คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : จากห้องเรียนนิติปรัชญา ถึงสนามสอบผู้ช่วยฯ ไปจรดที่บัลลังก์ศาล

ดราม่าเรื่องนี้เริ่มขึ้นจากที่เพจ Facebook ประเภทพี่สอนน้องเรียนกฎหมายเพจหนึ่ง ได้แชร์ “คำแนะนำ” ของรุ่นพี่ท่านหนึ่งเกี่ยวกับวิชานิติปรัชญาว่า “…เป็นวิชาที่เรียน สอบ จนจบมา ก็ไม่ได้อะไรจากวิชานี้เลย…”

ก็เป็นเรื่องโต้เถียงกันเล็กๆ ในแวดวงของผู้ศึกษา แต่เอาจริงๆ ส่วนหนึ่งคือ ผู้สอนวิชานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นจัดอภิปรายออนไลน์กันยกใหญ่ว่า วิชานิติปรัชญานั้นไม่จำเป็นต้องเรียนต้องสอนกันแล้วจริงหรือ หากอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่ามีผู้จะต้องเรียนไม่ประสงค์เรียนแล้วจำนวนหนึ่ง

ท่านผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า วิชานิติศาสตร์นั้นประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นทั้งวิชาชีพ วิชาการ และปรัชญา

ในเชิงวิชาชีพนั้นคือการเรียนการสอนเพื่อให้รู้ว่า กฎหมายนั้น “เป็น” อย่างไร และกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันในบ้านเมืองนี้มีอะไร และใช้อย่างไรในคดีแพ่งอาญา หากท่านเป็นผู้พิพากษา อัยการ พนักงานสอบสวน ทนายความ หรือแม้แต่โจทย์จำเลย หรือกฎหมายธุรกิจสำหรับที่ปรึกษากฎหมายใช้ในการให้คำแนะนำทางกฎหมาย หรือร่างสัญญาข้อตกลง

Advertisement

ส่วนของวิชาการคือ การเรียนการสอนเพื่อให้รู้ว่า กฎหมายนั้น “ควรเป็น” อย่างไร เพราะจะเป็นการศึกษาความเป็นมา นิติวิธี และทฤษฎีว่ากฎหมายที่ “เป็น” อยู่นั้นมีประสบการณ์ หรือความคิดใดเป็นเบื้องหลัง ในบ้านอื่นเมืองอื่นเขาคิดเห็นคิดต่างกันอย่างไร และมีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด

สำหรับสุดท้ายคือ ชั้นปรัชญานั้น เป็นการเรียนการสอนเพื่อตั้งคำถามว่ากฎหมายและความยุติธรรมที่น่าจะอยู่เบื้องหลังกฎหมายนั้น “คืออะไร” มีกำเนิดอย่างไร เป็นสิ่งที่มีมาอยู่แล้วโดยธรรมชาติหากมนุษย์นั้นมาค้นพบ หรือมนุษย์เรานั้นเองกำหนดกันได้ตามใจ เช่นนั้นอำนาจที่กำหนดกฎหมายได้นั้นควรเป็นของใครและดำเนินมาอย่างไร และความยุติธรรมนั้นอาจอธิบายเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

ส่วนที่เป็นปัญหาที่เขาว่าไม่เห็นสำคัญอันใด คือส่วนที่อยู่ในชั้นหลังนี้เอง

Advertisement

การเรียนนิติศาสตร์ในเชิงวิชาชีพนั้นใช้ประโยชน์ได้แน่นอน เรียนกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจบก็รู้ว่าถ้าลูกความเราถูกฟ้องแล้วต้องยื่นคำให้การอะไรอย่างไร กฎหมายแพ่งทำให้รู้ว่าลูกความเรามีหลักฐานอย่างนั้นอย่างนี้ฟ้องเรียกเงินกู้คืนได้หรือไม่ หรือการเรียนในเชิงวิชาการนั้นก็ยังเป็นประโยชน์อยู่ในการทำงานกฎหมายในระดับสูง เช่นในการกำหนดนโยบาย การร่างกฎหมาย การศึกษาวิจัย หรือแม้แต่การติดต่อทำสัญญาระหว่างประเทศก็จะเข้าใจความเหมือนความต่างของระบบกฎหมายที่อาจจะขัดกันได้

