ตู้หนังสือ : ขวาพิฆาต(?)ซ้าย ศาสนาไม่ห้ามการเมือง

ตู้หนังสือ : ขวาพิฆาต(?)ซ้าย ศาสนาไม่ห้ามการเมือง

นานวันเข้า แม้จะใช้เวลานานถึง 40 ปี แต่ความจริงก็ค่อยๆ ปรากฏผ่านมายาแห่งความหลอกหลวง อันเกิดจากความหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงของอำนาจเก่าทั้งหลาย ที่แม้จะใช้การพิฆาตฆ่าฟัน ก็มิอาจหยุดยั้งมิให้สัจจะเผยโฉมขึ้นประกาศความจริงแก่คนทั่วไปได้

คำโกหกที่ว่า นักเรียนนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นญวน คำโกหกว่าท่อระบายน้ำลงสู่เจ้าพระยา เป็นอุโมงค์เข้าออกของพวกญวน โกหกด้วยการขนรองเท้าแตะ (ที่ว่าญวนชอบใส่) จำนวนมากมากองรวมไว้ถ่ายภาพให้สื่อเผยแพร่ ฯลฯ เพื่อสร้างความชอบแก่ฝ่ายตั้งใจใช้กำลังรุนแรงในการประหัตประหารฝ่ายที่คิดเห็นแตกต่าง ถึงวันนี้ ล้วนกลายเป็นธุลีหลักฐานโกหกมดเท็จที่อ้างอิงพิสูจน์คำกล่าวหาดังกล่าวไม่ได้ นอกจากอ้างอิงพิสูจน์เพื่อยืนยันในทางตรงกันข้ามว่า ทั้งถ้อยคำกล่าวหาและสิ่งต่างๆ ที่ขนสร้างกันตบตาประชาชนทั้งบ้านเมืองนั้น ล้วนเป็นวจีทุจริตที่ถ่มถุยบาปเคราะห์ย่ำยีบ้านเมืองอย่างรุนแรงสาหัส โดยปราศจากธรรมใดๆ ในกมลสันดานของการเป็นมนุษย์

ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ มีผู้ใดแม้ในบรรดาผู้กล่าวหา พบญวนสักคนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคนทั่วไปที่ไหนยังพูดว่ามีญวนในธรรมศาสตร์ นอกจากนักเรียนนักศึกษาประชาชนที่ถูกทำร้ายทารุณถึงตาย ถูกหยาบหยามด้วยการให้ถอดเสื้อผ้าลงคลานบนพื้น ถูกจับกุมคุมขัง มีเพียงคำโกหกพกลมที่เป็นอากาศธาตุ ผู้โกหกพกลมต่างซ่อนตัวอยู่หลังประวัติศาสตร์รกเรื้อปลอมปน ยื้อยุดมิให้เกิดการสะสางความจริงให้นานที่สุด ส่วนผู้โกหกพกลมที่ล่วงไปแล้ว ที่เป็นนายทหาร นักการเมือง นักแต่งเพลง ที่ใช้วิทยุปลุกระดมความเกลียดชังให้เกิดกับผู้ไม่รู้ จะไปใช้โทษกรรมในทุรภพขุมไหนเกินจะรู้ได้ ทิ้งไว้แต่ความทรงจำของพฤติกรรมน่ารังเกียจเดียดฉันท์กับผู้อยู่หลังมิอาจลบเลือน

Advertisement

● เพื่อเข้าใจเหตุการณ์และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้กระจ่าง ขวาพิฆาต (?) ซ้าย : อนุรักษนิยมไทยบนทางสองแพร่งของการเมืองโลกยุคสงครามเย็น โดยอาจารย์อักษรศาสตร์ ศิลปากร ศิบดี นพประเสริฐ ซี่งจะนำผู้อ่านย้อนกลับไปช่วง 2516-2521 อันเป็นเวลาที่ผู้ครองประเทศ ข้าราชการกับผู้ชำนาญด้านเฉพาะต่างๆ ที่เป็นเทคโนแครต กองทัพ และฝ่ายขวาอนุรักษนิยม มีบทบาทอย่างยิ่งในการบริหารประเทศ โดยพากันหันขวาเพื่อพิฆาตซ้าย เมื่อสำนึกประชาธิปไตยในสังคมเบ่งบานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยความตื่นตระหนกที่เวียดนาม ลาวเปลี่ยนระบอบปกครอง กัมพูชากำลังรบราฆ่าฟัน จนต้องเร่งก่อรูปขบวนการต่อต้านขึ้นสกัดการเคลื่อนไหวก้าวหน้าทางการเมือง

