ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เร่งแก้รัฐธรรมนูญเพียงระบบเลือกตั้งเพื่อใคร

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เร่งแก้รัฐธรรมนูญเพียงระบบเลือกตั้งเพื่อใคร

การเร่งรีบพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพียงเฉพาะมาตรา 83 และมาตรา 91 ที่เกี่ยวข้องเฉพาะระบบการเลือกตั้งของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้จะผ่านการรับหลักการของรัฐสภาไปแล้วก็ตาม โดยไม่สนใจไยดีกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ว่าจะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างรุนแรงมากน้อยเพียงใด ทั้งที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในแต่ละวันเฉลี่ยประมาณ 20,000 คน และเสียชีวิตเฉลี่ยต่อวัน 150-200 คน ยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามมากกว่า 200,000 คน ทำให้ทั้งโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศและโรงพยาบาลสนามกับศูนย์พักคอยที่จะรองรับผู้ป่วยเกือบรองรับไม่ไหวอยู่แล้ว

มีคำถามมากมายที่เกิดขึ้นกับคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ว่าจะเร่งรีบ รวบรัด การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปทำไม ทั้งๆ ที่เกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทยประชาชนกำลังเผชิญกับภาวะยากลำบากในการดำรงชีวิต และต้องต่อสู้ป้องกันตัวเองกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับทั้งๆ ที่รัฐบาลและ ศบค.ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้ทุกฝ่ายร่วมมือหยุดกิจกรรมประชุม สัมมนา และการรวมกลุ่ม และขอให้ทำงานที่บ้าน (work from home) เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดให้ได้

รัฐสภาทั้งวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ต่างก็ขานรับโดยได้มีการงดประชุมสภามาแล้วตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม จนถึงกลางเดือนสิงหาคม 2564 และได้ขอความร่วมมือให้คณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญงดการประชุมคณะกรรมาธิการ ซึ่งเห็นว่าได้รับความร่วมมือด้วยดี ยกเว้นคณะกรรมาธิการวิสามัญบางคณะที่มีรัฐธรรมนูญกำหนดกรอบเวลาไว้เช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ซึ่งจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน ตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ในขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ยังมีการเดินหน้าเร่งรีบประชุมโดยไม่สนใจการแพร่ระบาดโควิด-19 และความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งๆ ที่ประเด็นการแก้ไขมีเพียงระบบเลือกตั้งเท่านั้น จึงทำให้มีข้อพิรุธจนผิดสังเกต โดยไม่สนใจไยดีต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และการขอความร่วมมือของรัฐบาลและทุกฝ่ายในการต้องการหยุดยั้งการระบาดแต่อย่างใด

Advertisement

จึงมีคำถามว่าการที่คณะกรรมาธิการฯ เร่งรีบ รวบรัด แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ในห้วงเวลาที่ไม่เหมาะสมอยู่ในขณะนี้นั้น เป็นการกระทำเพื่อตอบสนองประโยชน์พรรคการเมืองและนักการเมืองเฉพาะกลุ่มเท่านั้น และที่สำคัญประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังแก้ไขแต่อย่างใด เพราะการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนนั้น รัฐสภาไม่ได้ให้ความเห็นชอบในชั้นรับหลักการ เป็นต้นว่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชนท้องถิ่นในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การกระจายการ
ถือครองที่ดิน สิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง และสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม ร่วมทั้งการแก้ไขหมวดว่าด้วยการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งทำให้ประเด็นเหล่านี้ตกไปแล้วทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การที่คณะกรรมาธิการฯ เร่งรีบ รวบรัด การแก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้งนั้น ยังพบว่ามีข้อถกเถียงและมีความเห็นที่ไม่ลงตัวและมีความเห็นขัดแย้งกันถึงความไม่สมบูรณ์ ไม่ครบถ้วนในร่างเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ เฉพาะมาตรา 83 ที่ระบุถึงจำนวนสมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกอบด้วย ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน กับมาตรา 91 เกี่ยวกับการคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของและพรรคการเมือง ซึ่งทั้ง 2 มาตรา ที่เสนอร่างแก้ไขมีความเกี่ยวพันกับมาตราอื่นๆ อีกหลายมาตรา แต่ไม่ได้มีการเสนอร่างขอแก้ไขเข้ามาประกอบด้วย เช่น มาตรา 86 การกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้งให้สอดรับกับการเสนอขอแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ รวมทั้งมาตรา 92-94 ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งเห็นว่าเมื่อไม่เสนอขอแก้ไขมาตราที่เกี่ยวเนื่องกันก็ไม่น่าจะกระทำได้ แต่ก็มีกรรมาธิการบางคนบอกว่า กระทำได้โดยอาศัยข้อบังคับรัฐสภาข้อ 124 โดยทั้ง 2 ความเห็นที่ยังไม่ลงตัวกันนักนั้น ทำให้มีส่วนหนึ่งบอกว่าจะต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอันเกิดจากการเสนอร่างขอแก้ไขที่ไม่มีความสมบูรณ์นั่นเอง

มิฉะนั้นแล้วอาจจะเป็นการสอดไส้การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตราที่ไม่เสนอการร่างแก้ไขเข้ามาให้รัฐสภาพิจารณาในช่วงแรก แต่อาศัยช่องว่างโดยอ้างข้อบังคับรัฐสภา ทั้งๆ ที่ได้มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนอยู่หลายช่วง ได้แก่ ร่างขอแก้ไขของนายไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคพลังประชารัฐ และร่างขอแก้ไขของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย แต่รัฐสภาไม่ได้รับหลักการทั้ง 2 ร่างดังกล่าว

Advertisement

ดังนั้น จึงทำให้มองเห็นข้อพิรุธของคณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากที่พยายามจะดันทุรัง เร่งรีบ ขอแก้ไขเฉพาะระบบการเลือกตั้งเพื่อตอบโจทย์ประโยชน์ใคร โดยเฉพาะทั้งพรรคการเมืองและนักการเมือง ที่มีความหวังจะต่อท่ออำนาจให้อยู่ยาวกันอีกต่อไป และเพื่อเป็นการชิงความได้เปรียบทางการเมืองที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ของนักการเมืองบางกลุ่มบางพวกอย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งก็ยังมองไม่เห็นทางว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไร และยิ่งการรีบเร่ง โดยไม่สนใจไยดีต่อวิกฤตประเทศที่รัฐบาลจะต้องเผชิญกับการแก้ปัญหาการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งการดำรงชีวิตอยู่ในภาวะยากลำบากของประชาชน ที่มีผลกระทบมาจากการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 และต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความตายอยู่ทุกๆ วัน ก็ยิ่งชัดเจนว่า ทำไปเพื่อประโยชน์ใคร

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image