“เมอร์ค-ไฟเซอร์” เร่งพัฒนา “ยากิน” สำหรับรักษาหรือยับยั้ง โควิด-19

REUTERS/Carlo Allegri/File Photo

“เมอร์ค-ไฟเซอร์” เร่งพัฒนา “ยากิน” สำหรับรักษาหรือยับยั้ง โควิด-19

รอยเตอร์รายงานว่า บริษัท ไฟเซอร์ อิงค์. และ เมอร์ค แอนด์ โค อิงค์. ของสหรัฐอเมริกา ประกาศเมื่อวันที่ 1 กันยายนนี้ถึงการทดลองครั้งใหม่สำหรับยาต่อต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดสำหรับกิน หลังจากปริมาณผู้ติดเชื้อโควิด ที่มีอาการหนักและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นอย่างพรวดพราด

ไฟเซอร์ระบุว่า กำลังอยู่ระหว่างการทดลองยาเม็ดที่มีชื่อรหัสในการพัฒนาว่า PF-07321332 ในกลุ่มทดลองที่เป็นผู้ใหญ่ ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการหนักถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาลจำนวน 1,140 ราย โดยผู้เข้ารับการทดลองจะได้รับยา PF-07321332 กับ ยา ริโทนาเวียร์ ในปริมาณโดสต่ำ ทั้งนี้ ยาริโทนาเวียร์ เป็นยาที่มีใช้อยู่เดิม สำหรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของยาผสมเพื่อรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส เอชไอวี โดยไฟเซอร์ อ้างว่า ยา PF-07321332 ของตนออกแบบมาเพื่อให้ทำหน้าที่สกัดกั้นกิจกรรมของเอ็นไซม์ สำคัญชนิดหนึ่งซึ่ง เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 จำเป็นต้องใช้ในการแบ่งตัว แพร่จำนวนในร่างกายมนุษย์

ทั้งนี้ไฟเซอร์ระบุว่าได้เริ่มการทดลองยา PF-07321332 นี้ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาและคาดว่าจะได้ผลลัพธ์เบื้องต้นในราวฤดูใบไม้ร่วง ปลายปีนี้

ในขณะที่เมอร์ค แถลงถึงการทดลองครั้งใหม่ว่า เป็นไปเพื่อศึกษาว่ายาเม็ด โมลนูพิราเวียร์ ใช้ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ใหญ่ภายในครัวเรือนเดียวกันได้หรือไม่ เมื่อเกิดมีสมาชิกในครอบครัวติดเชื้อโควิดเข้ามาแพร่ในครอบครัว โดย เมอร์ค กับ ริดจ์แบค ไบโอเธราพิวติคส์ ที่เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาได้เริ่มการทดลอง โมลนูพิราเวียร์ ในระยะสุดท้ายไปแล้ว เพื่อดูว่าสามารถป้องกันผู้ติดเชื้อที่ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่ให้เกิดอาการทรุดหนักต้องเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตได้หรือไม่

Advertisement

ทั้งนี้ โมลนูพิราเวียร์ เป็นยาต่อต้านไวรัสที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความผิดพลาดให้เกิดขึ้นกับสารพันธุกรรม (อาร์เอ็นเอ) ของไวรัส เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแบ่งตัว แพร่กระจายในร่างกาย

นอกเหนือจากเมอร์คและไฟเซอร์ ที่แข่งกันพัฒนายาเม็ดสำหรับกินทางปาก เพื่อให้ง่ายต่อการรักษาผู้ติดเชื้อที่บ้านแล้ว บริษัท โรช เอจี ของสวิตเซอร์แลนด์ ก็ร่วมมือกับ เอที ฟาร์มาซูติคอล ในการพัฒนายาเม็ดเพื่อรักษาหรืออาจป้องกันโควิด-19 ด้วยอีกบริษัท โดยเคยแถลงเมื่อเดือนมิถุนายนนี้ว่า ยาชื่อรหัส AT-527 แสดงผลในการทดลองเบื้องต้นว่า สามารถลดปริมาณไวรัสในตัวผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลได้

เมอร์ค เคยแถลงเมื่อเดือนมิถุนายนว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาพร้อมจ่ายเงินจำนวน 1,200 ล้านดอลลาร์ สำหรับจัดซื้อ โมลนูพิราเวียร์ 1.7 ล้านคอร์ส หากหน่วยงานกำกับดูแลยาของสหรัฐ สามารถพิสูจน์ได้ว่า โมลนูพิราเวียร์ มีประสิทธิภาพจริง โดยทางบริษัทคาดว่าจะสามารถส่งรายละเอียดผลการทดลองให้ทางการสหรัฐ สำหรับพิจารณาอนุญาตให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินได้อย่างเร็วที่สุดในราวครึ่งหลังของปี 2021 นี้ ในขณะที่ ไฟเซอร์ ระบุเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า หากผลการทดลองยา PF-07321332 ประสบผลสำเร็จ ก็อาจยื่นขออนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image