ทั้งนี้ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย การต่างประเทศที่เปิดรับการช่วยเหลือจากมหามิตรตะวันตกซึ่งหวาดกลัวคอมมิวนิสต์เต็มที่ ในช่วงการเมืองไทยกับการเมืองโลกตึงเครียด เมื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยในไทยก่อรูปชัดเจน เพื่อช่วยกำจัด “พวกเอียงซ้าย” ให้สิ้น

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง มหาอำนาจตะวันตกล่าถอย ปฏิปักษ์เก่าแก่กว่าครึ่งศตวรรษจากสงครามเย็นคือจีน ยืนหยัดขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ฝ่ายขวาไทยที่พยายามขืนโลกขืนสังคมมายาวนาน จะหันไปทางไหน ในเมื่อความคิดเก่า วิธีการเก่า เรื่องเล่าเก่า และคำโกหกพกลมแบบเก่าๆ ใช้การไม่ได้ยิ่งขึ้นทุกที

Advertisement

อ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อพบคำตอบอันเป็นสัจธรรมการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ลบล้างไม่ได้ เพื่อความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังถูกปิดหูปิดตามานานเกือบห้าสิบปี

● พ้นจากการเมืองแล้ว การพระศาสนาในสังคมเป็นอีกเรื่องที่อยู่ในสถานการณ์เข้มข้น เมื่อการแสดงออกของสงฆ์ตกในการกำกับและสายตาฆราวาสอย่างเข้มงวด ความเข้มงวดของฆราวาสดังกล่าวนี้ มีทั้งที่อ้างพระวินัย วิถีธรรม ซึ่งยังต้องถกเถียงอีกมากมาย แต่ฆราวาสผู้อ้างล้วนเข้าใจว่าตนกุมความถูกต้องเหล่านั้น โดยไม่ต้องการเปิดโอกาสให้ทั้งตัวเองและคนร่วมสังคมเรียนรู้เพื่อเติม จากทรรศนะและความรู้อีกหลายๆ ทาง ด้วยการพิพากษากิจเผยแผ่พระธรรมของสงฆ์สมัยใหม่ไปอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด-สึกให้พ้นวัด

ดังนั้น ถึงเวลานี้ จึงจำเป็นที่ศาสนิกทั้งหลายไม่เพียงที่ถือพุทธ ควรอ่านเพื่อศึกษาตรวจสอบความคิดและทัศนคติของตนด้วย ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง โดยอาจารย์ผู้สนใจและศึกษาการพระศาสนามาอย่างมีโยนิโสมนสิการ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ซึ่งจะเปิดความคิดเราท่านนักอ่านได้อย่างไร ลองพิจารณาคำนิยมของนักวิชาการที่ทั้งศึกษาและปฏิบัติด้านปรัชญาศาสนามาโดยตรง วิจักขณ์ พานิช ดู

“ …ศาสนาในสังคมไทยเป็นการเมืองเสียยิ่งกว่าการเมือง อีนุงตุงนังกับชีวิตใกล้ตัวเราอย่างแยกไม่ออก …ศาสนาไม่ใสๆ อย่างที่เราคิด ไม่เพียว ไม่แท้ ไม่ได้มุ่งสู่การหลุดพ้นอะไรเลย แต่ ‘การเมือง’ ที่บ่อยครั้งศาสนาและศาสนิกชนปฏิเสธที่จะเข้าไปสัมพันธ์ด้วย กลับมีอิทธิพลต่อศาสนาอย่างยิ่งยวด ศาสนาไทยเป็นการเมืองที่สุด ฝักใฝ่อำนาจที่สุด ฉ้อฉลตรวจสอบไม่ได้ที่สุด และกำลังนำพาตัวเองและประเทศไปสู่หายนะอย่างร้ายแรงที่สุด

