ตู้หนังสือ : เธอ ฉัน สวรรค์ นรก วิทยาศาสตร์แสนสนุก

สองสัปดาห์นี้ หมอประกาศข่าวน่าตกใจและน่ากังวลใจยิ่งไปอีก ว่าปริมาณผู้คนติดเชื้อโรคระบาดอาจสูงถึงวันละหมื่นคน บางคนบอกว่า ช่วงนี้ไวรัสมาเคาะประตูหน้าบ้านแล้ว จะ “ล็อก” หรือจะยัง “อันล็อก” ต่อไป ก็ต้องว่าให้เด็ดขาดไปตามสถานการณ์ เราประชาชนคนรอวัคซีน หรือหลายคนรอวันหายในสถานพักพื้น หลายคนนอนรอหมออยู่หน้าโรงพยาบาล หลายคนนอนเจ็บตามยถากรรมอยู่บ้าน สัปดาห์นี้ก็ยังต้องหาหนังสือดีให้คนอยู่บ้านที่ยังไม่ติดโรคอ่านกัน

ระยะนี้ก็ยังมีบริการจองหนังสือดีล่วงหน้า ให้ส่งอ่านถึงบ้าน ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 กรกฎาคม เป็นงานชุดวิทยาศาสตร์แสนสนุกของอาจารย์ นำชัย ชีววิวรรธน์ ผอ.ฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตศิษย์เก่าดีเด่น คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล เป็นผู้เล่าเรื่องยากให้ฟังง่ายๆ ซึ่งนักอ่านรู้จักฝีมือกันดีจากงานเล่มก่อนๆ

  เล่มใหม่ล่าสุดก็คือ เธอ ฉัน สวรรค์ นรก เรื่องสนุกน่าตื่นเต้นที่ใช้วิทยาศาสตร์ไขความรู้สึก เปิดอก สำรวจใจ ทำไมเธอเป็นแบบนี้ ทำไมเขาทำแบบนั้น ทำไมฉันไม่เข้าใจเลย โลกนี้จะซับซ้อนไปไหม จริงๆ แล้วมีคำตอบอะไร ซ่อนอยู่ที่ไหนกันแน่ และจะน่าทึ่งพิสดารเกินไปไหม หากให้วิทยาศาสตร์ตอบ นี่จึงเป็นความน่าสนใจและน่าตื่นเต้นแท้ๆ

Advertisement

 

เพื่อรู้ทันสวรรค์ในอก ไขปริศนานรกในใจ สำรวจสารพันอารมณ์ รัก เศร้า เหงา หึงหวง ยันหัวร้อนทั้งหลายทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ผ่านงานวิจัย และคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์อันแสนสนุก กับงานชุด “ป๊อป ไซเอนซ์” ลำดับ 3 ที่อยากให้บรรดานักอ่าน ได้ชวนเขาหรือเธอผู้ใกล้ชิดหัวใจมาอ่านด้วยกัน เพื่อแบ่งปันความรู้อันบันเทิง ความเริงรมย์อันเปี่ยมสาระ

เล่มนี้สั่งจองล่วงหน้าได้ในราคาเพียง 221 บาท จากเดิม 260 บาท พิเศษด้วยลายเซ็นผู้เขียน และที่คั่นหนังสือน่าเอ็นดู

Advertisement

  เล่มต่อมาคือเรื่องชวนพิศวงในพฤติกรรมหลายลักษณะของมนุษย์เอง อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก อ่านแล้วชายหนุ่มทั้งหลายที่กำลังจะชวนหญิงสาวไปดูหนังรัก ต้องอึ้ง เลิกคิดจะทำอย่างที่ตั้งใจ และใครอีกหลายคนอาจต้องประหลาดใจว่ามนุษย์ก็เหมือนแมลง ว่ากลิ่นตัวของหญิงสาวนี่แหละ ที่เป็นเครื่องช่วยหาคู่ได้ดีนัก

