‘นกแก้วโม่ง’ วัดสวนใหญ่ ใกล้สูญพันธุ์-เหลือแค่เล่าขาน

‘นกแก้วโม่ง’ วัดสวนใหญ่ ใกล้สูญพันธุ์-เหลือแค่เล่าขาน

ในกลุ่มนักนิยมเลี้ยงนกแก้วสวยงาม ย่อมต้องรู้จัก ‘นกแก้วโม่ง’ ที่เกาะบนต้นยางอายุกว่า 200 ปี บริเวณวัดสวนใหญ่ ย่านบางกรวย จ.นนทบุรี จัดเป็นแหล่งส่องดูนกที่ทุกวันนี้ยังมีผู้สนใจเดินทางไปชมกันไม่ขาดสาย น่าเสียดายที่ปัจจุบัน นกแก้วโม่งไม่ได้เห็นเป็นฝูงใหญ่อีกแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่อยู่อาศัยจนถึงแหล่งอาหารการกินถูกความเจริญของบ้านเมืองรุกล้ำเข้ามา

พระอธิการทองศูนย์ ขนฺติพโล อายุ 50 ปี เจ้าอาวาสวัดสวนใหญ่ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เล่าให้ฟังว่า นกแก้วโม่งอาศัยบนต้นยางที่วัดมานานแล้วตามที่ชาวบ้านเขาบอก อาตมาอยู่วัดนี้มา 15-16 ปี ก็เห็นนกอยู่อย่างนี้มาก่อนแล้ว เมื่อก่อนสภาพพื้นที่ยังเป็นป่า คนก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ หลังจากนั้น มีคนภายนอกรู้เข้าก็เริ่มมาส่องดูนกกัน แบกกล้องถ่ายรูปมาตั้งถ่ายกัน กลุ่มละ 5 คน บ้าง 10 คนบ้าง เมื่อก่อนมีเยอะกว่านี้เป็นร้อยๆ ตัว แต่ตอนนี้เหลืออยู่ 20-30 ตัว เท่านั้น

‘ส่วนการดูแลฝูงนกนี้ วัดไม่ได้ดูแลอะไร ปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ได้ไปยุ่ง เช้าๆ เที่ยงๆ จะไม่เห็นนกแล้ว ต้องตอนค่ำๆ เย็นๆ นกก็จะบินมาเกาะที่ต้นยาง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าทำรังนอนที่นี่หรือเปล่า ส่วนชาวบ้านรอบๆ วัดแถวนี้ ไม่ได้ไปรบกวน แต่ก็เหมือนดูแล แค่ไม่ไปยุ่งกับนกและคอยดูคนที่คิดจะมาจับนก นกชนิดอื่นก็เหมือนกันชาวบ้านก็จะคอยบอก’

พระอธิการทองศูนย์กล่าวอีกว่า นกแก้วโม่งน่าจะกินผลไม้ เพราะเคยบิณฑบาตเห็นเกาะอยู่บ้านโยมคนหนึ่ง เกาะกินลูกผลไม้ ถ้าต้นไม้ไม่มีลูกแล้ว นกก็จะไปหากินที่อื่น ส่วนอาตมาเมื่อบิณฑบาตได้ผลไม้มา ก็ไม่เคยเอาไปวางให้นกกิน ปล่อยให้พวกนกหากินธรรมชาติและก็ยังไม่เคยเห็นนกแก้วโม่งลงมาบนพื้นดินเลย ส่วนใหญ่อยู่เกาะบนยอดต้นไม้สูงๆ ไม่เหมือนนกชนิดอื่น นกแก้วโม่งจะไม่บินลงมา แต่มีบ้านหลังหนึ่งคือบ้านของโยมวินัย พุ่มอยู่ วางผลไม้ไว้ให้นกกิน ทำมานานแล้วก็มีนกกินบ้าง

Advertisement

เจ้าอาวาสวัดสวนใหญ่กล่าวอีกว่า ส่วนต้นยาง 2 ต้นนี้ที่นกอาศัยอยู่ คนเฒ่าคนแก่ก็เล่าว่าเกิดมาเห็นต้นยางใหญ่ขนาดนี้แล้ว เข้าใจว่าอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี เขาก็เล่าว่านกฝูงนี้อยู่มานานแล้ว ไม่มีใครมาทำอะไรหรอก ไม่มีใครดูแล แค่คอยดูไม่ให้ใครมาดักมาจับไปเลี้ยง ทางวัดก็ทำรังเสริมให้นกทำไว้ 3 รัง ว่าจะทำรังเพิ่มขึ้นไปติดให้อีกเพื่อให้นกจะได้มาขยายพันธุ์

