นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ระดับ 71.74 จุด ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 64.85 จุด หรือเพิ่มขึ้น 6.89 จุด และคิดเป็น 10.63% ปัจจัยจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่
ทั้งนี้ คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 จากกลุ่มตัวอย่าง 382 ตัวอย่าง พบว่า 38% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำ ขณะที่ 35% ระบุไม่ซื้อทองคำ และอีก 27% คาดว่าจะซื้อทองคำ โดยผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ 13 ตัวอย่าง พบว่า 8 รายเชื่อว่าราคาทองคำในเดือนมิถุนายน 2564 จะเพิ่มขึ้น อีก 3 รายคาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับเดือนพฤษภาคม ส่วน 2 รายคาดว่าราคาจะลดลง ซึ่งผู้ประกอบการกิจการทองคำคาดการณ์ราคาทองคำ ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ย 1,826 – 1,951 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ราคาทองคำแท่งในประเทศ(ความบริสุทธิ์ 96.5% )ให้กรอบเฉลี่ย 27,300 – 28,800 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาท 30.94 – 31.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
นายพิบูลย์ฤทธิ์ กล่าวต่อว่า การลงทุนทองคำในเดือนมิถุนายนนี้ ผู้ค้าทองคำรายใหญ่เห็นว่าราคาทองคำยังคงมีแนวโน้มแกว่งตัวไปในทิศทางเชิงบวก หากราคาทองสามารถยืนอยู่เหนือแนวรับ 1,843 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ได้ คาดว่าราคาทองจะค่อยๆขยับขึ้นทดสอบแนวต้านแรกที่ 1,959 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเท่าเดือนมกราคม 2564 และเป็นระดับสูงสุดของปี 2564 แม้ว่าแนวโน้มราคาทองจะเป็นบวก แต่นักลงทุนยังคงต้องระมัดระวังแรงขายสลับออกมา หากไม่มีปัจจัยบวกเพิ่มเติม
สำหรับราคาทองคำในวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ครึ่งวันแรก มีการเปลี่ยนแปลงราคา 2 ครั้ง โดยเปิดตลาดบวก 200 บาทต่อ1 บาททองคำ จากนั้นลดลง 50 บาท ทำให้ทองแท่งราคารับซื้อ 27,800 บาท ขายออก 27,900 บาท ทองรูปพรรณ รับซื้อ 27,303.16 บาท ขายออก 28,400 บาท ราคาทองโลก 1,899.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อัตราแลกเปลี่ยน 31.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