ตำรวจเตรียมกำลัง 38 กองร้อยรับมือม็อบชุมนุมใหญ่ 7 ส.ค.บุกทำเนียบ-สถานที่สำคัญ ตั้ง 14 จุดสกัด

ตำรวจเตรียมกำลัง 38 กองร้อยรับมือม็อบชุมนุมใหญ่ 7 ส.ค. บุกทำเนียบ-สถานที่สำคัญ ตั้ง 14 จุดสกัด รอง ผบช.น. รับการข่าวเชื่อมีความรุนแรง

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ฐานะโฆษก บช.น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ร่วมกันแถลงกรณีที่มีการนัดหมายการชุมนุมผ่านช่องทางออนไลน์ ของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่สำคัญดังนี้ 1.กลุ่มเยาวชนปลดแอก Free Youth นัดหมายในห้วงเวลา 13.00-14.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคลื่อนขบวนไปพระบรมหาราชวัง และจะมีกลุ่มแนวร่วมต่างๆ มาเข้าร่วม ได้แก่ กลุ่มการ์ดวีโว่, กลุ่มแนวร่วมราษฎร ฯลฯ

2.กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยนายธนเดช หรือม่อน ศรีสงคราม นัดหมายยังไม่ทราบเวลา ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จัดกิจกรรมในลักษณะ CarMob 2 ล้อ เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล

3.กลุ่มแดงก้าวหน้า 63, แดงใหม่ภาคี 4 ภาค, ราษฎรลพบุรี-สระบุรี-นครนายก และอื่นๆ รวมกันจัดกิจกรรม คาร์ม็อบบุกกรุง จุดมุ่งหมายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

Advertisement

ตามที่ได้มีประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง การห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดฯ เว้นแต่เป็นกิจกรรมได้รับอนุญาตหรือได้รับการยกเว้น กองบัญชาการตำรวจนครบาล ขอเตือนว่าการรวมกลุ่มกันจัดกิจกิจกรรมดังกล่าว จะเป็นการฝ่าฝืนอันเป็นความผิดตามประกาศฯ และเข้าข่ายเป็นความผิดตาม 1.พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2.พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 3.พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ 4.พ.ร.บ.ความสะอาดฯ 5.พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ อีกทั้งยังมีความผิดอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง คือมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแล้วไม่เลิก, การวางเพลิงเผาทรัพย์, ทำลายทรัพย์สินทางราชการ, ต่อสู้ขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่, บุกรุกในสถานที่ต่างๆ ตามพฤติการณ์ของการกระทำความผิดเป็นรายๆ ไป

โดยขณะนี้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ในภาพรวมของ บช.น. ที่ผ่านมาทั้งหมดรวมทั้งสิ้น 293 คดี อยู่ระหว่างสอบสวน 97 คดี ส่งสำนวนให้อัยการหรือสอบสวนดำเนินคดีแล้ว 196 คดี ซึ่ง บช.น.ได้สั่งการให้ สน.ที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดติดตามผู้กระทำผิดที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายในบ้านเมืองมาดำเนินคดีทุกราย และหากกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จำเป็นที่จะต้องเข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายต่อไป

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ทางตำรวจมีการจัดเตรียมกำลังไว้ 38 กองร้อย และมีกำลังสนับสนุนเพียงพอรองรับสถานการณ์ ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย พร้อมตั้งจุดตรวจค้น 14 จุด รอบพื้นที่ชุมนุม เพื่อป้องกันเหตุร้าย และมือที่สาม ซึ่งแนวรั้งหน่วงสุดท้ายจะอยู่บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ และสะพานชมัยมรุเชฐ พร้อมกล่าวยอมรับว่าการข่าวอาจจะมีการกระทบกระทั่งอย่างรุนแรง เนื่องจากพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มเดิมๆ ที่มักใช้วิธีการที่รุนแรง หรือใช้สิ่งเทียมอาวุธในการชุมนุมบ่อยครั้ง ซึ่ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ประชุมซักซ้อมการปฏิบัติ เน้นย้ำการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน และประชาชน หากพบมีความพยายามบุกรุก เผาทรัพย์ หรือใช้ระเบิดเพลิง ตำรวจก็ต้องใช้มาตรการป้องกัน ไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย โดยใช้ยุทธวิธีตามหลักสากล ส่วนแกนนำที่มีคดีหรือหมายจับ ย้ำว่าหากพบเมื่อไหร่ ก็จะมีการจับกุมดำเนินคดีทันที

Advertisement

ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ ดูแลงานจราจร กล่าวว่า บริเวณการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมฯ อยู่บริเวณถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลัก ที่ประชาชนใช้ในการสัญจร ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน บช.น.จึงขอแจ้งข้อมูลข่าวสารด้านการจราจร เพื่อประกอบในการวางแผนการเดินทาง และขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทางตั้งแต่เวลา 11.00 น.เป็นต้นไปจนเสร็จสิ้นการชุมนุม ดังนี้

  1. เส้นทางที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมฯและควรหลีกเลี่ยง

1.1) ถ.ราชดาเนินใน 1.8) ถ.ประชาธิปไตย

1.2) ถ.ราชดาเนินกลาง 1.9) ถ.นครราชสีมา

1.3) ถ.ราชดาเนินนอก 1.10) ถ.นครสวรรค์

1.4) ถ.ตะนาว 1.11) ถ.พิษณุโลก

1.5) ถ.ดินสอ 1.12) ถ.ศรีอยุธยา

1.6) ถ.ลูกหลวง 1.13) ถ.พระราม 5

1.7) ถ.หลานหลวง 1.14) สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า (แยกหลานหลวง-แยกผ่านฟ้า)

2.เส้นทางที่แนะนำให้ประชาชนไปใช้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านการจราจร

2.1) เส้นทางทิศเหนือ

1) ถ.สุโขทัย 4) ถ.อำนวยสงคราม 2) ถ.นครไชยศรี 5) สะพานกรุงธน (ซังฮี้) 3) ถ.เศรษฐศิริ 6) สะพานพระราม 7

2.2) เส้นทางทิศตะวันออก

1) ถ.วิภาวดีรังสิต (ช่องทางหลัก) 4) ถ.พระราม 6

2) โทลล์เวย์ 5) ทางพิเศษศรีรัช

3) ถ.พหลโยธิน 6) ถ.สวรรคโลก

2.3) เส้นทางทิศใต้

1) ถ.วิสุทธิกษัตริย์ 5) ถ.เจริญกรุง

2) ถ.หลานหลวง (แยกยมราช-แยกหลานหลวง) 6) ถ.เยาวราช

3) ถ.บำรุงเมือง 7) ถ.พระราม 1

4) ถ.วรจักร 8) ถ.พระราม 4

2.4) เส้นทางทิศตะวันตก

1) ถ.จรัญสนิทวงศ์ 4) สะพานพระราม 8 2) ถ.บรมราชชนนี 5) สะพานพระพุทธยอดฟ้า

3) ถ.อรุณอมรินทร์ 6) สะพานพระปกเกล้า

จึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับทราบ เพื่อเตรียมความพร้อมวางแผน การเดินทาง และขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ ทั้งนี้ บช.น. ได้จัดเตรียมกำลังตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้แก่พี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หากต้องการสอบถามข้อมูลเส้นทางเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเว็บไซต์ WWW.TRAFFICPOLICE.GO.TH และสามารถดาวน์โหลดแผนที่จราจรเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางได้ที่ Facebook1197

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image