เล่าเรื่องหนัง : Irresistible ยอกย้อน-ภาพลวงตา ของการเมืองเรื่องเลือกตั้ง

หากจะบอกว่าภาพยนตร์เรื่อง “Irresistible” คือหนังการเมือง ก็พูดได้ไม่เต็มปาก ด้วยความที่หนังถูกออกแบบในท่วงทำนองตลกเสียดสี ผสมความฟีลกู้ดจนหน้าตารูปลักษณ์ภายนอกมีบรรยากาศไปทางหนังเบาสมอง แต่ราวกับหนังจะจงใจหลอกเรา เช่นเดียวกับการหักมุมในตอนจบของเรื่อง หนังได้แอบเฉลยตัวตนของตัวเองว่า นี่คือหนังการเมืองที่พูดถึงปัญหาการเมืองเรื่องการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาได้แบบตบซ้ายตบขวา ประชดประชันกันแบบสุดทาง

หนังเล่าเรื่องของนักวางแผนกลยุทธ์หาเสียงเลือกตั้งจากทั้งพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน โดยเน้นไปที่ “แกรี่” แคมเปญเนอร์จอมเก๋าจากพรรคเดโมแครต ที่เพิ่งพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

 

“แกรี่” สลัดความพ่ายแพ้และมูฟออนวางหมากใหม่อย่างรวดเร็วเพื่อปูทางเตรียมตัวสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีคร้ังต่อไปในอีก 4 ปี ข้างหน้า (ทั้งที่สหรัฐเพิ่งจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่) จากนั้นหนังพาไปดูวิธีสร้างงาน สร้างรายได้ หาเวย์ให้ตัวเองของ “แกรี่” ที่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของเขาคือ “คน” ที่จะต้องผลักดันให้ชนะเลือกตั้งให้สำเร็จ โดยหนึ่งในแผนช่วงชิงคะแนนเสียงทางการเมืองล่วงหน้า คือการปูทางกันตั้งแต่ในระดับ “เลือกตั้งท้องถิ่น” ที่ปรากฏว่าหนึ่งในทีมงานของ “แกรี่” ไปค้นพบดาวเด่น “แจ็ค” อดีตนายทหารผ่านศึกที่โด่งดังเป็นคลิปไวรัล เมื่อเขายืนหยัดต่อหน้าผู้นำท้องถิ่นที่เป็นรีพับลิกัน ด้วยการเรียกร้องประเด็นเพื่อชุมชนที่มีคำพูดโดนใจผู้คนไปทั่ว ซึ่งคลิปไวรัลนี้ไปเข้าตา “แกรี่” ที่คำนวณตัวเลขทางการเมืองในหัวได้ทันทีว่า การลงทุนกับ “แจ็ค” คืออนาคตและความคุ้มค่าสำหรับพรรคเดโมแครต

Advertisement

“แจ็ค” เป็นชาวบ้านในรัฐวิสคอนซิล หนึ่งในรัฐที่ในทางการเมืองสหรัฐอเมริกาถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “สวิง สเตท” (Swing States) หรือรัฐที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงแน่ชัดของพรรคใดพรรคหนึ่ง เลือกตั้งแต่ละครั้งผลคะแนนแปรผันได้ตลอด ซึ่งกลุ่มรัฐสวิง สเตท ก็มักจะมีบทบาทเป็นจุดตัดสำคัญในการชี้ทิศทางผู้ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ นั่นทำให้เมื่อถึงฤดูกาลเลือกตั้งใหญ่ กลุ่มรัฐสวิง สเตท จึงเป็น “รัฐสนามรบ” ที่ผู้สมัครจากทั้งพรรคเดโมแครต และรีพับลิกันจะทุ่มสุดตัวในการลงพื้นที่โค้งสุดท้ายเพื่อช่วงชิงคะแนน

“แกรี่” คำนวณสูตรตัวเลขในหัวแล้วก็คุ้มค่าที่ตัวเขาจะลงไปหว่านล้อมให้ “แจ็ค” ยอมลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นตำแหน่งนายกเทศมนตรีของเมือง ซึ่งสนับสนุนโดยพรรคเดโมแครต เพื่อเป็นฐานเสียงทรงพลังให้พรรคในรัฐวิสคอนซิลสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งหน้า

เรื่องราวจากนี้คือ “แกรี่” เดินทางไปที่เมืองและอยู่ทำแคมเปญหาเสียงนายกเทศมนตรีคนใหม่ ซึ่งหนังได้สอดแทรกทั้งความตลกเสียดสีมุมของนักเลือกตั้ง นักหาเสียง รวมทั้งการให้บรรยากาศหนังในแบบฟีลกู้ดไปด้วย ส่งผลให้ “Irresistible” เป็นหนังตลกที่ดูสนุกเลยทีเดียว

Advertisement

ทว่าบนความสนุกปนเสียงหัวเราะนั้น หนังก็เริ่มใส่มุมองทางการเมืองที่สะท้อน และสัพยอกการเลือกตั้งในสหรัฐที่มักถูกวิจารณ์ว่า ใช้จ่ายเงินในการหาเสียงกันมหาศาลตั้งแต่เลือกตั้งท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ รวมทั้งประชดถึงความเป็นรัฐสวิง สเตท ที่กลายเป็นรัฐที่สองพรรคคู่แข่งจะมาให้ความสำคัญทุ่มงบประมาณหาเสียงเอาตอนโค้งสุดท้ายในฤดูกาลเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก 4 ปี เท่านั้น

