‘ตรีนุช’ เผย สอบ-ไม่สอบปลายภาค ให้ ร.ร.ตัดสินใจ ชี้การวัดและประเมินผลต้องยืดหยุ่น

‘ตรีนุช’ เผย สอบ-ไม่สอบปลายภาค ให้ ร.ร.ตัดสินใจ ชี้การวัดและประเมินผลต้องยืดหยุ่นไม่สร้างความเครียดให้ น.ร.

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีโรงเรียนหลายแห่งงดสอบปลายภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เพื่อลดภาระและความเครียดของนักเรียน ว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ศธ.ได้ปรับและหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้สถานศึกษามีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนการนับเวลาเรียนใหม่ ที่จะนับเวลาเมื่อนักเรียนเกิดการเรียนรู้ เช่น การเรียนออนไลน์ การทำการบ้าน เพื่อลดความกดดันของนักเรียนและผู้ปกครอง การวัดและประเมินผลใหม่ จากเดิมที่จะต้องสอบเพื่อวัดและประเมินผลเท่านั้น อาจเปลี่ยนวิธีใหม่ โดยให้ครูมอบหมายชิ้นงาน โครงงาน โปรเจ็กต์งานให้นักเรียนไปทำ และเพื่อวัดและประเมินเด็กว่ามีความรู้อย่างไร เป็นต้น ดังนั้นในการสอบภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ขึ้นอยู่กับโรงเรียนการตัดสินใจของโรงเรียนว่าจะจัดสอบหรือไม่ เพราะขณะนี้มีหลายวิธีในการวัดและประเมินผลนักเรียนได้

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ศธ.ได้ยกเลิกการประเมินความสามารถด้านภาษาไทยและความสามารถด้านคณิตศาสตร์ หรือ NT และการประเมินความสามารถด้านการอ่านออกเสียงและอ่านรู้เรื่อง หรือ RT ปีการศึกษา 2564 ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาออกไป เพื่อลดความเครียดของนักเรียน ตนมองว่า ต่อไปการสอบอาจจะไม่ใช่ตัวชี้วัดและประเมินผลนักเรียนทั้งหมด ซึ่งตนมอบหมายให้นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ไปดำเนินการปรับวิธีวัดและประเมินผล และออกประกาศให้สถานศึกษาทราบต่อไป

“ส่วนที่นักวิชาการเสนอให้หยุดเรียน 1 ปีนั้น ถือเป็นแนวคิดหนึ่ง ซึ่งดิฉันคิดว่าทุกคนมีความหวังดี แต่ ศธ.มองว่าในสถานการณ์นี้ไม่สามารถที่จะหยุดกระบวนการเรียนรู้ได้ มองว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นโอกาสที่ทำให้เราปรับกระบวนการเรียนการสอนในอนาคต ไปอีกรูปแบบหนึ่งแทนการเรียนในห้องเรียนแบบเดิม ถือเป็นโจทย์ และเป็นความท้าทายของ ศธ.ที่จะพัฒนาการศึกษาในอนาคต ซึ่งดิฉันได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหาทางฟื้นฟูการจัดการเรียนการสอน โดยดูว่าในสถานการณ์นี้ต่อไป ศธ.ควรจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้อย่างไรเพื่อพัฒนานักเรียน” น.ส.ตรีนุชกล่าว

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดการศึกษามาได้ระยะหนึ่ง พบว่าหากเราจัดการสอบแบบเดิมเรียนแบบปกติในสถานศึกษา จะเกิดปัญหา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 นักเรียนต้องปรับไปเรียนในรูปแบบอื่น เช่น ออนไลน์ หรือแจกใบงาน ซึ่งการเรียนลักษณธนี้จะไม่เน้นวิชาการอย่างเต็มที่ ดังนั้นการวัดและประเมินผลจะต้องเปลี่ยนตามการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย ที่ผ่านมาการวัดและประเมินผลจะเป็นการสอบ โดยให้นักเรียนกาคำตอบที่ถูกต้องด้วย ก ข ค ง แต่การเรียนในปัจจุบันต้องยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องให้นักเรียนนั่งทำข้อสอบแล้ว โดยปรับการวัดและประเมินผลด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การสอบผ่านรูปแบบใบงาน การปฏิบัติ แฟ้มสะสมงานแทน เป็นต้น

Advertisement

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนภาคเรียนที่ 2 จำเป็นต้องมีสอบเพื่อเลื่อนชั้นหรือไม่ ตนมองว่าประเด็นนี้มีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเรียนของนักเรียนชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 หรือนักเรียนที่จะต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ หากไม่มีการสอบเพื่อให้จบหลักสูตร นักเรียนอาจมีปัญหาในการใช้ผลการเรียนไปศึกษาต่อได้ สพฐ.จะต้องไม่ให้นักเรียนทุกคนเสียสิทธิ แต่จะต้องหาวิธีการวัดและประเมินผลให้ยืดหยุ่นกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้โรงเรียนเป็นผู้กำหนดการวัดและประเมินผลเอง ภายใต้จุดเน้นที่ว่านักเรียนทุกคนต้องไม่เสียโอกาส

“ส่วนการวัดและประเมินผลของโรงเรียนแต่ละแห่ง จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีการปล่อยเกรดนั้น ต้องยอมรับว่าบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่ง และครอบครัวแต่ละครอบครัว ไม่มีความเท่ากันอยู่แล้ว ดังนั้นการวัดและประเมินผลในสถานการณ์เช่นนี้ก็ต้องประเมินเพื่อให้เห็นว่านักเรียนมีการพัฒนา ส่วนจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้นักเรียนสามารถไปแข่งขันได้ ผมมองว่าต้องรอสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้วค่อยมาเติมทักษะให้นักเรียนต่อไป” นายอัมพรกล่าว

ด้านนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า การวัดและประเมินผลของสถานศึกษาใน สอศ.นั้น ทางคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้หารือเพื่อหาทางยืดหยุ่นให้กับสถานศึกษาในสังกัด เนื่องจากการวัดและประเมินผลของ สอศ.จะวัดทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ การวัดและประเมินผลโดยเฉพาะการสอบปฏิบัติ อาจจะติดขัด เพราะนักศึกษาไม่ได้เข้ามาเรียนในสถานศึกษา ดังนั้น คณะกรรมการ กอศ.จึงมีมติให้สถานศึกษามีความยืดหยุ่นในการวัดและประเมินผล ของปีการศึกษา 2564 หากสถานศึกษาแห่งไหนสามารถสอบปฏิบัติและสอบทฤษฎีในภาคเรียนที่ 1 ได้ ก็ดำเนินการไป แต่หากสถานศึกษาแห่งไหนไม่สามารถสอบปฏิบัติ สามารถรวบยอดไปสอบภาคเรียนที่ 2 ครั้งเดียวได้เลย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image