อ่านขอรักมั่นวันไข่ตก, สูดหาคู่, คุณพ่อมือใหม่ วัยว้าวุ่น หรืออยากลืมกลับจำ, รู้ไหมว่าลืมมากกว่าจำ, ปลาทองเกี่ยวอะไรกับประตู และที่ชวนอึ้งยิ่งไปอีกคือ โลกสมาธิสั้น, โรคดิจิทัล, เสพติดเน็ต ฯลฯ

เล่มนี้จองได้ในราคาเพียง 162 บาท จากราคาเดิม 190 บาท

 

  เล่มถัดมายิ่งพิสดารและถูกจริตคนส่วนมากเข้าไปอีกคือ อยากชวนเธอไปอำผี ว่าด้วยวิทยาศาสตร์สุดเฮี้ยน ที่คราวนี้จะนำนักอ่านไปสู่อีกมิติของโลกแห่งภูต ผี ปีศาจ สัตว์ประหลาด และความเชื่อเหนือธรรมชาติทั้งปวง และเรื่องราวทั้งหลายกับคำอธิบายที่ปรากฏนี้ มิได้ชวนให้เชื่อ แต่เพื่อสยบสิ่งเหล่านี้หรือเรื่องเหล่านี้ด้วยผลวิจัยวิทยาศาสตร์ ที่ผู้เขียนนำมาย่อยละเอียด ให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย เพื่อลบล้างมโนคติเกี่ยวกับความเชื่อผิดๆ มาแต่ไหนแต่ไร ด้วยการใช้ฟิสิกส์ตรวจจับผีแบบวิทย์ๆ หนังสือเล่มนี้จึงแทบเรียกได้ว่าเป็นวัคซีนป้องกันอาการกลัวผี กลัวสิ่งลี้ลับ โดยวิธีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างจะแจ้งนี่เอง

เล่มนี้จองได้เพียง 170 บาท จากราคาเดิม 200 บาทถ้วนๆ

ที่สำคัญ หากจองล่วงหน้าพร้อมกันทั้ง 3 เล่ม ก็จะได้ในราคารวมทั้งหมด 500 บาท จากราคาเดิม 650 บาท อ่านผ่อนคลายได้บ้างยามนี้

  หรือหากเวลาอยู่บ้านดูเนิ่นนานไปจนใจคอไม่สงบ อาจหาหนังสือเล่มโตที่เป็นวรรณกรรมระดับนานาชาติ ซึ่งโด่งดังเป็นที่ประจักษ์ ทั้งเคยเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทำเงินสูงสุดตลอดกาลมากว่าครึ่งศตวรรษ เป็นงานยอดนิยมสูงสุดมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ก็ต้องเล่มนี้ วิมานลอย หรือ Gone with the Wind ของ มาร์กาเรต มิทเชล ที่แปลโด รอย โรจนานนท์ พิมพ์ใหม่ครั้งที่ 9 ปกแข็ง

 

สุดยอดวรรณกรรมโลกที่นักอ่านลืมไม่ลง ด้วยเรื่องราวและวรรณศิลป์อันงดงาม เรื่องชีวิตรักและผู้คน ทั้งทางเหนือและทางใต้ของสหรัฐอเมริการะหว่างสงครามกลางเมือง ที่นักอ่านจะไม่พบฉากการรบราฆ่าฟันอันโหดร้าย แต่กลับทำให้กลัว หดหู่ สูญเสีย ไปพร้อมๆ กับตัวละคร ทั้งยังเห็นวิถีชีวิตคนอเมริกันท่ามกลางความขัดแย้ง วัฒนธรรม ค่านิยม และพฤติกรรมอันเนื่องมาจากความเชื่อที่แตกต่าง กับสัมพันธภาพของคนผิวขาวเจ้าของทาสผิวดำ

งานที่เมื่อผ่านสายตาแล้วจะจำหลักในความทรงจำไปนาน

  หนังสือในวาระครบ 150 ปี (พ.ศ.2561) การเสด็จฯไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ วงการสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ไทยจึงผลิตหนังสือรวมบทความวิชาการขึ้นเล่มหนึ่ง เพื่อรำลึกพระปรีชาสามารถในพระองค์ ซึ่งมีค่าควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง

