‘วรัท’ สั่งกศน.ทั่วปท.ถอดไฟล์นิยายละเมิดลิขสิทธิ์ ย้ำครูไม่มีเจตนา

‘วรัท’ สั่งกศน.ทั่วปท.ถอดไฟล์นิยายละเมิดลิขสิทธิ์ วอนอย่าฟ้อง ครูไม่มีเจตนา สั่งกำชับไม่ให้เกิดกรณีนี้อีก แต่ถ้าจำเป็น นิติกรพร้อมช่วยบรรณารักษ์สู้คดี

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีนักเขียนนวนิยายได้ดำเนินการทางกฎหมายกับบรรณารักษ์และผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ(ผอ.กศน.อำเภอ) หรือผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด(ผอ.กศน.จังหวัด) ที่ดูแลห้องสมุดประชาชนออนไลน์ ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ โดยได้มีการสแกนไฟล์นิยายขึ้นเว็บไซต์ห้องสมุดประชาชนออนไลน์ให้อ่านฟรีนั้นว่า ชี้แจงก่อนว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจากเจตนาดีของครูบรรณารักษ์ที่เห็นว่าช่วงโควิด นักศึกษาและประชาชนไม่สามารถเดินทางมาใช้บริการที่ห้องสมุดได้ จึงได้หาหนังสือ/สื่อมาให้บริการในรูปแบบอีบุ๊ก โดยเจตนาดีและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่คิดว่าสามารถทำได้ ไม่รู้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงได้สแกนหนังสือที่ซื้อจากสำนักพิมพ์และนักเขียนไปโหลดขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้อ่านฟรี ซึ่งครูบรรณารักษ์เหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษาที่จบใหม่ เป็นครูอัตราจ้างซึ่งไม่ได้มีความรู้ด้านกฎหมาย

เลขาธิการ กศน. กล่าวต่อว่า ตนเพิ่งทราบปัญหาดังกล่าว ก็เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมาที่มีตัวแทนสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย มาเข้าพบเพื่อแจ้งว่ากศน.ได้ละเมิดลิขสิทธิ์สำนักพิมพ์ โดยมีการสแกนหนังสือของสำนักพิมพ์ขึ้นเว็บไซต์ของห้องสมุดประชาชนออนไลน์เพื่อให้ประชาชนอ่านฟรี ซึ่งตนก็ตกใจและทันทีที่ทราบเรื่องก็ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ศธ 0210.122/3534 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานกศน.จังหวัดทุกจังหวัด เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือและสื่อการเรียนรู้

 

Advertisement

ซึ่งในหนังสือดังกล่าว เราย้ำว่าการทำซ้ำหรือเผยแพร่ไม่ว่าจะโดยการสแกนหรือวิธีการใดไม่ถูกต้องและเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ขอให้สำนักงานกศน.จังหวัดทุกแห่งเอาไฟล์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านั้นลงจากห้องสมุดประชาชนออนไลน์ แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นไปได้ว่าหนังสือสั่งการยังไปไม่ถึงระดับปฏิบัติ ฉะนั้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ตนจึงได้ทำหนังสือย้ำไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานกศน.จังหวัดทุกแห่งอีกครั้ง พร้อมกับเปิดทางให้สำนักงานกศน.จังหวัด สามารถจัดซื้ออีบุ๊กที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและประชาชนได้ โดยแนะวิธีจัดซื้อตามระบบราชการที่ถูกต้องโดยไม่ต้องละเมิดลิขสิทธิ์อีก

