อารมณ์ สังคม ประยุทธ์ จันทร์โอชา อารมณ์ วัคซีน

ถามว่าความเห็นของ หอการค้าไทย ความเห็นของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ความเห็นของ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ต่อปัญหา “วัคซีน”

แตกต่างจากความเห็นของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือไม่

อาจแตกต่างใน “เนื้อหา” และ “รายละเอียด” หลายประการ แต่บทสรุปตรงกัน นั่นก็คือ ต้องการให้มีการ กระจาย “วัคซีน”

ไม่จำกัดอยู่ในแบบ “แทงม้าตัวเดียว”

Advertisement

ถามว่าความเห็นไม่ว่าจะมาจาก 40 ซีอีโอ ไม่ว่าจะมาจาก 100 ซีอีโอ แตกต่างไปจากความเห็นของ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่

อาจแตกต่างใน “เนื้อหา” ใน “ลีลา”

กระนั้น เมื่อสรุปรวบยอดของความเห็นแล้วก็สอดรับกันอย่างมิได้นัดหมายตรงที่เรียกร้องและต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง “ภายใน” ของรัฐบาล

Advertisement

เน้นไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นไปยัง นายอนุทิน ชาญวีรกูล

หากตรวจสอบเสียงสะท้อนของ นักธุรกิจภาค “เอกชน” ประสานเข้ากับเสียงสะท้อนของ นักการเมืองในปีกของพรรคฝ่ายค้าน ประสานกับ “อารมณ์” ในทางสังคม

โพลบางสำนักระบุ ร้อยละ 70 เห็นว่าการจัดหา “วัคซีน” ล่าช้า

ภายหลังการเสียชีวิตของ นายอาคม ปรีดากุล หรือ “น้าค่อม” ดาราตลกยอดนิยม ได้เกิดความรู้สึกร่วมกันอย่างมีนัยสำคัญอย่างหนึ่ง

นั่นก็คือ หากได้ฉีด “วัคซีน” ทั่วถึง “น้าค่อม” คงไม่ตาย

ต้องยอมรับว่า ความรู้สึก “ร่วม” ในทางสังคมมีความสำคัญเป็นอย่างสูง และส่วนหนึ่งก็สะท้อนผ่านการล่ารายชื่อของ “หมอไม่ทน”

ที่ได้มากกว่า 2 แสนยืนยันได้อย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อย้อนกลับไปนำเอาบทสรุปของ “ซีอีโอ” หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำมาเทียบเคียงกับ “โพล” และ “ความเห็น” ประชาชน

ก็ได้เกิดเป็น “ประชามติ” อันเด่นชัดขึ้นมา

สังคมไทยยอมรับว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เป็นปัญหาใหญ่ หนักหนาสาหัส และที่ยอมรับต่อมาก็คือเห็นว่าการจัดหา “วัคซีน” คือปัญหาสำคัญ

ถามว่าใครรับผิดชอบในเรื่อง “วัคซีน”

ถามว่าเหตุใดจึงเกิดความไม่พอใกระทั่งมิอาจเก็บงำเอาไว้ได้จาก หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน

ทั้งที่เห็นการเชือดไก่มาแล้วในกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

คำตอบก็อ่านได้จากผลการสำรวจความเห็นประชาชนโดย “โพล” สำนักหนึ่งที่ร้อยละกว่า 70 เห็นว่าการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลล่าช้า

ล่าช้าไม่ทันกับความเป็นจริงของ “สถานการณ์”

ความรู้สึกนี้ไม่เพียงแต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการบริหารจัดการของประเทศ “อื่น” หากแต่ที่สำคัญก็คือ ล้วนประสบพบเจอมาด้วยตนเอง

จึงได้กลายเป็นอารมณ์ “ร่วม” ขึ้นในสังคมไทย

อารมณ์ร่วมที่ก่อรูปจากการตั้งข้อสังเกตของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มายังหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน มี “ความหมาย” หรือไม่

ตรงนี้คือคำถามไปยัง 1 รัฐบาล 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ 1 นายอนุทิน ชาญวีรกูลรัฐมนตรีสาธารณสุข

คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับ “การปฏิบัติ” มิได้อยู่ที่ “การพูด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image