แต่นิติปรัชญานั้นไม่เห็นจะเอาไปใช้ได้ตรงไหนเลย

ทั้งก่อนหน้านั้น หรือในระยะใกล้เคียงกันก็มีการตั้งคำถามขึ้นมาเบาๆ ในกลุ่มเล็กๆ ของผู้สอนและศึกษากฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาบุคคลมาเป็น “ผู้พิพากษา” ของไทยในปัจจุบันที่ใช้ระบบการสอบคัดเลือกว่า เป็นวิธีการที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะได้ผู้ที่มาตัดสินชี้ชะตามนุษย์ผู้อื่น ซึ่งบางครั้งหมายถึงชีวิต หรือเสรีภาพแล้วหรือไม่ ยิ่งในระยะหลังแนวคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลดูออกจะไม่เป็นคุณเสียเท่าไรกับฝ่ายผู้เรียกร้องประชาธิปไตย คำถามดังกล่าวก็เริ่มดังขึ้นมา

หากกล่าวกันตรงๆ หากจะถามว่าอะไรคือ ยอดสุดของการสอบกฎหมายเชิงวิชาชีพ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือการสอบคัดเลือกได้เป็นผู้พิพากษา (ที่เรียกว่าสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา) ถือว่าเป็นข้อสอบกฎหมายสายวิชาชีพที่ยากเย็นและละเอียดซับซ้อนที่สุดแล้ว

ความที่เงินเดือน ค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ของผู้พิพากษาตุลาการในระยะหลังสูงขึ้นอย่างมาก ประกอบกับเกียรติยศและการยอมรับในสังคม จึงปฏิเสธความจริงนี้ไม่ได้ว่าการเป็นผู้พิพากษาเป็นหลักชัยของผู้เข้าเรียนปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่

เพื่อจะมีคุณสมบัติในการสอบเป็นผู้พิพากษาก็ต้องสอบให้ได้เป็นเนติบัณฑิตไทยเสียก่อน ซึ่งก็มีลักษณะการสอบคล้ายๆ กันแต่ความซับซ้อนลดลงง่ายกว่า ดังนั้นผู้เข้าเรียนนิติศาสตร์จึงพยายามเลือกหาเรียนวิชาที่เป็นประโยชน์ในการไปสอบเนติบัณฑิตมากกว่าวิชากฎหมายเชิงวิชาการยกเว้นที่เป็นวิชาบังคับ เพื่อที่จะเข้าสู่สนามสอบผู้พิพากษาให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งนั่นหมายถึงความมั่นคงก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตุลาการในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ การ “เรียนเพื่อไปสอบเป็นศาล” จึงเหมือนถูกผลักออกมาเป็นขั้วตรงข้ามกับการ “เรียนนิติปรัชญา” ในแง่ที่ว่า ถ้าการเรียนอย่างหลังนั้นหาประโยชน์อันใดไม่ หากการเรียนอย่างแรกมีคุณอนันต์ เช่นนี้โรงเรียนกฎหมาย หรือคณะนิติศาสตร์ควรเป็นโรงเรียนเตรียมเนติบัณฑิตไทยเพื่อไปต่อเป็นผู้พิพากษาใช่หรือไม่

จุดที่การเรียนการสอนและการสอบแบบ “เนติบัณฑิต-ผู้พิพากษา” ถูกตั้งคำถามและโจมตีมากที่สุดสำหรับผู้ที่ผ่านการทำงาน หรือฝึกฝนมาในทางวิชาการ คือลักษณะของการเป็นข้อสอบในลักษณะที่ใช้คำถามแบบโจทย์ตุ๊กตา ที่นำข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจากคำพิพากษาศาลฎีกามาดัดแปลงผสมรวมกันหลายๆ คำพิพากษาในเรื่องเดียวกัน หรือที่เกี่ยวข้อง

เช่นนี้จึงถูกมองว่า การสอบผู้พิพากษาในลักษณะนี้เป็นเพียงวัดว่าใครที่อ่านคำพิพากษามามากๆ และจำเก่งที่สุดเท่านั้น ไม่สามารถวัดความเข้าใจในความเข้าใจหลักการทางกฎหมายอย่างถ่องแท้และความเป็นธรรมในสังคมได้ และเมื่อผู้ผ่านการสอบแบบนี้เข้าไปเป็นผู้พิพากษาแล้ว ก็จะตัดสินคดีไปตามแนวบรรทัดฐาน
ที่ฎีกาว่าไว้

ข้อความข้างต้นนี้ประมวลมาจากวิวาทะที่เก็บมาจากแวดวงที่วิพากษ์วิจารณ์การสอบผู้พิพากษาในระบบปัจจุบัน