“ …หนังสือเล่มนี้เสนอมุมมองต่อประเด็นศาสนากับการเมืองด้วยท่าทีสนใจใคร่รู้ ชวนตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในฐานะปรากฏการณ์ที่เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมและทำความเข้าใจ อย่างน้อยก็ระดับจิตสำนึก ในทางตะวันตกเรียกสิ่งนี้ว่า political awareness หรือการตระหนักรู้ทางการเมือง”

ถ้าเช่นนั้น หากถึงวันนี้แล้ว เราหลายคนยังเชื่อว่าศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่คิดจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เพียงแต่นึกเอาเองว่าไม่เกี่ยว ก็คงประหลาดคนไปแล้ว เพราะหากนิยามว่าการเมืองคือ “อำนาจนานาชนิดในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร” แล้ว ศาสนาเองก็ไม่อาจปลอดพ้นไปจากการเมืองได้ ลำดับชั้น วรรณะ และอำนาจต่างๆ ที่แฝงฝังซ่อนเร้นอยู่ในวงการศาสนาต่างเป็นสิ่งยืนยันชัดเจนถึงความเป็นการเมืองในศาสนาเอง

หนังสือเล่มนี้จึงชวนผู้อ่านร่วมเปิดมุมมองใหม่ต่อเรื่องศาสนากับการเมือง ทั้งเรื่องราว พุทธ พราหมณ์ ไสยศาสตร์ จนถึงข้อเสนอปฏิรูปศาสนาไปพร้อมกับการเมือง ด้วยความมุ่งหวังที่ต้องการเห็นพระศาสนาดำรงอยู่ต่อไปในโลกสมัยใหม่ โดยร่วมหาทางออกไปด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่า มิใช่เพียงการสึกพระเพราะขัดหูขัดตาฆราวาสเพียงอย่างเดียวเป็นทางแก้

 

● ในยุคที่ผู้คนเข้าใจเรื่องการศึกษาตลอดชีวิตนี้ การเรียนเพื่อความกระจ่าง ถึงความเข้าใจที่เคยมี จนถึงความเข้าใจใหม่ แง่มุมใหม่ ทรรศนะที่เปลี่ยนไป ซึ่งล้วนไม่หยุดนิ่งกับที่ มีความจำเป็นต่อคนที่ต้องปรับตามให้เท่าทันโลก เท่าทันเพื่อนร่วมโลกและตัวเอง

การเมือง อำนาจ ความรู้ : หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์ ซึ่งมี ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นบรรณาธิการ เป็นหนังสืออีกเล่มที่ให้ความรู้เพื่อขับเคลื่อนสังคม ลองติดตามเนื้อหาสาระดู แล้วจะเห็นว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ “เส้นทางวิชารัฐศาสตร์กับ 7 คำถามทางการเมือง” โดยชัยวัฒน์ สถาอานันท์ “แนวคิดเรื่องอำนาจนำ” โดยเกษียร เตชะพีระ “รัฐและชาติ” โดยชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ “แนวคิดเรื่องเสรีนิยมกับประชาธิปไตย” โดยเกษียร เตชะพีระ “เสรีภาพในการพูด ความมั่นคง และศาสนา” โดยธเนศ วงศ์ยานนาวา “ระบอบประชาธิปไตยและระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย : การศึกษาระบอบการเมืองเชิงเปรียบเทียบ” โดยประจักษ์ ก้องกีรติ

“สถาบันการเมือง : ความหมาย ความสำคัญ และความคาดหวัง” โดย ภูริ ฟูวงศ์เจริญ “การแบ่งแยกอำนาจ” โดยวรรณภา ติระสังขะ “การกระจายอำนาจ” โดยศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ “รัฐธรรมนูญนิยม” โดยวรรณภา ติระสังขะ “พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง” โดยอรรถสิทธิ์ พานแก้ว “การเลือกตั้งกับความรุนแรง : สาเหตุ ผลกระทบ และทางออก” โดยประจักษ์ ก้องกีรติ “ความรู้และอคติ : ปัจจัยควบต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง” โดยอรรถสิทธิ์ พานแก้ว “การเมืองเรื่องเพศและเพศสภาพ : ความปรารถนาและกติกาเรื่องเพศในปรมาจารย์ลัทธิมาร” โดยชลิตาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

