ห้องแล็บอิสราเอลพบยาที่มีอยู่แล้ว 18 ชนิดช่วยรักษาโควิด บางตัวยับยั้งเชื้อได้เกือบ 100 %

Pixabay

ห้องแล็บอิสราเอลพบยาที่มีอยู่แล้ว 18 ชนิดช่วยรักษาโควิด บางตัวยับยั้งเชื้อได้เกือบ 100 %

เว็บไซต์ เยรูซาเล็มโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ว่า ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยฮีบรู ในนครเยรูซาเล็ม ประสบความสำเร็จในการบ่งชี้ ยาที่มีใช้กันอยู่แล้วในเวลานี้ 18 ตัว ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการรักษาจนหายหรือไม่ก็ช่วยเยียวยาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ และมีบางตัวที่สามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์จากการทดลองในห้องปฏิบัติการทดลอง

ศาสตราจารย์ ชาย อาร์กิน ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเคมี จากสถาบันวิทยาศาสตร์ชีวภาพ อเล็กซานเดอร์ ซิลเบอร์แมน หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า การทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยใช้เซลล์ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อนำไปใส่รวมกับยาเหล่านี้บางตัวเป็นเวลา 2 วัน ปรากฏว่า เซลล์เหล่านั้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ยังคงมีชีวิตรอดได้ ต่างจากการทดลองทิ้งเซลล์ติดเชื้อไว้โดยไม่ให้ยาในเวลาเท่ากัน ซึ่งผลปรากฏว่าเซลล์ตายลงราว 50 เปอร์เซ็นต์เพราะเชื้อโควิด

ทีมของศาสตราจารย์อาร์กิน ตรวจสอบข้อมูลของยาในคลังข้อมูลทางยามากกว่า 2,800 ตัวยาที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในมนุษย์แล้ว พบว่า มียามากถึง 18 ตัวที่เชื่อว่าน่าจะมีประสิทธิภาพในการเยียวยา หรือรักษาผู้ป่วยโควิดให้หายได้ โดยในรายงานผลการวิจัย ซึ่งยังไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในขณะนี้ ทีมวิจัยสามารถแสดงให้เห็นว่า มีสารประกอบทางยาหลายตัว ที่ออกฤทธิ์ต่อต้านไวรัสทั้งหมดในหลอดทดลองได้อย่างน่าทึ่ง

ศาสตราจารย์อาร์กิน ระบุว่า ยังลังเลที่จะเปิดเผยชื่อของยาเหล่านี้ออกมาเพราะไม่ต้องการเสนอให้ใช้ยาเหล่านี้ก่อนที่จะผ่านการทดลองที่เหมาะสมสำหรับการใช้ในมนุษย์ โดยขอยกตัวอย่าง ยาเพียง 2 ชนิดที่มีอยู่แล้วและสามารถนำมาปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ใหม่เพื่อใช้รักษาโควิด อย่างเช่นยา “ดาราพลาดิบ” (Darapladib) ซึ่งเป็นยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้รักษาโรค หลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) และ “ฟลูมาทินิบ” (Flumatinib) ซึ่งเป็นยาขึ้นทะเบียนเพื่อรักษารักษามะเร็งเม็ดเลือดจำเพาะเป็นบางชนิด (certain blood cancers) เป็นต้น

Advertisement

หลักการทำงานของยาที่พบครั้งนี้เป็นเพราะยาเหล่านี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ 2เป้าหมายในไวรัส คือ อี โปรตีน (E-envelope protein) และ 3a โปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ทั้งนี้ อี โปรตีน เป็นโปรตีนที่พบมากที่สุดในไวรัสตระกูลโคโรนา และมักไม่ค่อยเกิดการกลายพันธุ์ ศาสตราจารย์อาร์กินระบุว่า จากการเทียบเคียง สไปค์ โปรตีนของ ซาร์ส-โควี-2 ซึ่งก่อโรคโควิด-19 กับ ซาร์ส-โควี-1 ซึ่งก่อโรคซาร์ส เมื่อปี 2003 พบว่า สไปค์โปรตีนของไวรัสทั้งสองชนิดนี้ มีความเหมือนกันเพียง 75 เปอร์เซ็นต์ แต่ เมื่อเทียบ อี โปรตีน แล้ว พบว่า อีโปรตีนของทั้ง 2 ชนิด มีสัดส่วนเหมือนกันสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ การที่ยาพุ่งเป้าไปยับยั้งเป้าหมายที่ไม่ค่อยกลายพันธุ์นี้ทำให้ สามารถใช้ยานี้ได้ต่อเนื่อง แม้ในผู้ป่วยจากการได้รับเชื้อกลายพันธุ์ในอนาคตก็ตาม

ศาสตราจารย์อาร์กินระบุว่า การที่ยาเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้ใช้ในคนได้อยู่ก่อนแล้ว น่าจะช่วยให้การขออนุญาตใช้เพื่อการรักษาโควิด-19 เป็นไปได้เร็วกว่าเดิมมาก ทำนองเดียวกับที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้ เรมเดซิเวียร์ ในช่วงเวลาเร็วมากนั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image