แพทย์ มข.เผยผลวิจัยความคุ้มของการรักษาผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง

แพทย์ มข.เผยผลวิจัยความคุ้มของการรักษาผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง ส่งผลรัฐไฟเขียวผู้ป่วยบัตรทองเบิกจ่ายการรักษาโดยใช้ขดลวดสปริงได้

รศ.นพ.พิชเยนทร์ ดวงทองพล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทศัลยแพทย์ ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง เป็นโรคที่คนไข้จะมาพบแพทย์เมื่อมีภาวะเลือดออกในสมอง ซึ่งอยู่ในภาวะเร่งด่วนในการรักษา และมีโอกาสเส้นเลือดจะแตกซ้ำได้สูง ซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตหรือพิการ สำหรับวิธีการรักษาจะผ่าตัดเพื่อหนีบกระเปาะหลอดเลือดโป่งพอง หรือใส่ขดลวดสปริง ขึ้นอยู่กับรอยโรคของผู้ป่วย ปัจจุบันมีวิธีการรักษาโดยการใส่ขดลวดสปริงที่ได้ผลดี มีบาดแผลน้อย ทำได้ในบริเวณที่ผ่าตัดได้ยาก แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาผู้ใช้สิทธิบัตรทองยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาโดยการใส่ขดลวดสปริง ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงต้องผ่าตัดแบบเปิดกะโหลกศีรษะ ส่งผลต่อการรักษาออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้ง ยังเสี่ยงต่อภาวะพิการ และชีวิตสูง ซึ่งจะส่งผลต่องบประมาณการดูแลประชากรผู้ป่วยของรัฐ

รศ.นพ.พิชเยนทร์กล่าวอีกว่า ศูนย์ความเป็นเลิศโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มข.จึงได้ผลิตงานวิจัย เรื่องความคุ้มของการรักษาพยาบาลโดยวิธีใส่ขดลวดขึ้น ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) โดยทีมนักวิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลย้อนหลังจากผู้ป่วยในประเทศไทยกว่า 10 ปี และเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยโรงพยาบาลศรีนครินทร์กว่า 5 ปี เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาวิจัยพบว่า การรักษาพยาบาลโดยวิธีใส่ขดลวดมีความคุ้มค่า และลดอัตราการพิการหรือเสียชีวิตได้

“งานวิจัยที่ว่าด้วยความคุ้มของการรักษาพยาบาลโดยวิธีใส่ขดลวด ทีมนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ เมื่อได้ผลการศึกษาวิจัยแล้ว จึงได้นำเสนอต่อที่ประชุมของ สปสช.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย รศ.นพ.อำนาจ กิจควรดี เป็นผู้นำเสนอให้เห็นถึงความคุ้มของการรักษาพยาบาลประชาชนผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองโดยวิธีใส่ขดลวด กระทั่งได้รับความเห็นชอบ ผ่านการอนุมัติให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทอง เบิกจ่ายเงินค่าผ่าตัดโดยวิธีการใส่ขดลวดได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป โดยมีประกาศให้ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองแล้วแตก ต้องผ่าตัดโดยใช้วิธีใส่ขดลวด เบิกค่าใช้จ่ายได้ เส้นละกว่า 10,000 บาท หรือ 1 คน จะใช้ 4 เส้น เบิกจ่ายได้กว่า 50,000 บาท” รศ.นพ.พิชเยนทร์ กล่าว

รศ.นพ.อำนาจ กิจควรดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทศัลยแพทย์ ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ กว่า 100 ราย ที่ต้องรับการผ่าตัด แต่รักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการใส่ขดลวดได้แค่ 10 % เท่านั้น เนื่องจากค่าผ่าตัดแบบใส่ขดลวดเกือบ 1 แสนบาท เป็นปัญหาสำหรับประชาชนผู้มีความยากจน ทำให้เข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ได้ ดังนั้น ข้อจำกัดที่ความยากจนจึงได้ถูกหยิบขึ้นมาเพื่อเป็นโจทย์ของงานวิจัยที่ว่าด้วยความคุ้มของการรักษาพยาบาลโดยวิธีใส่ขดลวด พบว่า ผลการศึกษาของการรักษาเมื่อรักษาโดยการใช้ขดลวด คุ้มในด้านค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด เมื่อเทียบกับผลการรักษา หรือค่าใช้จ่ายหากเกิดความพิการขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image