นั่นทำให้การเลือกตั้งและแคมเปญหาเสียงในสหรัฐ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นกิจกรรมที่มีราคาแพงลิบลิ่ว ราวกับว่าเป็น “ธุรกิจหาเสียง” มีการใช้งบประมาณในทุกส่วนสูงมาก โดยเฉพาะการทุ่มเงินไปที่งบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์

ภาพยนตร์เรื่อง “Irresistible” กำลังพูดถึงปัญหาที่ว่ามา โดยอ้างอิงว่าในเมื่อคนในแวดวงการเมือง ต่างมองเรื่องเลือกตั้งว่าเป็นเรื่องของ “ตัวเลข” (Numbers) ไม่ว่าจะทั้งตัวเลขคะแนนโหวต ตัวเลขงบประมาณหาเสียง ตัวเลขที่ผ่านการคำนวณความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองในเชิงสถิติ และทุกแคมเปญหาเสียงที่นำหลักสถิติประยุกต์ และการตลาดเข้ามาจับทั้งหมด หนังจึงพาไปดูว่า เมื่อเชื่อกันว่าเงินสามารถช่วยให้ชนะการเลือกตั้งได้ มันมีสูตรพิสดารอะไรหรือไม่ที่ประชาชน จะลุกขึ้นมาเป็นฝ่ายมีอำนาจต่อรองจากตัวเลขที่บรรดานักการเมือง นักเลือกตั้ง นักหาเสียงหยิบไปสร้างประโยชน์ทางการเมือง และนี่คือสิ่งที่หนังเรื่องนี้จะเฉลยในตอนท้ายของเรื่อง

“Irresistible” สะท้อนให้เห็นถึงการเลือกตั้งในสหรัฐ ที่ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น และระดับชาติใช้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะธรรมเนียมหนึ่งที่นิยมในการเลือกตั้งสหรัฐกันมาก คือ การใช้เงินทุนจากภาคธุรกิจสนับสนุนผู้สมัคร ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ผ่านการบริจาคเงินไปยัง “ตัวกลาง” ที่มีลักษณะเป็นกองทุนอิสระ ส่งผลให้มีเงินอิสระ ไปใช้ในระบบเลือกตั้ง ระบบนี้ถูกตั้งคำถามว่าทำให้การเมืองสหรัฐกลายเป็นการเมืองที่ใช้เงินมหาศาลเพื่อชัยชนะผ่านเงินบริจาคจากมหาเศรษฐีที่ไหลเข้าระบบการเมือง นำมาสู่การถูกวิจารณ์จากสาธารณชนว่า เงินจากผู้บริจาคกลุ่มนี้อาจจะมีอิทธิพลเหนือการเมืองได้

อีกทั้งกฎหมายสหรัฐยังเปิดช่องให้มีองค์กรทางการเมืองที่ไม่แสวงผลกำไรมาร่วมสนับสนุนเงินบริจาคให้ผู้สมัครได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อผู้บริจาคจนหลายองค์กรถูกขนานนามว่าเป็นกลุ่ม Dark Money
อย่างไรก็ดี มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาการใช้เงินในการเลือกตั้งจำนวนมากเป็นต้นว่าบางรัฐออกกติกากำหนด “เพดานเงิน” ค่าใช้จ่ายหาเสียง โดยสร้างแรงจูงใจด้านงบประมาณ หากผู้สมัครใช้งบหาเสียงอยู่ภายใต้เพดานที่กำหนด เมื่อชนะเลือกตั้งและเข้ามาบริหารก็สามารถที่จะได้รับงบประมาณรัฐแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งก็มีผู้สมัครเลือกตั้งบางคนเลือกวิธีนี้

กลับมาที่ “Irresistible” หนังเล่าเรื่องเหมือนจะไม่มีมิติซับซ้อนอะไร ขายความฟีลกู้ด ก่อนที่จะหักมุมแบบตลกหน้าซื่อในตอนท้ายให้เห็นว่า “หนึ่งคะแนนเสียง” ไม่ใช่สินค้าที่เหล่านักหาเสียง นักปั้นทางการเมืองจะมาทุ่มเงินทำโฆษณาประชาสัมพันธ์แต่เพียงอย่างเดียว พวกเขาสามารถสร้างอำนาจต่อรองให้ชุมชนและเมืองที่พวกเขาเป็นเจ้าของประชาธิปไตยเดียวกันนี้ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่สวิง สเตท ที่ไม่ใช่เพียงรัฐสนามรบที่จะมาถูกใส่ใจเป็นพิเศษแค่ช่วงฤดูกาลเลือกตั้งใหญ่เท่านั้น

ทว่าสิ่งที่หนังตลกเรื่องนี้เล่ามาแม้อาจจะเกินจริงไปบ้าง แต่มันก็สะท้อนภาพให้เห็นถึงความพยายามของภาคประชาชนในการสำแดง “ดุลอำนาจต่อรอง” ขึ้นมาได้เช่นกัน ใครสนใจสัมผัสอรรถรสความตลกร้ายของหนังเรื่องนี้ รับชมผ่านสตรีมมิ่งได้ที่ HBO

(ภาพประกอบ Youtube Video / Focus Features)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image