บ้านเมืองอารยะ ย่อมใช้งานวิจัยเป็นเข็มทิศชี้ทางสังคม อาจารย์นักวิชาการจึงย่อมเป็นเงาในแสงตะวันที่เคลื่อนสังคมไปตามความจริงของนาฬิกาแดด

● พ้นจากการเมือง การพระศาสนา ที่ต้องเรียนรู้สะสางให้กระจ่างด้วยตนเอง เพื่อร่วมนำสังคมก้าวไปข้างหน้าตามโลกให้ทันด้วยตนเอง ยังมีอีกเรื่องสำคัญที่ต้องรู้จักตนเองให้ถ่องแท้จากต้นรากของตน ว่ามีหัวมีเหง้ามาจากไหน เคยเติบโตมาอย่างไร จึงมาวุ่นวายพัลวัลพัลเกกันในวันนี้ เช่นคำที่ว่า ไม่เข้าใจอดีต ไหนเลยจะเข้าใจปัจจุบัน และยากจะหันหาอนาคตให้ถูกทิศ ดังนั้น ไม่ว่าอดีตในรูปใด ไม่ว่าจะคิดเองว่าอดีตล้าสมัยแค่ไหน หากไม่ศึกษาเรียนรู้จริงจัง จะรู้ได้อย่างไรว่าตนไม่เข้าใจผิด

เช่น นักร้องเพลงแร็พ (rap) เดี๋ยวนี้ ที่นำรูปลักษณ์ตะวันตกมาใช้ตามที่นิยมกันในสากล รู้ได้อย่างไรว่าสยาม อยุธยา ไม่เคยแร็พมาก่อน เมื่อไม่รู้ ก็ไม่เห็นว่ารูปลักษณ์บันเทิงสันทนาการพื้นบ้านมากมายในแต่ละภาคของประเทศ สามารถแร็พ (ด้น) กันได้อย่างชำนิชำนาญ เข้าหู สนุกสนาน ไพเราะ มีเนื้อหาเข้มข้นตามแต่ละยุค ที่หากนำมาปรับใช้เมื่อไหร่ ก็อาจเข้าหูคนแต่ละวัยได้อย่างไม่ยาก ด้วยคำ ความ และท่วงทำนองที่คุ้นเคยทันที น่าเสียดาย ที่เราไม่เรียน เราไม่เห็นสำคัญจะเรียน และเราไม่คิดจะเรียน

แค่รายการ คุณพระช่วย นำมาใช้ไม่กี่รูป ก็ครื้นเครง จัดคอนเสิร์ตอยู่ได้ไม่รู้กี่ปี

มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้จัดพิมพ์หนังสือ บทร้องมุขปาฐะ จากหนังสือวัดเกาะ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 เป็นหนังสือชุดปกแข็งเล่มโต 2 กล่อง กล่องละ 2 เล่ม รวม 4 เรื่องหลัก

งานชุดนี้ มูลนิธิได้มอบให้คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีมุขปาฐะด้านศิลปการแสดงและเพลงพื้นบ้าน รวบรวมข้อมูล จัดหมวดหมู่ ทำบทอธิบาย มีตารางข้อมูล ดัชนีค้นเรื่อง โดยมีบรรณาธิการตรวจความถูกต้องและความสอดคล้องอย่างถี่ถ้วน

โดยเล่มที่ 1 มโหรีและเพลงปฏิพากย์ (628 หน้า) หรือเพลงที่ใช้ร้องส่งเครื่องดนตรีไทยและเพลงพื้นบ้าน ที่ใช้ร้องโต้ตอบระหว่างหญิงชาย ในชุดนี้มี มโหรี 1 เรื่องคือ เพลงเทพอัปสรสวรรค์ เพลงปฏิพากย์ 5 เรื่องคือ แอ่วลาวแพน, เพลงเรือชาวเหนือ, ปรบไก่ หญิงกับชายแก้กัน, เทพทอง, เพลงยาวเพลงสั้น หญิงกับชายแก้กัน

นักร้องนักดนตรี นักกลอน ได้อ่านชุดนี้ จะเห็นความโรแมนติกแบบสยาม ความรักในขนบ และครื้นเครงจากไหวพริบปฏิภาณของคนโบราณที่ไม่ต้องเป็นกวีก็มีได้