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ให้ความรู้เกี่ยวกับ ‘นกแก้วโม่ง’ ชื่อ Alexandrine parakeet หรือ Alexandrine parrot เป็นนกตระกูลนกแก้วขนาดเล็ก-กลาง มีชื่อสามัญตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ ‘อเล็กซานเดอร์มหาราช’ กษัตริย์แห่งอาณาจักรมาซิโดเนีย เมื่อครั้งยาตราทัพเข้ามาสู่ในทวีปเอเชีย ได้นำนกแก้วชนิดนี้กลับไปยังทวีปยุโรป นกแก้วโม่งมีถิ่นกำเนิดแพร่กระจายทั่วไปในแถบทวีปเอเชีย ตั้งแต่ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอัฟกานิสถาน ไล่ลงไปยังอินเดีย อินโดจีน เช่น เมียนมา หรือประเทศไทยฝั่งตะวันตก รวมทั้งยังพบได้ตามหมู่เกาะในทะเลอันดามัน

ลักษณะของนกแก้วโม่งมีความยาววัดจากหัวถึงปลายหางได้ราว 57-58 เซนติเมตร ลำตัวมีสีเขียว จะงอยปากมีลักษณะงุ้มใหญ่สีแดงสด บริเวณหัวไหล่จะมีแถบสีแดงแต้มอยู่ทั้งสองข้าง นกเพศผู้และเมียสามารถแยกแยะได้เมื่อนกโตเต็มที่ กล่าวคือในเพศผู้จะปรากฏมีแถบขนสีดำและสีชมพูรอบคอที่เรียกกันว่า ‘Ring Neck’ ซึ่งในนกเพศเมียไม่มีเส้นที่ปรากฏดังกล่าว ส่วนอาหารของนกแก้วโม่งในธรรมชาติ ประกอบด้วย เมล็ดพืชต่างๆ ผลไม้หลากชนิด ใบไม้อ่อน จะวางไข่ปีละครั้ง ครั้งละ 2-4 ฟอง

Advertisement

ตอนท้ายของวิกิพีเดียระบุว่า ‘นกแก้วโม่งจัดเป็นนกแก้วที่นิยมนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ เพราะพบว่าเป็นนกแก้วที่มีความสามารถในการเลียนเสียงต่างๆ โดยเฉพาะเสียงมนุษย์ได้ดี ปัจจุบันนกแก้วโม่งจัดเป็นนกที่อยู่ในบัญชีคุ้มครอง 2 ของอนุสัญญาไซเตส รวมทั้งเป็นนกที่กฎหมายให้ความคุ้มครองในแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน’

ขณะที่นายวินัย พุ่มอยู่ อายุ 66 ปี ชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดสวนใหญ่ กล่าวว่า ชาวบ้านรอบวัดจะช่วยกันดูแลนก เมื่อก่อนเอาข้าวที่เหลือจากใส่บาตรพระวางไว้หน้าบ้าน นกก็ลงมากิน ตอนหลังมีหมู่บ้านจัดสรรเข้ามา บ้านตามสวนก็ลดน้อยลง และปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือนกปากห่างที่บินมาเกาะที่ต้นยางใกล้กับนกแก้วอาศัยอยู่ ทำให้นกแก้วกลัว ประกอบกับนกปากห่างชอบขี้ใส่รถชาวบ้าน พวกชาวบ้านก็จะไล่นกปากห่าง ทำให้นกแก้วโม่งพลอยบินหนีไปด้วย บางช่วงนกแก้ววางไข่อยู่ก็บินหนีไปด้วย ตอนหลังขอร้องกันอย่าไล่นกช่วงวางไข่หรือกกไข่

‘สรุปเป็นปัญหาหลักที่ทำให้นกหายไป เมื่อก่อนมีเยอะเกาะกันเขียวเลย สามารถจับเอามาใส่กรงเลี้ยงได้ แต่คนแถวนี้ไม่มีใครจับ’

นายวินัยกล่าวอีกว่า นกแก้วโม่งน่าจะหายไปเยอะ เหลือประมาณ 10-20 ตัว คาดว่ามีคนดักจับนกไป แต่ไม่รู้ไปวางกรงดักจับอยู่ที่ไหน นกพวกนี้จะไม่ได้มานอนที่ต้นยางสองต้นนี้ เท่าที่เห็นจะบินมาเกาะอยู่ประมาณ 5 นาที แล้วก็จะบินไปแต่ไม่รู้ว่าไปนอนที่ไหน ส่วนนกแก้วโม่งที่นอนค้างอยู่ที่ต้นยางก็เป็นนกที่ทำรังอยู่ 3-4 ตัว และจากการสำรวจตามวัดต่างๆ ในนนทบุรี ยังมีนกแก้วโม่งอยู่ประมาณ 200 ตัว ส่วนตัวในกรงที่บ้านที่เลี้ยงไว้ตัวนี้ เป็นนกที่ชาวบ้านเอามาปล่อยไว้ที่วัด ยังหากินเองไม่ได้ คาดว่าคงถูกเลี้ยงมาแต่เล็ก จึงเอามาใส่กรงเลี้ยงไว้

ด้วยเหตุผลหลายอย่างที่นกแก้วโม่งถูกรบกวนอย่างหนัก ทำให้การอยู่ตามธรรมชาติตรงวัดสวนใหญ่กำลังจะกลายเป็นเรื่องที่ต้องเล่าให้ลูกหลานฟังเข้าไปทุกขณะแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image