‘ศธ.’ เผยเด็กได้ฉีดวัคซีนกว่า 4 หมื่นราย ด้านผู้ปกครองยังห่วง แม้ลูกรับไฟเซอร์แต่อยากให้เรียนออนไลน์ต่อ

{"subsource":"done_button","uid":"294797CC-5CF2-414F-884A-8B1C07A37A55_1633497341695","source":"other","origin":"gallery","is_remix":false,"used_premium_tools":false,"used_sources":"{"version":1,"sources":[]}","source_sid":"294797CC-5CF2-414F-884A-8B1C07A37A55_1633497342069","premium_sources":[],"fte_sources":[]}

‘ศธ.’ เผยเด็กได้ฉีดวัคซีนกว่า 4 หมื่นราย ด้านผู้ปกครองยังห่วง แม้ลูกรับไฟเซอร์แต่อยากให้เรียนออนไลน์ต่อ หวั่นติดเชื้อ

เมื่อเวลา 08.18 น. วันที่ 6 ตุลาคม ที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี นายอุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กนอกโรงพยาบาล โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.และ สธ.เข้าร่วม

น.ส.ตรีนุชเปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมว่า การฉีดวัคซีนเป็นการลดความเสี่ยงและลดความรุนแรง หากนักเรียนได้รับเชื้อ ส่วนในเดือนพฤศจิกายน จะสามารถเปิดเรียนในโรงเรียนได้หรือไม่ คณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้ประเมินและอนุญาตต่อไป โดยจะประเมินโรงเรียนว่ามีมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขที่เข้มงวดหรือไม่ เพราะแม้ว่านักเรียนจะได้รับวัคซีนแล้ว แต่การเรียนต่อไปต้องอยู่ภายใต้รูปแบบชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal เนื่องจากโรงเรียนในสังกัดของ ศธ. มีหลากหลายขนาด โดยมีโรงเรียนกว่า 30,000 แห่ง ในจำนวนนี้มีโรงเรียนประมาณ 15,000 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ซึ่งคาดว่าโรงเรียนเหล่านี้จะสามารถเรียนภายใต้รูปแบบชีวิตวิถีใหม่ได้ ส่วนโรงเรียนขนาดอื่นๆ ต้องดูว่าแต่ละพื้นที่มีการแพร่ระบาดอย่างไร และวางแผนจัดการเรียนการสอนต่อไป เช่น อาจให้นักเรียนสลับวันมาเรียน เป็นต้น

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า ส่วนเด็กประถมที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หากเปิดเทอมแล้วจะได้เรียนในโรงเรียนหรือไม่ ต้องดูขนาดของโรงเรียน และต้องดูว่าโรงเรียนมีมาตรการอย่างไร ใช้มาตรการสาธารณสุขป้องกันโรคหรือไม่ วางแผนจัดให้เด็กมาเรียนอย่างไร และทำการขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดต่อไป

“สำหรับแผนเผชิญเหตุหากพบการติดเชื้อในโรงเรียน ศธ. ได้จัดทำแผนร่วมกับ สธ.ว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนผู้ปกครองมีความประสงค์ให้บุตรหลานฉีดวัคซีนมีเพิ่มขึ้นกว่าแสนราย จากที่แจ้งความประสงค์จาก 71% เพิ่มมาประมาณ 80% ทั่วประเทศ จาก 5 ล้านคน ทั้งนี้ ศธ.ประสานกับ สธ.ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครูที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนนักเรียนด้วย” น.ส.ตรีนุชกล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า จำนวนการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนหลังคิกออฟ 2 วัน นายสุภัทร จำปาทอง ศธ. กล่าวว่า ฉีดแล้วประมาณ 4 หมื่นกว่าคน ส่วนภาพรวมนักเรียนที่ประสงค์จะฉีดวัคซีน จากข้อมูล ณ วันที่ 5 ตุลาคม พบผู้เรียนทั้งหมด 5,070,708 คน แจ้งประสงค์ขอรับวัคซีน 3,774,442 คน คิดเป็น 74.44% เมื่อแบ่งภาพรวมร้อยละการฉีดวัคซีนในแต่ละภูมิภาค มีดังนี้ ภาคเหนือ 74.79% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 69.27% ภาคตะวันออก 78.68% ภาคตะวันตก 73.82% ภาคกลาง 77.61% และภาคใต้ 76.78%