พระจอมเกล้าพยากรณ์ : ความย้อนแย้งของ “ดาราศาสตร์” กับ “โหราศาสตร์” ในสังคมไทยสมัยใหม่ มีหนึ่งในบรรดาผู้เขียนและเป็นบรรณาธิการด้วยคือ สิกขา สองคำชุม

หนังสือมี 3 ภาค จากบทนำที่ว่าด้วยความกำกวมของ “การเฉลิมฉลอง” และความย้อนแย้งของ “ความรู้” ก็เริ่มด้วยภาคดาราศาสตร์/โหราศาสตร์ “คู่ตรงข้าม” หรือ “ผสมผสาน” อ่านการพิสูจน์การทรงคำนวณเพื่อรักษาเวลามาตรฐานของประเทศ กับการทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคา (ขาว เหมือนวงศ์) อ่านพระจอมเกล้ากับโหราศาสตร์ในความเป็นสมัยใหม่ (เนริดา คุก) พระจอมเกล้ากับโหราศาสตร์ไทย (พลูหลวง)

ภาค 2 ว่าด้วยพหูพจน์ของความรู้ใน “สรรพคราสหว้ากอ” อ่านก่อนเกิดสรรพคราสหว้ากอ (วิภัส เลิศรัตนรังษี) ความลับของสุริยคราสหว้ากอ 2411 (ลอย ชุนพงษ์ทอง) วิเคราะห์การคำนวณสุริยุปราคาเต็มดวงจากเอกสารร่วมสมัย (วรพล ไม้สน) และภาค 3 ว่าด้วยหลังหว้ากอ การเมืองของความทรงจำ อ่านการเกิดใหม่ของนักวิทยาศาสตร์พระนามพระจอมเกล้า (บก.เขียน) เป็นหนังสืออ่านเอาเรื่องที่ให้ความรู้และความคิดเต็มๆ

  อีกเล่มเป็นประวัติศาสตร์ไทยครั้งสงครามโลกครั้งหลัง และเล่มนี้เป็นเรื่องที่ยังอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านฝั่งทะเลอ่าวไทยภาคใต้ นั่นคือ The Last Quarter 3 : 2484-80 ปี ญี่ปุ่นบุก โดยนายทหารระดับนายพลเป็นผู้เขียน บัญชร ชวาลศิลป์ ซึ่งนักอ่านรู้จักกันดี

เรื่องของคืนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ที่ไทยต้องเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา เพราะกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตามชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ทำให้เกิดการสู้รบกันขึ้นกับกองทหารและอาสาสมัครไทยในพื้นที่ต่างๆ เหล่านั้น จากนั้น รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีคำสั่งให้ยุติการรบในวันถัดมาคือ 9 ธันวาคม ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังพม่าและมลายู โดยญี่ปุ่นจะเคารพเอกราชและอธิปไตยของไทย รัฐบาลไทยจึงต้องทำสัญญาไมตรีกับรัฐบาลญี่ปุ่น

แม้เวลาจะผ่านมาถึง 80 ปีในปี 2564 นี้แล้ว แต่ยังคงมีเรื่องราวอีกมากมายของเหตุการณ์ “ญี่ปุ่นขึ้น” (สำนวนชาวใต้) และปฏิบัติการของกองทัพไทย กับการเกี่ยวพันโดยตรงของราษฎรที่เผชิญการบุกรุกล้ำดินแดนนั้น ที่คงเป็นคำถาม หรือปริศนาให้สืบค้น ไม่ว่าประเด็นกองทัพเรือหายไปไหน หรือการตัดสินใจของจอมพล ป. ที่ยอมให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นทางผ่าน จนไทยเกือบจะร่วมเป็นผู้แพ้สงครามที่ต้องชดใช้ค่าปฏิกรณ์สงครามแก่ฝ่ายชนะไปด้วยนั้น มีเหตุผลประการใด

