เมื่อโรงเรียนท้องถิ่น ไล่กวดสัมฤทธิผลทางการศึกษา

ภาพลักษณ์ของโรงเรียนเทศบาล ในสายตาคนทั่วไปในอดีตเป็นโรงเรียนเกรดสอง นักเรียนส่วนใหญ่ฐานะยากจนหรือระดับปานกลาง แต่ภายหลังการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นราวยี่สิบปีที่ผ่านมา มีความตื่นตัวในพัฒนาโรงเรียนท้องถิ่นที่น่าชื่นชม โดยปรับปรุงคุณภาพการศึกษาจนกลายเป็นโรงเรียนชั้นนำประจำจังหวัดและ/หรือติดอันดับ top 5% ของประเทศ ด้วยความตั้งใจของผู้บริหารและความพยายาม “ไล่กวดสัมฤทธิผลทางการศึกษา” ในโอกาสนี้ขอนำผลวิจัยจากผลสอบโอเน็ต ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ในปี พ.ศ.2563 มาวิเคราะห์และสื่อสารสาธารณะ

คำศัพท์ การไล่กวด (catching-up) เป็นที่แพร่หลายมานานในหลายวงการ อาทิ เศรษฐศาสตร์ การจัดการ การพัฒนาฯ เช่นกล่าวว่า ประเทศกลุ่มอาเซียนพยายามไล่กวดประเทศชั้นนำในทวีปอเมริกาและยุโรป โดยวัดจากดัชนีต่างๆ อาทิ GDP ต่อหัว ดัชนีทุนมนุษย์ เป็นต้น งานบริหารการศึกษาก็เช่นเดียวกันมีความพยายามที่จะไล่กวดสัมฤทธิผลทางการศึกษาในโรงเรียนสังกัดท้องถิ่นด้วยความอุตสาหะและความตั้งใจ โดยผสมผสานมาตรการและวิธีการต่างๆ อาทิ จัดครูให้ครบสาระวิชา จัดห้องพิเศษ ขอคำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ร.ร.สาธิตในสังกัดสถาบันอุดมศึกษา เพิ่มชั่วโมงการเรียนรู้คณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์-ภาษาอังกฤษ ลงทุนปรับปรุงห้องเรียนห้องปฏิบัติการ เพิ่มทักษะชีวิตในด้านกีฬา ดนตรี ศิลปะ รวมทั้งเปิดโอกาสนักเรียนไปดูงานหรือตัวอย่างโรงเรียนชั้นนำ

เป็นที่น่ายินดีที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดทดสอบที่เรียกว่า “โอเน็ต” เพื่อวัดสัมฤทธิผลทางการศึกษาเป็นค่าอ้างอิง นักวิจัยในทีมได้ประมวลคะแนนโอเน็ต ป.6 ในปี 2563 ทั่วประเทศ มีจำนวนนักเรียนเข้ารับการทดสอบมากกว่า 5 แสนคนจากโรงเรียน 25,883 แห่ง นำมาจำแนกกลุ่ม (quintile grouping) เรียกย่อว่า Q1, Q2, Q3, Q4, Q5 ตามลำดับ รูปภาพที่ 1 แสดงการกระจายตามคะแนนจำแนกตามหน่วยงานต้นสังกัด ที่น่าสังเกตคือ ร.ร.สาธิตที่สังกัดสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 42 แห่ง อยู่ในกลุ่ม Q4 และ Q5 ถือว่าสัมฤทธิผลทางการศึกษาสูงสุด ร.ร.สังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวนมากที่สุดโดยเกินกว่าครึ่งใน Q1, Q2 และ Q3 โรงเรียนในสังกัดท้องถิ่นรวมทั้งสิ้น 1181 แห่ง เกินครึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Q4 และ Q5

รูปภาพที่ 1 การกระจายของสัมฤทธิผลการศึกษา ระดับ ป.6 ของโรงเรียนทั่วประเทศ
รูปภาพที่ 2 แสดง 20 โรงเรียนท้องถิ่นที่สัมฤทธิผลทางการศึกษาสูงสุด (ในกลุ่มท้องถิ่นด้วยกันเอง) พร้อมแสดงค่าเฉลี่ยคะแนน (คะแนนเต็ม 400 ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศเท่ากับ 152.2 คะแนน) กระจายอยู่ในหลายจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ราชบุรี เชียงราย และภูเก็ต เป็นต้น

นักวิจัยได้จัดเรียงลำดับตามคะแนน (ranking) ทั่วประเทศ ในขั้นต้นคัดกรอง 300 แห่งที่คะแนนสูงสุด เพื่อตรวจสอบว่า ร.ร.สังกัดท้องถิ่นอยู่ในกลุ่มนี้หรือไม่ ผลลัพธ์สรุปว่า 6 โรงเรียนสังกัดท้องถิ่นติดในกลุ่มท็อป 300 ของประเทศ (จากจำนวน 25883 แห่ง) ดังแสดงในตารางที่ 1

Advertisement

ตารางที่ 1 6 โรงเรียนท้องถิ่นที่ติดกลุ่ม 300 อันดับแรกของประเทศ

เพื่อความเข้าใจเชิงลึกทีมวิจัยได้ขอนัดสัมภาษณ์หรือเยี่ยมชมโรงเรียนท้องถิ่นที่บริหารการศึกษาได้ดีเยี่ยมจำนวนหนึ่ง เพื่อบันทึกวิธีการจัดการศึกษา สัมภาษณ์แรงบันดาลใจของผู้บริหารท้องถิ่นและโรงเรียน การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการลงทุน เฟ้นหาครูที่มีคุณภาพครบสาระวิชา รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญการศึกษาหรือผู้บริหารโรงเรียนสาธิตมาเป็นเวลายาวนาน พัฒนาห้องเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครู เพิ่มทักษะให้แก่คุณครู เพิ่มชั่วโมงเรียนในสาระความรู้ที่จะต้องทดสอบ ให้โอกาสครูและนักเรียนไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ เป็นต้น

การส่งเสริม/สนับสนุนให้โรงเรียนท้องถิ่นยกระดับสัมฤทธิผลทางการศึกษา เป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราพบว่า ร.ร.ท้องถิ่นชั้นนำจำนวนนับร้อยแห่งพยายามไล่กวดโรงเรียนสาธิตหรือโรงเรียนเอกชนหรือของรัฐที่มีชื่อเสียงมีประวัติยาวนานนับร้อยปี สำหรับ ร.ร.ท้องถิ่นระดับกลางสนับสนุนให้ไล่กวดเพื่อให้ติดในกลุ่ม Q4 หรือ Q5 จากเดิมกลุ่ม Q1 Q2 Q3 เป็นพัฒนาการที่น่าชื่นชมและควรค่าต่อการค้นคว้า ทีมวิจัยของเราประมวลจากหลายจังหวัดทุกภูมิภาค เพื่อนำมาเรียบเรียงและสื่อสารสาธารณะในโอกาสต่อไป

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, พิชิต รัชตพิบุลภพ
ภาวิณี สตาร์เจล, อาภาพร สุขหอม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image