เพียง7เดือนปี64ธุรกิจขายปลีกบนออนไลน์เปิดใหม่เท่าทั้งปี63 สิงคโปร์เต็งหนึ่ง เร่งตลาดทะลุแสนล้าน

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยและทั่วโลกยังคงเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อระหว่างกันง่ายมากขึ้น รัฐบาลจึงได้ยกระดับมาตรการที่เข้มข้นเพื่อสกัดการระบาดรอบใหญ่ในครั้งนี้ให้ยุติลงอย่างรวดเร็ว อาทิ การจำกัดช่วงเวลาออกจากเคหะสถานในช่วงกลางคืนหรือการปิดห้างและร้านขายของต่างๆ เพื่อลดการรวมตัวของประชาชน ซึ่งจากมาตรการนี้ส่งผลให้ภาคธุรกิจทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่

หากพิจารณาย้อนหลังไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับระบบการค้าออนไลน์ และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง การเกิดวิกฤตในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นความสำเร็จและความพร้อมอย่างเป็นรูปธรรมถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจและผู้บริโภคในการเข้าสู่การค้าออนไลน์

จากข้อมูลการวิเคราะห์ธุรกิจในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ธุรกิจที่กลายเป็นดาวเด่นคือ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันมีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 3,525 ราย ตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2564 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 7 เดือนแรก จำนวน 794 ราย เป็นจำนวนเกือบเท่ากับทั้งปี 2563 ที่มีจำนวน 798 ราย หากเทียบช่วงเดือนก่อนหน้า พบว่าเดือนกรกฎาคม  มี 112 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่มี 106 ราย หรือเพิ่ม  5.66% และเทียบกับเดือนกรกฎาคมปีก่อนที่มี 79 ราย หรือเพิ่ม 41.77%

“ เป็นที่น่าจับตามองถึงยอดจดทะเบียนในครึ่งหลังปีนี้ จะสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจนี้กลายเป็นธุรกิจดาวเด่นของปี 2564 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเร่งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกเต็มที่ ปัจจุบันยอดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จํานวน 2,865 ราย สัดส่วน 81.28% มูลค่าทุนจดทะเบียน 28,914.74 ล้านบาท โดยจดตั้งธุรกิจทุนไม่เกิน  1 ล้านบาท มากสุด จํานวน 2,758 ราย  และเป็นธุรกิจขนาดเล็กมากที่สุด จํานวน 3,468 ราย คิดเป็น 98.38%

Advertisement

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการเข้ามาลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ช มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยสิงคโปร์ครองแชมป์อันดับ 1 มูลค่า 16,045.30 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 54.18% ตามด้วยฮ่องกง 2,224.56 ล้านบาท จีน 321.80 ล้านบาท ซึ่งประเมินว่าธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต ถือเป็นธุรกิจที่มีการรายได้ภายในประเทศสูงถึงแสนล้านบาทต่อปี โดยปี 2563 ธุรกิจนี้มีรายได้รวม 111,670 ล้านบาท ผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อสินค้าหรือทำธุรกรรมต่างๆผ่านทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ตามวิถีชีวิตใหม่ภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19  แม้มาตรการล็อกดาวน์จะเป็นปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก แต่ผู้ประกอบยังคงต้องเผชิญความท้าทายและเตรียมพร้อมด้านจัดส่งสินค้าในหลายพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากพนักงานขนส่งด้วย  

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image