ด้านนางอาลัย พรหมชนะ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กล่าวว่า เบื้องต้นมีนักเรียนประสงค์ฉีดวัคซีนจำนวน 2,505 คน จากนักเรียนทั้งหมด 2,929 คน คิดเป็นร้อยละ 85.52 สาเหตุที่มีนักเรียนไม่ประสงค์ฉีดกว่า 400 คน มาจากนักเรียนบางส่วนฉีดไปแล้ว และมีนักเรียนบางส่วนได้รับวัคซีนไฟเซอร์จากโรงพยาบาลเอกชนไปก่อนแล้ว ทั้งนี้ยังพบว่ามีนักเรียนประมาณ 500 คน ที่ขณะนี้อาศับอยู่ต่างจังหวัด ทางโรงเรียนจะช่วยประสานนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อให้นักเรียนได้รับวัคซีนตามภูมิลำเนาของตน โดยไม่ต้องเดินทางกลับเข้ามารับวัคซีนที่โรงเรียน

“ซึ่งการจัดให้นักเรียนฉีดวัคซีนวันนี้ ทางโรงเรียนดำเนินการภายใต้การเฝ้าระวังและป้องกันตามมาตรการการแพร่ระบาดของกรมควบคุมโรค สธ. โดยจะให้นักเรียนทั้ง 2,505 คน จะได้รับการฉีดวัคซีนภายในวันนี้ ซึ่งโรงเรียนจะแบ่งช่วงเวลาให้นักเรียนมารับวัคซีน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรวมตัวกัน คือให้นักเรียนระดับชั้น ม.ต้น เข้ามาฉีดในช่วงเช้า และและนักเรียนระดับ ม.ปลาย เข้ามาฉีดในช่วงบ่าย คาดว่าจะฉีดเสร็จประมาณ 16.00 น.” นางอาลัยกล่าว

Advertisement

ด้านตัวแทนผู้ปกครองนักเรียน ระดับชั้น ม.1 กล่าวว่า สาเหตุที่ตัดสินใจให้ลูกฉีดวัคซีน เพราะกลัวลูกติดเชื้อ และป้องกัน หากได้ติดเชื้ออาจจะมีอาการที่เบาลง ส่วนตัวไม่กังวลว่าลูกจะได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน เพราะจากการหาข้อมูล พบว่าผลข้างเคียงจะเกิดขึ้นเฉพาะเด็กผู้ชายเท่านั้น ลูกสาวตนน่าจะไม่เกิดผลข้างเคียงอะไร

“แม้ลูกจะได้รับวัคซีนแล้ว แต่ยังไม่ไว้วางใจให้ลูกมาเรียนในโรงเรียน เพราะกลัวลูกจะติดเชื้อ และคิดว่าการเรียนออนไลน์ในตอนนี้ไม่มีปัญหาอะไร จึงอยากให้ลูกเรียนออนไลน์ต่อไป” ตัวแทนผู้ปกครองกล่าว

นักเรียนชาย อายุ 15 ปี ชั้น ม.3 รายหนึ่ง กล่าวว่า เต็มใจมาฉีดวัคซีน เพราะต้องการความปลอดภัย และไม่กังวลว่าจะมีผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว เพราะได้ศึกษาผลข้างเคียง ผลกระทบมาบ้าง และเตรียมความพร้อมมาแล้ว จึงมั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้ ที่ผ่านมาโรงเรียนจัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ แต่ก็พบปัญหา บางครั้งตนเครียด และที่สำคัญมีเพื่อนบางคนที่อุปกรณ์ไม่พร้อม ครูและเพื่อนในห้องต้องช่วยกันเพื่อให้เพื่อนคนดังกล่าวเรียนให้ทันเพื่อน จึงอยากได้รับวัคซีนและอยากกลับมาเรียนในโรงเรียน เพราะเรียนในห้องเรียนปกติ มีสมาธิมากกว่า ที่สำคัญคือ ตนอยากจะเจอเพื่อนแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image