สธ.ปรับแผนวัคซีนเร็วขึ้น ‘หมอยง’ ชี้สายพันธุ์อินเดียมาแรง เร่งฉีดแอสตร้าเข็ม 2-ซิโนแวคโดส 3 รับมือ

สธ.ปรับแผนวัคซีนเร็วขึ้น ขณะที่ ‘หมอยง’ ชี้สายพันธุ์อินเดียมาแรง เร่งฉีดแอสตร้าฯเข็ม 2-ซิโนแวคโดส 3 รับมือ ห่วงเตียงโคม่า กทม.เหลือ 20 เตียง

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.จัดสรรวัคซีนกระจายไปยังพื้นที่แล้ว 8.5 ล้านโดส ตามแผนที่ ศบค.กำหนด ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ฉีดวัคซีนแล้ว 7,906,696 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 5,678,848 โดส และเข็มที่ 2 จำนวน 2,227,848 โดส ในจำนวนนี้เป็นวัคซีนซิโนแวค 5,550,891 โดส และแอสตร้าเซนเนก้า 2,355,805 โดส
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สำหรับวัคซีนแอสตร้าฯ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน กำหนดระยะห่างการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ สามารถขยายได้ถึง 16 สัปดาห์ โดยมอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. บริหารจัดการฉีดวัคซีนในพื้นที่ได้ตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์ฯพบว่าสายพันธุ์เดลต้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงเห็นชอบให้พื้นที่ที่มีการระบาดสามารถปรับระยะเวลาการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มที่ 2 ให้เร็วขึ้นจากปกติที่นัดห่างจากเข็มแรก 10-12 สัปดาห์ เป็น 8 สัปดาห์

ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สายพันธุ์เดลต้าหรือสายพันธุ์อินเดีย แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษประมาณ 1.4 เท่า จึงไม่แปลกที่สายพันธุ์เดลต้าจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์เดลต้าจะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทั่วโลก ในอนาคตอาจจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น โดยวัฏจักรแล้วจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน มีการศึกษาในสกอตแลนด์ ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 ตัวลดลง โดยไฟเซอร์จากเดิมป้องกันได้ ร้อยละ 90 เหลือร้อยละ 79 ส่วน แอสตร้าฯ ลดจากเดิมร้อยละ 80-90 เหลือ ร้อยละ 60 ดังนั้น ในไทยจะต้องชะลอการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าให้มากที่สุด และปรับแผนการฉีดวัคซีน เช่น ฉีดแอสตร้าฯ เข็ม 2 เร็วขึ้น หรือซิโนแวค ที่ฉีด 2 เข็มแล้วภูมิยังต่ำ ถ้ากระตุ้นเข็มที่ 3 เข้าไปก็เชื่อว่าจะทำให้ภูมิต้านทานสูงเป็นน้องๆ ไฟเซอร์ ขณะนี้กำลังศึกษาการให้เข็ม 3 ว่าจะให้ที่ 3 เดือนหรือ 6 เดือน รวมถึงการให้ชนิดเดิมหรือต่างชนิด หรือข้ามไปหาวัคซีนตัวใหม่ คือชนิด mRNA เลย

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขต กทม.และปริมณฑล ที่มีผู้ป่วยใหม่มากกว่า 1,000 รายต่อวันต่อเนื่องกว่า 2 เดือน โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีแดง หรือกลุ่มที่มีอาการหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง ที่มีอาการปานกลาง ทำให้มีความต้องการเตียงในกลุ่มนี้สูงขึ้น พบว่า ขณะนี้จำนวนเตียงในสถานพยาบาลภาครัฐ ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง มีจำนวนครองเตียงอยู่ที่ 409 ราย เหลือเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดสีแดงเพียง 20 เตียง เท่านั้น ซึ่งต้องเก็บไว้รองรับผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะฉุกเฉิน หรือต้องผ่าตัดหรือเหลือเร่งด่วน ขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองมีจำนวนครองเตียงอยู่ที่ 3,937 ราย เหลือเตียงรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองอีกประมาณ 300 เตียง เท่านั้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image