ผู้เขียนพยายามหาคำตอบมาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ที่ล้วนเป็นเรื่องซึ่งเกิดกับตัวเราเอง แต่จะมีตัวเราเองสักกี่คนที่รับรู้หรืออยากรู้เรื่องราวกับข้อเท็จจริงเหล่านั้นให้กระจ่างชัดเจน

  ย้อนกลับขึ้นไปถึงรัชกาลที่ 5 อันเป็นประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ของสยามในงานชุด “ค้นหารัตนโกสินทร์” ของ ไกรฤกษ์ นานา ที่มาถึงการ ค้นหารัตนโกสินทร์ 4 โดยเนื้อหาซึ่งมีภาพประกอบหาชมได้ยากในเล่ม 4 นี้ ประกอบด้วยเรื่องน่ารู้ทุกเรื่อง เช่น ภาพมรดกแห่งความทรงจำ พระเจ้าแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ในเอกสารต่างประเทศ, เบื้องหลังความในพระราชหฤทัย ร.5 “ทำไมจะเอาพระเจ้าแผ่นดินมาโชว์ไม่ได้” ที่เป็นความคิดใหม่สุดสุดขณะนั้น โดยเฉพาะกับท้าวพระยามหากษัตริย์

ยังมีเรื่อง เทียบชั้นความสำคัญ “สะพานรัชกาลที่ 5” กับ “สะพานพระเจ้าซาร์รัสเซีย”, ร.5 และเจ้าหญิงฝรั่งเศส การแก้เผ็ดครั้งสำคัญในพงศาวดารไทย ผ่าทฤษฎีหนามยอกเอาหนามบ่ง น่าแปลกใจจนใครไม่อยากรู้บ้าง

ภาพหลุดทางประวัติศาสตร์ ที่เขย่าเก้าอี้นักประวัติศาสตร์, หลักฐานใหม่ แต่เก่าที่สุด ประวัติพระบรมรูปปั้นพระเจ้าแผ่นดิน มีต้นกำเนิดมาจากไหน, ทำไมคนฝรั่งเศสปิดบังประวัติศาสตร์ตัวเอง, พงศาวดารกระซิบยัน วิบากกรรมผู้นำฝรั่งเศส หยุดยั้งแผนยึดไทยเป็นเมืองขึ้น, สมบัติที่อยู่ในไหฝังดิน ใต้บ้านเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ใครเคยได้ยินมาก่อนหรือเปล่า และความลุ่มหลงของควีนวิคตอเรีย อันเป็นจุดอ่อนของดินแดนพระอาทิตย์ไม่ตกดิน กับเรื่องมหาดเล็กในรัชกาลที่ 6 เผย ดุสิตสมิตและภาพล้อฝีพระหัตถ์ เกิดจากแนวคิดแม็กกาซีนอังกฤษ

ล้วนแต่น่าอ่านทุกเรื่องใช่ไหม แค่บอกประเด็นเรื่องก็หูผึ่งแล้ว ยังมีภาพประกอบน่าทึ่งที่ยากจะหาที่ไหนให้ดูอีกต่างหาก

  สุดท้ายประจำสัปดาห์ก็คือนิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ว่าด้วยเสื้อกาวน์ขอเสื้อเกราะ ในวันที่ไวรัสโควิดมาเคาะทุกหน้าประตูบ้าน วันที่หมอประมาณว่าเป็นสองสัปดาห์ที่ผู้ติดเชื้อจะสูงถึงวันละหมื่นคน และยังเป็นวันที่โรงพยาบาลไม่มีเตียงพอจะรับผู้ป่วยอีกแล้ว

วันที่จำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตเป็น “นิวไฮ” แล้ววันรุ่งขึ้นก็เป็นอีก “นิวไฮ” ก่อนที่วันถัดไปจะ “นิวไฮ” ยิ่งไปกว่าอีก

ขอคุณพระคุ้มครองทุกๆ คน เพราะเกินกำลังหมอ โรงพยาบาล จะคุ้มครองแล้ว รัฐบาลไม่ต้องพูดถึง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image