ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดให้ประชาชนชมแล้ว หลังบูรณะมากกว่า 490 วัน

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเปิดให้ประชาชนชมความงดงามได้แล้ว หลังบูรณะมากกว่า 490 วัน

วันที่ 23 ตุลาคม 2564 พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า หลังจากใช้เวลา 490 วัน นับตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2563 เป็นต้นมา เพื่อทำการบูรณะตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรครั้งใหญ่ ด้วยงบประมาณ 28,640,000 โดยการบูรณะครั้งนี้ ทำให้ค้นพบความงามที่ถูกซ่อนไว้มากมาย ภายใต้อาคารที่เป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดี ที่ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อใช้รับเสด็จรัชกาลที่ 5 กระทั่งถูกส่งต่อมาเพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์ และขึ้นเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2532 และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นปี 2542

การบูรณะครั้งนี้มีเป้าหมายในการคงไว้ซึ่งความงดงามดั้งเดิมของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยเฉพาะสีผนังและลายพิมพ์บนผนัง ทางกรมศิลปากรได้ใช้เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ หรือ X-ray fluorescence (XRF) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้สำหรับการศึกษาองค์ประกอบของธาตุที่อยู่ในตัวอย่าง โดยอาศัยความต่างของชั้นพลังงานของแต่ละธาตุ มาใช้เปรียบเทียบอายุของ และการค้นพบไฮไลท์สำคัญ คือ ลายกุหลาบ ที่ใช้เทคนิคการพิมพ์ลายฉลุ (Stencil printing ) ซึ่งได้เปิดให้สาธารณชนได้รับชมเป็นครั้งแรกในวันที่ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช ซึ่งนอกจากการรับชมความงามของสถาปัตยกรรม ยังมีจัดกิจกรรม เพลิน ซึ่งมาจากคำว่า play and learn สนุกและเรียนรู้กิจกรรมกัญชา กัญชง กระท่อม สมุนไพรของอนาคต

Advertisement

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวด้วยว่า สำหรับตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 และจะทำการปิดเพื่อเซตระบบพิพิธภัณฑ์เต็มรูปแบบเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการแพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย และจะนำร้านยาไทยโพธิ์เงินมาให้บริการประชาชน เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีการใช้งานจริง เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดปราจีนบุรี อันทรงคุณค่า ที่ใครก็ต้องมา รวมทั้งยังมีความพร้อมที่จะเป็น Soft power วัฒนธรรมไทย ให้สมกับที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าประเทศไทย เป็นเมืองมรดกทางวัฒนธรรมอันดับต้น ๆ ของโลก

Advertisement

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบรศ เป็นตึกที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศรสร้างขึ้นโดยทรัพย์สินส่วนตัว ในปี พ.ศ. 245 เพื่อถวายเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จประพาสมณฑลปราจีน มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นตึกสองชั้นแบบยุโรปความโดดเด่นและเป็นที่สะดุดตาจากสถาปัตยกรรมสไตล์บาโร้คของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทำให้มีเหล่าอาคันตุกะมาเยือนอยู่เนือง ๆ ตัวอาคารสองชั้นฉาบสีเหลืองไข่ไก่ ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมาตรงกลางเป็นโถงทรงโดม

กำแพงด้านนอกมีลายพฤกษาปั้นจากปูนประดับและซุ้มประตูหน้าต่างอย่างงดงามด้านในที่ห้องโถงใหญ่ชั้นล่างจัดแสดงประวัติเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เจ้าของตึกที่ว่าจ้างให้บริษัท โฮวาร์ด เออร์สกิน ออกแบบก่อสร้างเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากเสด็จฯ มายังมณฑลปราจีนบุรี แต่แม้พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนที่จะได้ประทับที่นี่ แต่เจ้าพระยาอภัยภูเบศรก็ยังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์เดิม โดยไม่ยอมเข้าพำนักที่ตึกนี้เลย

ต่อมาได้ใช้ที่นี่รับเสด็จและเป็นที่ประทับแรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสมดั่งที่ตั้งใจ กระทั่งเมื่อรัชกาลที่ 6 นำเสด็จพระราชธิดาคือสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีไปประทับยังประเทศอังกฤษ โดยตึกหลังนี้เป็นมรดกตกทอดมาถึงพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 ต่อมาได้ประทานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดแก่มณฑลทหารบกที่ 2 จ.ปราจีนบุรี เพื่อเป็นสถานพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2509 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาพร้อมด้วยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีเสด็จมาทรงเปิดป้ายและเปลี่ยนชื่อเป็น รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทั้งทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ และต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อปี 2533 เพราะทรงคุณค่าด้านความงดงามทางสถาปัตยกรรมและมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่มาของตึก ปัจจุบันบริเวณชั้นล่างปีกซ้ายของอาคารเป็นที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มีตู้เก็บสมุนไพร ครกบดยา รางบดยา หินฝนยา ตลอดจนตำรายาไทยให้ชม โดยเปิดบริการให้เข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2539

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image