พณ.จัดติวผู้ประกอบการปรับตัวรับโควิด ชี้เครื่องเทศ สมุนไพร อาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าดาวเด่น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง “รอบรู้ตลาดการค้าเสรีกับกรมเจรจา: เตรียมพร้อมผู้ประกอบการไทยให้ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มาร่วมแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์เรื่องการปรับธุรกิจให้รับมือวิกฤตโควิด-19 และใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อขยายโอกาสการส่งออกสินค้าไทย และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทยในตลาดโลก

นางสาวบุณิกา แจ่มใส รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสริมว่า FTA ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทย แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการค้ารวมของไทยกับประเทศคู่ FTA ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 24.7% คิดเป็นมูลค่า 195,912 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกขยายตัวถึง 18.2% คิดเป็นมูลค่า 95,971.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ คือ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น สินค้าที่น่าจับตามองและเป็นดาวเด่น คือ เครื่องเทศสมุนไพร และอาหารสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคสูงและสามารถขยายส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง โดยกรมฯ จะจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ FTA ให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ เพื่อใช้เป็นอาวุธสร้างแต้มต่อและต่อยอดขยายส่งอออกตลาดต่างประเทศ

ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าส่งออกมีหลายแนวทาง เช่น การควบคุมคุณภาพสินค้า การเลือกใช้วัสดุ การออกแบบ การสร้างแบรนด์ การใช้ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม นวัตกรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยผู้ประกอบการต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดเป้าหมายด้วย รวมทั้งศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแนวโน้มของตลาดโลก เช่น การขยายตัวของสังคมเมือง สังคมผู้สูงวัย การใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ กระแสเศรษฐกิจ BCG และการใช้ชีวิตแบบวิถีชีวิตใหม่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปใน 5 แนวทาง คือ 1) การใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน 2) การสนับสนุนสินค้าท้องถิ่น 3) เน้นราคาและความคุ้มค่าของสินค้า 4) การรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และ 5) การรักษาสุขภาพ สำหรับสินค้าไทยที่จะมีโอกาสเติบโตในตลาดโลกต้องให้ความสำคัญกับ 3 สิ่ง คือ การพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง การสร้างแบรนด์ และการใช้ช่องทางการจำหน่ายที่เหมาะสม โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้าออนไลน์ และควรให้ความสำคัญกับระบบจัดจำหน่ายและระบบขนส่ง เพื่อให้สามารถขยายตลาดได้รวดเร็วและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

Advertisement

นางจันท์นิภา สถิรปัญญา เลขาธิการสมาคมตลาดสดไทย ระบุว่า ในช่วงโควิด-19 ทิศทางของตลาดสดต้องปรับรูปแบบมาใช้ Social Media เข้ามาช่วยมากขึ้น อาทิ การสั่งสินค้าผ่านระบบ Delivery รวมถึงปรับตัวให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่ปัจจุบันหันมาดูแลสุขภาพ และใส่ใจเรื่องราคาสินค้าและความคุ้มค่ามากขึ้น ตลาดสดจึงต้องคำนึงถึงคุณภาพสินค้าที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และควรปรับตัวเป็นตลาดออนไลน์ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image