกทั้งมานุษยวิทยาเพื่อสร้างความเข้าใจจึงสำคัญ ในการอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติ

“ประเด็นสำคัญตอนนี้คือกะเหรี่ยงโดนดูถูก ทั้งที่เขาอยู่กับบรรพชนไทยมาตั้งแต่ 2,000 ปีที่แล้วตั้งแต่ที่โซเมีย กะเหรี่ยงคือคนผลิตมโหระทึก เมื่อ พ.ศ.2500 ยังผลิตอยู่ เทคโนโลยีสืบเนื่องกันมา การโล้ชิงช้าในไทย ก็มาจากกะเหรี่ยง อีก้อ เพื่อขอลม ให้แดดออก พืชพันธุ์จะได้สุกไว พราหมณ์อินเดียไม่มีโล้ชิงช้า แต่ถูกนำมาผนวกภายหลัง พราหมณ์ในเขมรก็ไม่มีโล้ชิงช้า

“กะเหรี่ยงชอบอยู่บนเขา ถนัดทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย คนเข้าใจผิด กะเหรี่ยงอยู่ที่ไหน ต้นไม้ใหญ่ไม่เคยถูกตัด แต่ไปโยนบาปให้เขา เป็นทัศนคติที่มาจากการศึกษาที่ชักนำไป เรื่องแบบนี้เห็นมาตั้งแต่ พ.ศ.2507 ตอนไปสำรวจแหล่งโบราณคดี เจอเขาหัวโล้นที่ไหน เจอโรงเลื่อยแถวนั้น อย่าใส่ร้ายกะเหรี่ยง เรื่องแบบนี้พูดหนเดียวไม่พอ เพราะถูกกรอกหูมา 100 ปี”

จับช้างในเพนียดที่อยุธยา
ภาพถ่ายสมัย ร.5 ชาติพันธุ์ ‘กูย’ มีบทบาทสำคัญ

ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วน แต่ สุจิตต์ ยังย้อนเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวในอดีตโดยใน พ.ศ.2497 ซึ่งเพิ่งเก็บเสื้อผ้าใส่ย่ามลงเรือต่อรถจากบ้านโคกปีบ ปราจีนบุรี เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ว่า ยุคนั้นถ้าใครพูดภาษาถิ่น โดยเฉพาะอีสานจะโดนดูถูก เมื่อครั้งเขียนหนังสือ ‘เจ๊กปนลาว’ ก็ถูกด่าขรมจากสังคมในหลายภาคส่วน

“ปัญหาเกิดจากความคลั่งชาติ ดังนั้น ควรเขียนประวัติศาสตร์กันใหม่ ประเด็นเรื่องเชื้อชาติ บางประเทศยกออกจากรัฐธรรมนูญไปแล้ว เพราะเป็นต้นเหตุของการเข่นฆ่ากัน บรรพชนไทย ผสมผสานหลากหลาย ไม่มีไทยแท้”

สุจิตต์กล่าว ส่วนขรรค์ชัยลงตราประทับรับรองความเห็นพ้องเป็นอันเรียบร้อย

อย่าลืมรับชมฉบับเต็มที่เข้มข้นไม่หลุดคิวซี พฤหัสบดีนี้ 2 ทุ่มตรง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image