เผยบทบาทเหล่ากาชาดจังหวัดท่ามกลางมหันตภัยโควิด

แฟ้มภาพ

นายกฤษฎา บุญราช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด กล่าวบรรยายประชุมคณะกรรมการจัดการ ได้นำเสนอผลการดำเนินงาน เรื่อง “บทบาทหน้าที่ ภารกิจ และผลการดำเนินงานของเหล่ากาชาดจังหวัด รอบ 6 เดือน (มกราคม – มิถุนายน 2564)” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า

ในช่วง6เดือนที่ผ่านมาท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 และทวีความรุนแรงต่อเนื่องมาจนเข้าปี 2564 แต่เหล่ากาชาดจังหวัดก็ยังคงปฏิบัติงาน ตามพันธกิจของเหล่ากาชาดจังหวัด ทั้ง 8 ด้าน และทำหน้าที่เป็นกลไกในการปฏิบัติงานตามพันธกิจของสภากาชาดไทย 4 ด้านด้วย ในฐานะผู้แทนสภากาชาดไทยในส่วนภูมิภาค โดยแยกเป็น
(1) งานตามพันธกิจของสภากาชาดไทยและพันธกิจของเหล่ากาชาดจังหวัด
(2) งานช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

เหล่ากาชาดจังหวัดให้การช่วยเหลืองานตามพันธกิจ 4 ด้าน ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – มิถุนายน 2564) มีดังนี้
(1) ด้านสังคมสงเคราะห์ผู้ยากไร้ จำนวน 84,033 ราย เช่น ทุนการศึกษา เงินช่วยเหลือเป็นรายครอบครัว ถุงยังชีพ เป็นต้น
(2) ด้านบรรเทาทุกข์ผู้ประสบสาธารณภัย จำนวน 339,662 ราย เช่น แจกหน้ากกาอนามัย
น้ำขวด แอลกอฮอล์ เป็นต้น ให้แก่ประชาชนที่กักตัวเองอยู่ที่บ้าน
(3) ด้านการรับบริจาคโลหิต ดวงตา และอวัยวะ โดยเหล่ากาชาดจังหวัดได้สนับสนุนศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ/ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ และโรงพยาบาลเครือข่ายจัดหาผู้บริจาคโลหิตได้จำนวน 426,234 ราย ได้โลหิต 191,805,300 ซีซี อีกทั้งยังช่วยรณรงค์จัดหาดวงตาได้ จำนวน 14,557 ราย และอวัยวะอีกจำนวน 13,687 ราย
(4) ด้านส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน โดยได้รับพระราชดำริจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ให้เหล่ากาชาดจังหวัดช่วยสนับสนุนดูแลเด็กนักเรียนด้านการอ่านการเขียนภาษาไทย

เหล่ากาชาดจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ร่วมดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ ดังนี้
1.สำรวจโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีจำนวน 23,864 แห่ง
2.มีนักเรียนชั้น ป.1 – ป.6 จำนวน 2,547,378 คน แยกเป็น ป.1 – ป.3 จำนวน 1,268,278 คน และ ป.4 – ป.6 จำนวน 1,279,100 คน ทั้งนี้ สำรวจเฉพาะนักเรียนชั้น ป.1-ป.6 เนื่องจากเป็นนักเรียนขั้นพื้นฐานการอ่านออกเขียนได้ เพื่อจะนำไปสู่การเรียนวิชาอื่นต่อไป และนายกเหล่ากาชาดจังหวัดจำนวน 28 จังหวัด ร่วมกับหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ลงเยี่ยมโรงเรียนไปแล้วจำนวน 149 แห่ง เพื่อสำรวจความต้องการของโรงเรียนที่ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน เช่น แหล่งน้ำอุปโภคบริโภค แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ระบบไฟฟ้า โซล่าเซลล์ อินเตอร์เน็ต เส้นทางคมนาม เป็นต้น
3.เหล่ากาชาดจังหวัดที่มีงบประมาณเพียงพอได้สนับสนุนสื่อการเรียน อุปกรณ์เครื่องเขียน ชุดนักเรียน สิ่งของจำเป็นของเด็กนักเรียนที่ครอบครัวยากจน รวมถึงเด็กนักเรียนที่มีปัญหาด้านการอ่านการเขียนภาษาไทย โดยจัดทำเป็น “ถุงยังชีพเพื่อการศึกษา เสริมปัญญาเยาวชน” ซึ่งมีเหล่ากาชาดจังหวัด 12 จังหวัด ได้จัดทำถุงยังชีพดังกล่าวแล้วรวมจำนวน 5,363 ชุด สนับสนุนให้กับโรงเรียนแล้วจำนวน 254 แห่ง รวมเป็นมูลค่า 1,516,138 บาท
4.มีนักเรียนชั้น ป.1 – ป.6 เป็นนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเร่งรัดในการพัฒนาการใช้ภาษาไทย จำนวน 355,653 คน ซึ่งสภาพปัญหาที่ทำให้เด็กนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ประกอบด้วย
4.1ด้านเด็กนักเรียน เช่น มาเรียนไม่สม่ำเสมอเพราะครอบครัวมีฐานะยกจน ใช้ภาษาชาติพันธุ์หรือภาษาอัตลักษณ์มากกว่าใช้ภาษาไทย บกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) เป็นต้น
4.2ด้านผู้ปกครอง เช่น มีฐานะยากจนและขาดการดูแลเอาใจใส่นักเรียน เป็นต้น
4.3ด้านครูและสื่อการสอน เช่น ครูไม่ได้จบวิชาเอกภาษาไทยจึงไม่เชี่ยวชาญในการสอนภาษาไทย ครูสอนหลายวิชา ไม่มีคู่มือการสอนเด็กนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เป็นต้น
4.4ด้านโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมของโรงเรียน เช่น เส้ทางคมนาคมระหว่างบ้านกับโรงเรียนห่างไกล ขาดระบบไฟฟ้า อินเตอร์เน็ตใช้การไม่ได้ เป็นต้น