“หลังจากที่เห็นข่าวจากมติชนที่ลงข่าวเรื่องละเมิด ผมก็ตกใจ เพราะก่อนหน้านี้ได้สั่งให้มีการถอดไฟล์ทั้งหมดออกไปแล้ว แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าถึงแม้จะลบไฟล์ออกแล้ว นักเขียนก็ยังไม่พอใจ จึงได้เอาภาพที่แคปไว้มาดำเนินการทางกฎหมาย  อย่างไรก็ตามชี้แจงว่าที่ผ่านมาพอเกิดเคสละเมิด เมื่อทางเรารู้ว่าผิด ก็ได้ขออภัยและได้ถอดไฟล์ออกจากเว็บไซต์ ซึ่งนักเขียนเจ้าของลิขสิทธิ์หลายคนก็ไม่เอาความและให้อภัยซึ่งก็ต้องขอบคุณ ผมรู้ว่านักเขียนเมื่อเขียนงานออกมาแล้วก็เป็นผลงานของเขา แต่เมื่อเกิดความผิดพลาดแล้ว และได้มีการขออภัย ผมก็อยากให้เป็นสังคมที่ให้อภัยกัน ทั้งนี้หลังจากที่เห็นข่าวจากมติชน ในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานกศน.จังหวัดทั่วประเทศผ่านระบบซูมเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมก็ได้เน้นย้ำผู้อำนวยการสำนักงานกศน.จังหวัดทั่วประเทศอีกครั้งว่าการนำผลงานของสำนักพิมพ์และนักเขียนมาทำซ้ำหรือเผยแพร่โดยการสแกนไม่ถูกต้อง เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ขอให้ลบออกทันที นอกจากนี้ผมก็ยังย้ำด้วยวาจาไปอีกรอบหนึ่งด้วยว่าถ้าเกิดเคสปัญหาขึ้น ก็ขอให้รายงานมาตามลำดับชั้น โดยกศน.อำเภอต้องรายงานกศน.จังหวัด และกศน.จังหวัด รายงานกศน.ส่วนกลาง ตามลำดับชั้นเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหากันต่อไป ไม่ควรไปแก้ไขปัญหากันเอาเอง แต่เคสที่เป็นข่าว ผมไม่ทราบเรื่องเลย เพิ่งมาทราบจากมติชน” เลขาธิการ กศน.กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า นักเขียนที่ฟ้องร้องเป็นนักเขียนที่พิมพ์นิยายขายเอง ไม่ได้ส่งให้สำนักพิมพ์ ฉะนั้นไฟล์ที่สแกนดาวน์โหลดขึ้นไม่ใช่ของสำนักพิมพ์ แต่เป็นของนักเขียน ดร.วรัท กล่าวว่า อย่างที่บอกว่าเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของครูบรรณารักษ์ ที่เกิดจากความหวังดีที่ไม่ได้เจตนาที่จะแสวงหาผลประโยชน์หรือกำไร  แต่ไม่เป็นไรถ้านักเขียนจะฟ้องร้องก็ว่ากันไปตามระบบราชการ ใจตนไม่อยากให้มีการฟ้อง แต่ถ้าต้องฟ้องร้อง เราก็มีนิติกรของกศน.ที่จะดูแลเพราะเราไม่ได้ทำไปโดยแสวงหากำไร แต่ทำเพื่อนักศึกษาและประชาชนจริงๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยกศน.บางแห่งยอมชดใช้ค่าเสียหาย ดร.วรัท กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่อง คงไม่ใช่กศน.จังหวัดจ่าย กศน.จังหวัดจะไปเอาเงินจากไหนมาจ่าย น่าจะเป็นการเจรจายอมความกันเองของครูบรรณารักษ์หรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้ตนไม่ทราบ แต่ครูบรรณารักษ์ส่วนใหญ่เป็นครูจบใหม่ ครูอัตราจ้าง เงินเดือนไม่กี่พันบาท เขาคงลำบาก ฉะนั้นในวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคมนี้ ตนจะเรียกผู้บริหารกศน.ฝ่ายที่เกี่ยวข้องและฝ่ายกฎหมายมาหารือว่าจะช่วยเหลือบรรณารักษ์ที่ถูกฟ้องร้องอย่างไร เพราะโดยระบบ เขาดำเนินการในนามของส่วนราชการ ไม่ใช่ทำในนามบุคคล ระบบราชการก็ต้องดูแล ซึ่งถ้ามีการฟ้องร้อง เราก็มีนิติกรกศน.ที่ดูแลคดีอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้มีนักเขียนอีกรายโพสต์ว่ายังมีกศน.จังหวัดบางแห่งยังไม่ลบไฟล์นิยายออกจากห้องสมุดประชาชนออนไลน์ จะดำเนินการฟ้องร้องกศน.อีก ดร.วรัท กล่าวว่า ในทางปฏิบัติก็เป็นไปได้ว่าคำสั่งของตนยังไม่ถึงระดับผู้ปฏิบัติ ซึ่งก็จะได้กำชับเรื่องนี้อีกครั้ง

อ่าน : นักเขียน “ณัฐณรา” ฟ้อง ‘ผอ.กศน.-บรรณารักษ์’ ละเมิดลิขสิทธิ์อีบุ๊ก ‘ปล่อยไฟล์ดาวน์โหลดฟรี’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image