‘ณพลเดช’ ยัน ชิโนฟาร์ม สู้โควิดได้จริง แนะ รบ.จัดการวัคซีนแบบ JIT ของญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่โรงพยาบาลสมิติเวชไชน่าทาวน์ เขตสัมพันธวงศ์ ดร.ณพลเดช มณีลังกา นายกสมาคมการบินนภารักษ์ และว่าที่ผู้สมัคร สก.เขตสัมพันธวงศ์ กทม. พรรคเพื่อไทย(พท.) กล่ลวถึงการจัดฉีดวัคซีน “ชิโนฟาร์ม” ให้กับสมาชิกในสมาคมและได้จัดส่วนหนึ่งบริจาคให้กับ พระสงฆ์ คนแก่ คนพิการ และกลุ่มเสี่ยง 7 โรค รวมถึงประชาชนทั่วไป ที่ได้โควตาจาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า วันนี้เป็นวันที่จัดให้วัคซีนกับผู้ที่รับวัคซีน ที่รพ.สมิติเวชไชน่าทาวน์ เป็นเข็มที่ 2 จากการเก็บข้อมูลในการให้วัคซีนกับผู้รับวัคซีนชุดแรกจำนวน 400 คนในเข็มที่ 1 ปรากฎว่าหลังจากที่มีผู้รับวัคซีนแล้ว มีผู้ติดเชื้อโควิดหลังการให้วัคซีน จำนวน 4 คน คิดเป็น 1% ของผู้รับวัคซีน แต่ที่ตนรู้สึกดีใจและประทับใจกับวัคซีนชิโนฟาร์ม คือ ผู้ที่ติดเชื้อโควิดไม่มีอาการรุนแรงอยู่ในกลุ่มสีเขียวทั้งหมด และขณะนี้ออกจากโรงพยาบาลและไม่มีเชื้อโควิดแล้ว 2 คน และอีก 2 คนใกล้จะหายแล้ว จึงมั่นใจตามประกาศของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ระบุถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคแบบรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิดได้ถึง 100% และประสิทธิภาพโดยรวมมากถึง 78.1% จึงมั่นใจที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล้าที่จะให้การประกันภัยสำหรับผู้รับวัคซีนโดยให้ความคุ้มครองสำหรับผู้ติดโควิดจนถึงเสียชีวิต มากถึง 1 ล้านบาท รวมถึงรับประกันภัยค่ารักษาพยาบาล ทั้ง IPD และ OPD ถึง 3 หมื่นบาท ซึ่งต้องยอมรับว่าดีใจมากที่ได้จัดโครงการฉีดวัคซีนชิโนฟาร์มนี้ เพราะบุคคลที่ได้รับวัคซีนต่างขอบคุณที่ทำให้เขาได้รับวัคซีน และที่ดีใจที่สุดคือ คนที่ติดโควิดหลังรับวัคซีนเรามีส่วนช่วยให้เขาไม่ถึงแก่ชีวิตได้ จากการที่ตนจัดให้มีการฉีดวัคซีน จะทำให้เห็นว่าภาคเอกชนเป็นส่วนที่สำคัญที่จะทำให้วัคซีนเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ด้วยกระบวนการจัดการการบริหารรวมถึงความปลอดภัย เพราะหากการให้วัคซีนช้าแม้เพียง 1 นาทีนั้น อาจหมายถึงชีวิตของประชาชน

ดร.ณพลเดช กล่าวอีกว่า สิ่งหนึ่งที่อยากจะแนะนำรัฐบาลในการจัดการวัคซีน คือการประยุกต์ระบบการแบบทันเวลาพอดี หรือ just-in-time (JIT) ซึ่งระบบนี้มีต้นกำเนิดมาจากบริษัท Toyota บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ก่อนที่จะเป็นที่ยอมรับและขยายไปยังบริษัทต่างๆ ทั่วญี่ปุ่นและทั่วโลก โดยหลักการของระบบนี้คือบริหารสินค้าเพื่อเข้าสู่การผลิตและสามารถไปถึงกับผู้รับสินค้าแบบทันเวลา เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพทำให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่สุดรวมถึงทำให้ลดต้นทุนและความเสียหายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยมี 6 ขั้นตอนหลักคือ 1) วางแผน 2) สื่อสารแผนให้ทุกคนทราบ 3) รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบระดับวัคซีน 4) สื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน 5) สร้างระบบส่งสัญญาณ 6) จัดทำ KM (Knowledge Management)

ดร.ณพลเดช กล่าวว่า สำหรับส่วนที่สำคัญที่ตนพบเห็นในการบริหารจัดการวัคซีนที่เป็นช่องโหว่สำคัญคือ การกันวัคซีนเพื่อฉีดเข็ม 2 ให้กับประชาชน ตนเห็นว่ามีจำนวนวัคซีนที่ค้างอยู่ในระบบคลังสินค้าจำนวนมาก แต่เราต้องกันเพื่อฉีดให้กับประชาชนในเข็มที่ 2 หากเป็นไปได้สามารถมีระบบยืนวัคซีนเหล่านี้นำมาฉีดให้ประชาชนที่ไม่ได้รับวัคซีนในเข็มที่ 1 เสียก่อนก็จะทำให้ประชาชนที่ไม่ได้รับวัคซีนปลอดภัยได้แต่เราบริหารให้วัคซีนที่กำลังจะเข้ามาสามารถถึงกับผู้ที่จะรับวัคซีนตามนัดในเข็มที่ 2 แบบพอดี (Just in time) อีกทั้งในต่างประเทศมีหลายประเทศที่มีวัคซีนค้าง Stock เราควรใช้กระบวนทางการทูตไปยืมวัคซีนเขาก่อนได้ไหม เหมือนที่เกาหลีใต้ยืมวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ที่จะหมดอายุกับอิสราเอลถึง 7 แสนโดสมาฉีดให้ประชาชนสำเร็จมาแล้ว สิ่งนี้เป็นการบริหารจัดการที่ภาคเอกชนเข้าใจและปฏิบัติมาอย่างเชี่ยวชาญ จึงเห็นว่าควรเอาแนวคิดแบบภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ เพราะหากให้รัฐบาล จัดการโดยมีหน่วยงานราชการที่ต้องถูกจำกัดด้วยระเบียบต่างๆ จะทำให้ล่าช้าและผลเสียหายก็จะเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศชาติ ดังที่ได้เห็นในขณะนี้ยอดผู้ป่วยมากขึ้นและมีประชาชนเริ่มมาเสียชีวิตข้างถนนมากขึ้นแล้ว ทั้งนี้รัฐบาลควรนำตัวอย่าง Bubble and Seal ที่เยอรมัน อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ทำสำเร็จมาแล้ว โดยเน้นไปที่ Function approach ไม่ใช่ไปเน้นที่ Area approach เป็นหลัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image