Advertisement

นายกฤษฎากล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนกลุ่มเป้าหมายนั้น สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาดได้รับความร่วมมือจาก ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร กรรมการสภากาชาดไทย โดยมีเครือข่ายจากหน่วยงานทางการศึกษาอาสาสมัครมาช่วยงานโครงการฯ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดตาก โดยได้ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดน่านเพื่อจัดเก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์ศึกษารูปแบบวิธีการสร้างและผลิตคู่มือและสื่อการสอนเสริมภาษาไทยให้กับครูประจำการหรือครูอาสาสมัคร รวมถึงเหล่ากาชาดจังหวัดได้ใช้งบประมาณในการจัดพิมพ์คู่มือและสื่อฯ เพื่อสนับสนุนผู้ที่รู้ภาษาไทยสมัครใจเป็นครูอาสาสมัครช่วยสอนเสริมแก่นักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาด้านการอ่านการเขียนภาษาไทย

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เหล่ากาชาดจังหวัด 76 จังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอ 285 แห่ง ได้ให้การช่วยเหลือตามพันธกิจ ดังนี้
1.สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ได้แจกจ่ายผ้าสำหรับตัดเย็บผ้าหน้ากากอนามัย โดยเหล่ากาชาดจังหวัดรณรงค์หาอาสาสมัครช่วยตัดเย็บหน้ากากอนามัย และได้แจกจ่ายให้กับประชาชนไปแล้วจำนวน 9,200,012 ชิ้น
2.แจกถุงธารน้ำใจและถุงยังชีพ จำนวน 66,504 ชุด
3.จัดตั้งครัวเคลื่อนที่ในการประกอบอาหารกล่องปรุงสุกให้กับประชาชน จำนวน 54,362 ชุด
4.สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวน 11,066 ชุด (โดยจ่ายขาดจากเงินสะสมของเหล่ากาชาดจังหวัด)
5.รณรงค์หาอาสาสมัครปฏิบัติงานช่วยฉีดวัคซีน มีจำนวน 6,491 คน โดยกระจายไปยังจุดฉีดวัคซีนจำนวน 26 แห่งทั่วประเทศ รวมกรุงเทพมหานคร
6.สนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องนอนให้แก่โรงพยาบาลสนาม จำนวน 109 แห่ง

การใช้งบประมาณปัจจุบันที่ไปปฏิบัติงานตามพันธกิจของเหล่ากาชาดจังหวัดและของสภากาชาดไทยนั้น เป็นงบประมาณที่เหล่ากาชาดจังหวัดจัดหาเองโดยในภาพรวมเหล่ากาชาดจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ตั้งงบประมาณใช้จ่ายทั้งปี เป็นเงิน 655.08 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ใช้จ่ายจริงช่วงเดือนตุลาคม 2563 – 31 กรกฎาคม 2564 ไปแล้ว เป็นเงิน 358.24 ล้านบาท

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีเงินสะสมที่เหล่ากาชาดจังหวัดจัดหาเองได้ รวมทั้ง 76 เหล่ากาชาดจังหวัด ที่สะสมและนำฝากไว้ในบัญชีของแต่ละเหล่ากาชาดจังหวัดมียอดรวมในปัจจุบันเป็นเงินทั้งสิ้น 1,289.47 ล้านบาท ซึ่งการที่เหล่ากาชาดจังหวัดประสงค์จะจ่ายขาดเงินสะสมเพื่อดำเนินงานตามกิจกรรมโครงการต่างๆ ที่มีความสำคัญก็สามารถนำเงินสะสมมาใช้จ่ายได้โดยขอความเห็นชอบจากสภากาชาดไทยก่อนดำเนินการ

ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2565 หากสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาดของโรคโควิดอย่างต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อการจัดหางบประมาณด้วยตนเองของเหล่ากาชาดจังหวัด จนไม่สามารถดำเนินการตามพันธกิจของเหล่ากาชาดจังหวัด เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ ก็สามารถขอจ่ายขาดจากเงินสะสมที่เหล่ากาชาดจังหวัดของตนเองมาใช้จ่ายได้โดยขอความเห็นชอบมาที่สภากาชาดไทย

สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาดจึงมีความมั่นใจว่า ถึงแม้งบประมาณในปีงบประมาณหน้าจะมีอุปสรรคในเรื่องการจัดหาเงินรายได้ แต่เหล่ากาชาดจังหวัดยังมีเงินสะสมที่เพียงพอที่จะดำเนินการตามแผนงานโครงการและพันธกิจของสภากาชาดไทย และเหล่ากาชาดจังหวัดได้แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image