นักวิจัยสหรัฐพัฒนาสารเคลือบ ดักจับฝอยละอองเชื้อก่อโรคโควิด-19

นักวิจัยสหรัฐพัฒนาสารเคลือบ ดักจับฝอยละอองเชื้อก่อโรคโควิด-19

เอเอฟพีรายงานว่า ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย นอร์ธเวสเทิร์น ในเมืองอีแวนสตัน รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่งานวิจัยในการพัฒนาสารเคลือบผิววัสดุสำหรับป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในวารสารวิชาการ เคม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนนี้ โดยทีมวิจัยซึ่งนำโดย ศาสตราจารย์ หวง เจี่ยซิง นักวิชาการด้านวิศวกรรมของมหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสารเคลือบผิววัสดุหลายชนิด เปลี่ยนสภาพพื้นผิวให้กลายเป็นอุปกรณ์ดักจับละอองฝอยที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ ป้องกันไม่ให้สะท้อนพื้นผิวออกมา และวนเวียนแพร่อยู่ในอากาศภายในห้อง เชื่อว่าเป็นทางหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในตัวอาคารได้

ศาสตราจารย์ หวง ระบุว่า ฝอยละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นจากการไอ จาม หรือ พูด ซึ่งแขวนลอยอยู่ในอากาศภายในห้อง จะวิ่งเข้ากระทบพื้นผิววัสดุที่เป็นผนังแบ่งห้องอาทิ เพล็กซีกลาส อยู่ตลอดเวลา เมื่อนำสารเคลือบที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นมาเคลือบผิวเพล็กซีกลาส ที่กั้นเป็นผนังแบ่งห้องไว้ สารดังกล่าวจะทำหน้าที่ดักจับละอองฝอยที่มีเชื้อโรคเหล่านั้นเอาไว้ ป้องกันไม่ให้กระดอนกลับไป และลอยหมุนเวียนอยู่ภายในห้อง ซึ่งเท่ากับเป็นการกำจัดตัวการที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดไปนั่นเอง

ทีมวิจัยพัฒนาสารดังกล่าวมาจากสาร “PAAm-DDA” สารโพลีเมอร์ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไปในผลิตภัณฑ์สำหรับแต่งผม และเครื่องสำอางต่างๆ สำหรับปิดกั้นความชื้นไว้กับผิวหน้า เป็นส่วนประกอบหลักในสารเคลือบที่พัฒนาขึ้นนี้ โดยเมื่อทดลองใช้แปรงทาเคลือบสารดังกล่าวลงบนผิวแพล็กซีกลาส และวัสดุอื่นๆ พบว่า สารเคลือบดังกล่าวสามารถดักจับฝอยละอองขนาดจิ๋วได้เกือบทั้งหมด และยังดักจับฝอยละอองขนาดใหญ่ได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผิววัสดุเดียวกันที่ไม่ได้เคลือบสารนี้

Advertisement

ทั้งนี้ เมื่ออิ่มตัวจะไม่ปรากฏร่องรอยเปื้อนให้เห็น และสามารถทำความสะอาดด้วยน้ำแบบเดียวกับการทำความสะอาดพื้นผิวปกติทั่วไป ก่อนที่จะเคลือบลงไปใหม่ นอกจากนั้นสารนี้ยังสามารถเคลือบพื้นผิววัสดุได้หลายชนิด ทั้งโลหะ, เพล็กซีกลาส, ผ้า และคอนกรีต ทำให้สามารถนำไปใช้เพื่อปรับเปลี่ยนผนังห้อง, ผ้าม่าน ให้กลายเป็นอุปกรณ์ดักจับได้โดยง่ายนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image