เล่มที่ 2 เพลงทรงเครื่อง (554 หน้า) หรือเพลงฉ่อยที่เล่นเป็นเรื่อง ชุดนี้มี 9 เรื่อง คือ โคบุตร์, จันทโครบ, พระรถ, ลิ้นทอง, นางมโนรา, ขุนช้างขุนแผน, ไกรทอง, ลักษณวงศ์, พระอภัยมณี ชุดนี้สนุกสนานมาก จินตนาการบรรเจิดเพริศแพร้วเลยทีเดียว

เล่ม 3 เพลงร้องรำพัน (728 หน้า) หรือเพลงพื้นบ้านที่ผู้ร้องร้องพรรณนาเพีนงคนเดียวตลอดเรื่อง เช่น แหล่เครื่องเล่น 4 เรื่อง เครื่องเล่นมหาพนและแหล่ต่างๆ, เครื่องเล่นมหาพนแหล่ใหม่ล้วน, เครื่องเล่นชูชก, เครื่องเล่นกุมาร กับเพลงขอทานอีก 4 เรื่องคือ ขอทานเรื่องพระยาฉัททันต์, ขอทานเรื่องลักษณวงศ์, ขอทานเรื่องจันทโครบ, ขอทานเรื่องพระสุธน

นักแต่งเพลงหรือนักดนตรีอ่านชุดนี้ จะเห็นความกว้างไกลในความคิด ความรู้สึกรัก เสน่หา และเศร้าซึ้งคะนึงถึง ของคนโบราณ ถ้อยคำภาษาอันดื่มด่ำที่กินความกินใจ หากจะพูดไป หากนักดนตรีไม่เป็นกวี ไยนักดนตรีเลื่องชื่อเช่น บ๊อบ ดิแลน ถึงได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม นักดนตรีไทยๆ ทั้งหลายลองคิดดู

บรรพชนทิ้งมรดกล้ำค่าไว้ให้แล้ว ไหนเลยจะเป็นลิงได้แก้วกันไปได้ ต้องให้มูลนิธิทรงคุณค่าช่วยรักษาไว้เพียงลำพังเช่นนี้หรือ คนไทย (ในกระบวนการกำหนดวิถีการศึกษาทั้งหลาย) ที่แสนจะผูกขาดการรักไทยไว้หนักหนาสาหัส

เล่ม 4 เพลงออก 12 ภาษา (438 หน้า) หรือเพลงประกอบการแสดงที่มีศัพท์ ทำนอง สำเนียงเลียนแบบภาษาของชนชาติต่างๆ มีทั้งที่ใช้ในการร้องส่งเครื่องดนตรีไทย และที่ใช้ประกอบการแสดงพื้นบ้าน รวบรวมไว้ชุดนี้ 4 เรื่องคือ เพลงออกสิบสองภาษาที่ร้องส่งเครื่องดนตรีไทย 1 เรื่องคือ ลำร้องส่งเครื่องต่างๆ กับลำร้องส่งภาษาต่างๆ, เพลงออกสิบสองภาษาที่ใช้ประกอบเพลงพื้นบ้าน มี 3 เรื่องคือ ลิเกออกภาษา, ลำสวด, จำอวด

ชุดนี้ยิ่งสนุกใหญ่ ใครนำไปใช้สมัยนี้ยิ่งเหมาะเหม็ง เพราะเท่ากับรู้จักเพื่อนบ้านเพื่อนร่วมโลก และนำมาใช้ให้เห็นความใกล้ชิดสนิทสนม โกอินเตอร์เมื่อไหร่ยิ่งดังระเบิด

เป็นคู่มือคนรักรากเหง้า รู้จักรากเหง้า ในยามที่สินค้าวัฒนธรรมขายดีหากรู้จักขาย

ประเทศกำลังจะเปิดแล้ว เพื่อรับเงินต่างชาติ แต่ทุกคนต้องไม่ประมาทในการรักษาชีวิตไว้เพื่อใช้เงินภาษีของตัวเองที่รัฐบาลนำมาแจก กับโอกาสที่จะได้เงินต่างชาติมาบำรุง โชคหรือเคราะห์เกี่ยวด้วยหรือไม่ ใครบอกได้

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image