ในฐานะที่อาจจะเรียกว่าเป็น “คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง” ของวงการกฎหมายโดยแท้ คือเป็นนักวิชาการที่ทำงานในกระบวนยุติธรรม และมีเพื่อนฝูงญาติมิตรเป็นผู้พิพากษาตุลาการแทบทุกระดับน่าประทับใจแล้ว ก็อาจจะพอมีคำอธิบายให้ในเรื่องนี้ได้

ประการแรก เรื่องของ “วิธีการสอบผู้พิพากษา” สำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีและเนติบัณฑิต หรือที่เรียกว่า “สนามใหญ่” นั้น ถือเป็นการสอบที่อาจถือได้ว่ายุติธรรมและเข้าถึงได้ง่ายที่สุด มีค่าใช้จ่ายกับต้นทุนเวลาน้อยที่สุดแล้ว ซึ่งหากท่านเอาชนะสนามนี้ได้ ชีวิตท่านไม่ว่าจะเริ่มต้นมาจากที่ใดก็จะรอเป็นข้าราชการระดับสูงไปแทบในทันที เป็นรางวัลที่แลกมาด้วยความมานะพยายามอย่างถึงที่สุดและสติปัญญาของท่านโดยแท้จริง

จึงมีตำนานเรื่องจากสาวโรงงาน พนักงานรักษาความปลอดภัย ขึ้นบัลลังก์เป็นตุลาการกันอยู่ทุกบ่อย ช่องทางการสอบศาลสนามใหญ่นี้ จึงอาจเหมือนการ “สอบจอหงวน” ของยุคจอมยุทธ์ก็ว่าได้

เช่นนี้แล้ว ข้อสอบที่จะวัดผลผู้คนจำนวนมากนี้ได้อย่างยุติธรรมที่สุด ก็ควรต้องเป็นข้อสอบที่มีข้อถกเถียงได้น้อยที่สุด หรือมีความเป็นภาวะวิสัยสูงมาก การนำคดีที่มีการพิพากษาไปแล้วโดยศาลสูงสุดมาดัดแปลงเป็นโจทย์คำถาม ซึ่งมีอ้างอิงจุดที่ถูกผิดให้คะแนนหักคะแนนอย่างชัดแจ้งจึงน่าจะเหมาะสมลงตัวกับวัตถุประสงค์นี้

บางท่านอาจจะยกแย้งตัวอย่างการสอบผู้พิพากษาของฝรั่งเศสเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ตั้งคำถามเป็นเชิงปรัชญา เช่น ล่าสุดถามว่า “ให้วิเคราะห์หลักว่าด้วยความมีเกียรติและศักดิ์ศรีของบุคคลกับเงื่อนไขการต้องขัง” อ้างอิงจาก Facebook รศ.ดร. เอื้ออารีย์ อึ้งจะนิล) โดยให้ข้อมูลผู้สอบเป็นแนวคำพิพากษา คำวินิจฉัย บทความทางกฎหมาย และข่าวจากหนังสือพิมพ์ โจทย์นั้นน่าตื่นใจ แต่ก็น่าสนใจว่าจะมีเกณฑ์การตรวจให้คะแนนอย่างไร และเกณฑ์นั้นสามารถอธิบายต่อทุกฝ่ายที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องได้ว่าสามารถชี้วัดได้เป็นธรรมมิใช่ตามแต่อัตวิสัยของผู้ตรวจผู้อ่านได้หมดจดหรือไม่ เป็นเรื่องที่อาจจะต้องศึกษาต่อไปหากจะทบทวนกันถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ส่วนข้อวิพากษ์ที่ว่าศาลนั้นอาศัยแนวคำพิพากษาศาลสูงเป็นเหมือนกฎหมายลายลักษณ์อักษรแล้วพิพากษาตามแนวไปนั้น อันที่จริงแล้วคำพิพากษาของศาลก็เป็นบ่อเกิดของกฎหมายอย่างหนึ่ง หลักกฎหมายสำคัญๆ แม้แต่ในประเทศที่ใช้ระบบประมวลเช่นฝรั่งเศสก็มาจากแนวคำพิพากษาของศาลสูงสุด เพราะคำพิพากษาของศาลคือการอธิบายว่า “บทบัญญัติ” นั้นจะปรับเข้ากับข้อเท็จจริงกรณีนั้นกรณีนี้ได้อย่างไร และหากเกิดกรณีต้องสงสัย บทบัญญัตินั้นมีเจตนารมณ์ หรือมีนิติวิธีเบื้องหลังที่ควรจะพิพากษาไปในแนวทางไหน ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นการใช้นิติศาสตร์ในแง่มุมวิชาการ เช่นนี้ การตัดสินตามแนวคำพิพากษาของศาลสูงจึงไม่ใช่เรื่องผิดแย่ หากมันยังอยู่บนข้อเท็จจริงและภายใต้บริบทเดียวกันกับที่คำพิพากษาอันเป็นบรรทัดฐานซึ่งวางหลักไว้

สำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการจะเข้ามาสู่ตำแหน่งด้วยการสอบแบบใด จะยึดถือบรรทัดฐานของศาลสูงเข้มข้นแค่ไหน หรือจะเป็นผู้ระแวดระวังยึดยี่ต๊อกไว้เป็นแม่นมั่นก็ตาม หากในที่สุดแล้ว หากเมื่อใดก็ตาม ที่ท่านอยู่ต่อหน้าคู่ความหรือกรณีใด ที่เรื่องนั้นคดีนั้นอาจจะกำกวมต้องสงสัยจนกระตุ้นให้มโนสำนึกของท่านสว่างวาบขึ้น เมื่อใดก็ตามที่ท่านตระหนักแล้วว่า ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ท่านอาจตัดสินเรื่องนี้ไปในทางใดก็ได้ ไม่ผิดตัวบทและเจตนารมณ์รวมถึงอธิบายได้ทั้งสิ้น สุดแต่ท่านจะเลือกให้ผิดหรือถูก เสียเปล่าหรือบังคับได้ ชอบหรือไม่ชอบ ในภาวะเขาความนั้นเอง นิติปรัชญาเบื้องใต้ความทรงจำที่ท่านเคยเรียนมา ยังพอจะจำหลักการบางประการได้ แม้กระทั่งการท่องจำเพื่อนำไปสอบอาจตื่นฟื้นขึ้นมาบอกเล่าถึงจุดมุ่งหมายอันสำคัญยิ่งแก่ท่าน

ท่านอาจจะจำที่เคยอ่านในหนังสือของอาจารย์ท่านหนึ่งได้ว่า หลักนิติธรรมอันเป็นความยุติธรรมตามธรรมชาตินั้นอาจจะเป็นอุดมคติที่มนุษย์ไม่อาจบรรลุถึงและอยู่เหนือกฎหมายลายลักษณ์อักษรทั้งปวง แต่มนุษย์ในฐานของผู้ใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีหน้าที่ตัดสินพิพากษา ก็มีพันธกิจที่จะต้องมุ่งหมายเพื่อไปให้ถึงอุดมคตินั้น

ลี จิน ซุง (Lee Jin-sung) อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เคยปาฐกถาไว้ในครั้งหนึ่งท่านมาประชุมศาลรัฐธรรมนูญระหว่างประเทศที่ประเทศไทยว่า

“…การฝึกที่จะมีมนุษยธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่โต สภาวะจิตแห่งมนุษยธรรมไม่ใช่เรื่องการทำความดี หากเป็นรากฐานเบื้องลึกว่าคุณรู้ตัวอยู่มีอำนาจซึ่งสามารถใช้ในทางใดก็ได้ ไม่ว่าจะในทางดีหรือทางร้าย เพราะฉะนั้นภาวะจิตใจในการฝึกความมีมนุษยธรรมที่ถูกต้องนั้นจึงสถิตอยู่ในตัวเรา เมื่อเรามีการฝึกความ
มีมนุษยธรรมทุกๆ วัน นั้นจะเป็นเรื่องของทางเลือก ซึ่งเราจะต้องตัดสินใจในทุกขณะ

ในห้องพิจารณาคดี เราได้พบปะกับผู้คนมากมาย ได้รับฟังเรื่องราวที่บอกถึงความกระหายหิว และมือที่สั่นหนาว ณ ขณะจิตที่เรารู้สึกเห็นอกเห็นใจนั้นเอง เราจะมีความกล้าในการที่จะปล่อยวางอัตตาและความหมกมุ่นแต่ความเป็นเรา และยื่นมือออกไปเพื่อกุมมือของเขาซึ่งกำลังสั่นเทาอยู่

ทางเลือกเล็กๆ ที่เราทำในห้องพิจารณาคดีนั้นเอง ที่จะกำหนดทิศทางของเส้นทางอันยาวไกลของหลักนิติธรรม…”

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image