รายงาน : เสาฆ่าเชื้อ UVC พิชิตเชื้อ ‘โควิด-19’ 100%

รายงาน : เสาฆ่าเชื้อ UVC พิชิตเชื้อ ‘โควิด-19’ 100%

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ ยังไม่มีที่ท่าว่าจะคลี่คลายลง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นทุกวัน รวมถึง ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ยังพุ่งไม่หยุด

ล่าสุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ “TSE UVC Sterilizer” หรือเสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ผลงานของ ผศ.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.ผู้คิดค้น และพัฒนานวัตกรรม ซึ่งเสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ทำงานระบบอัตโนมัติ ใช้เวลาเพียง 20 นาที เชื้อโควิด-19 เดี้ยง เหมาะสำหรับพื้นที่กว้าง เช่น ตลาด หรือห้างสรรพสินค้า

ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ (TSE) โดย รศ.ธีร เจียรศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.และ รศ.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ.ร่วมกันเปิดเผยความสำเร็จผลการคิดค้น และผลิตนวัตกรรมเสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ได้สำเร็จ มีลักษณะเป็นเสาสูง 1.2 เมตร พร้อมติดตั้งหลอดไฟ 4 ด้าน ที่มีกำลังสูงพอที่จะทำลายผนังเซลล์ของไวรัสโควิด-19 โดยหลอดไฟจะทำมุม 20 องศา ซึ่งจะทำให้ฉายแสงลงถึงพื้นผิวดิน หรือผิวถนนได้

Advertisement

ผศ.ปรัชญา ในฐานะผู้คิดค้น และพัฒนานวัตกรรม เปิดเผยว่า เสาฆ่าเชื้อดังกล่าว เหมาะสำหรับฉายแสงฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในพื้นที่กว้าง เช่น ตลาด หรือพื้นผิวต่างๆ เนื่องจากแสง UVC มีศักยภาพที่จะฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้แบบ 100%

อย่างไรก็ตาม แสง UVC เป็นแสงที่มีอันตรายมาก เพราะสามารถทะลุผ่านเซลล์ผิวหนังมนุษย์ได้ หรือหากจ้องมองนานเกิน 5 นาที อาจทำให้ตาบอดได้ ฉะนั้น จำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวัง และถูกวิธี ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิด โดยผู้ใช้ต้องถอยออกมาจากพื้นที่ฉายแสงอย่างน้อย 10 เมตร

“เราได้ออกแบบให้สามารถตั้งเวลาถอยหลังได้ คือเมื่อเปิดใช้งานแล้ว เครื่องจะเริ่มทำงานหลังจากนั้น 5-10 นาที ทำให้ผู้เปิดใช้งานถอยออกมาได้ จากนั้นเครื่องจะทำงานอย่างอัตโนมัติอีกเป็นเวลาราว 20 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยรัศมีของแสงจะห่างจากจุดติดตั้งเสาประมาณ 2 เมตร” ผศ.ปรัชญา กล่าว

Advertisement

รศ.ธีร เสริมว่า เสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC เหมาะสำหรับนำไปใช้ในพื้นที่กว้างในช่วงเวลาที่ไม่มีคน เช่น ตลาด แผงค้า ห้างสรรพสินค้า สนาม พื้นที่สาธารณะ ฯลฯ ที่ปิดแล้ว โดยการใช้งานง่ายมาก เพียงแค่นำไปตั้งตามจุดต่างๆ เปิดคำสั่งอัตโนมัติ และถอยออกมา เมื่อเครื่องทำงานเสร็จในแต่ละรอบก็จะดับไปเอง ทำให้สามารถย้ายไปยังจุดอื่นๆ ได้ต่อไป

“ข้อดีของการฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC คือเชื้อไวรัสจะตาย 100% ในทุกๆ ที่ที่แสงส่องถึง ไม่ต้องเช็ดเหมือนแอลกอฮอล์ ไม่ต้องใช้กำลังคนมาก แต่ในกรณีที่แสงส่องไม่ถึง หรือไม่ทะลุ เช่น ผื้นผิวที่อยู่ด้านหลัง ก็จะไม่ถูกฆ่าเชื้อ โดยเครื่องนี้มีต้นทุนการผลิตราว 3,000-4,000บาทเท่านั้น” รศ.ธีร กล่าว

ปิดท้ายที่ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ.กล่าวว่า คณาจารย์ มธ.ได้ร่วมกันคิดค้น และผลิตเสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ออกมา 4 เครื่อง ล่าสุดได้มอบให้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคโควิด-19 ตลาดพรพัฒน์ เพื่อนำไปใช้ฆ่าเชื้อหลังการพ่นยาในบริเวณตลาดพื้นที่เสี่ยง โดยมี นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี และทีมบุคลากรฯ เป็นผู้แทนรับมอบ

โดยอาจารย์ และทีมบุคคลากร TSE ใช้เวลาเพียง 2-3 วัน หลังจากได้รับการประสานงานจากสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 4 ในการผลิตเครื่องดังกล่าว เพื่อให้ทันต่อการใช้งาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image