พบหญิงชราชาวเบลเยียมเสียชีวิต เพราะติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์ 2 ตัวพร้อมกัน ผู้เชี่ยวชาญเตือน ‘เป็นไปได้’

NIAID

พบหญิงชราชาวเบลเยียมเสียชีวิต เพราะติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์ 2 ตัวพร้อมกัน ผู้เชี่ยวชาญเตือน “เป็นไปได้”

เว็บไซต์บีบีซี รายงานเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ในอังกฤษ ออกมาเตือนถึงความเป็นไปได้ที่บุคคลหนึ่งๆ อาจติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ 2 ตัวได้พร้อมๆ กัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่จะเป็นเหตุให้อาการป่วยทรุดหนักอย่างรวดเร็ว

การเตือนดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ทีมวิจัยของโรงพยาบาล โอแอลวี ในเมืองอัลสท์ ในประเทศเบลเยียม นำโดย แพทย์หญิง แอนน์ ฟานเคียร์เบอร์เกน นำเสนอรายงานกรณีตัวอย่างของการเกิดการติดเชื้อซ้อน 2 ตัวพร้อมกันที่พบในเบลเยียมต่อที่ประชุมว่าด้วยโรคติดเชื้อและจุลชีววิทยาคลินิคแห่งยุโรป ประจำปี 2021

รายงานจากเบลเยียมเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำซ้อนรานี้เป็นสตรี วัย 90 ปี ซึ่งไม่เคยได้รับวัคซีน เข้าโรงพยาบาลเพราะเกิดหกล้ม แต่ต่อมาถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ด้วย โดยมีเชื้อกลายพันธุ์ 2 ตัวอยู่ในร่างกายพร้อมๆ กัน คือเชื้อกลายพันธุ์อัลฟ่า และเชื้อกลายพันธุ์เบต้า ซึ่งมีการแพร่ระบาดอยู่ในเบลเยียมในเวลานั้น และอาการทรุดลงอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิตในที่สุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ทีมแพทย์ที่เป็นเจ้าของไข้รายนี้ เชื่อว่า ผู้ป่วยน่าจะได้รับเชื้อมาจากคน 2 คนที่ติดเชื้อกลายพันธุ์คนละตัวกัน และเชื่อว่า นี่เป็นกรณีการติดเชื้อซ้อน 2 ตัวพร้อมกันเป็นกรณีแรกของโลกที่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ โดยคาดว่า การติดเชื้อซ้อนเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นอยู่ในหลายพื้นที่แพร่ระบาด

Advertisement

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ มีรายงานจากทีมวิจัยในบราซิล ระบุว่า พบผู้ป่วย 2 รายที่ติดเชื้อโควิด-19 ต่อเนื่องกันด้วยเชื้อ 2 ชนิด หนึ่งในจำนวนนั้นคือเชื้อกลายพันธุ์แกมม่า (พี.1) ในขณะที่ทีมวิจัยจากโปรตุเกส ก็รายงานด้วยว่า พบผู้ป่วยวัย 17 ปีรายหนึ่ง ติดเชื้อโควิด-19 ชนิดที่ 2 ในขณะที่กำลังพักฟื้นจากอาการติดเชื้อชนิดที่แตกต่างออกไปก่อนหน้า

แพทย์หญิง ฟานเคียร์เบอร์เกน ยอมรับว่า ทีมวิจัยไม่สามารถสืบค้นต่อได้ว่า หญิงชราวัย 90 ปีรายนี้ติดเชื้อจากใครและอย่างไร เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้อยู่ตัวคนเดียว แต่มีผู้คนจำนวนมากแวะเวียนไปให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา นอกจากนั้น ทีมวิจัยก็ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า การที่อาการของผู้ป่วยรายนี้ทรุดหนักอย่างรวดเร็วนั้นเกิดจากการติดเชื้อซ้อนทั้ง อัลฟ่า และเบต้า ด้วยหรือไม่

ด้านศาสตราจารย์ ลอว์เรนซ์ ยัง ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาของมหาวิทยาลัยวอร์วิค ในอังกฤษ ชี้ว่า การติดเชื้อซ้อน 2 ตัวเช่นนี้เป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด และอาจเกิดได้จากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่ที่ควรดำเนินการศึกษาวิจัยต่อเนื่องก็คือ การติดเชื้อซ้อนเช่นนี้ ส่งผลให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลงหรือไม่ หรือทำให้อาการป่วยหนักมากขึ้นกว่าการติดเชื้อตัวเดียวหรือไม่นั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image