ความไม่คาดหวัง และสิ่งที่มุ่งทำ ตลอด 24-7/1 ของภู กระดาษ

ความไม่คาดหวัง และสิ่งที่มุ่งทำ ตลอด 24-7/1 ของภู กระดาษ

แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ผลงานการประพันธ์ของเขา ‘เข้ารอบ’ ชิงรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์ แต่ภู กระดาษ หรือ ถนัด ธรรมแก้ว ที่ล่าสุดนวนิยายเรื่อง ‘24-7/1’ เป็น 1 ใน 19 เล่ม รอบลองลิสต์ก็บอกว่า เขายังคงรู้สึกดีใจ

แต่อย่าถามเรื่องคาดหวัง เพราะ “มันคาดหวังได้ด้วยรึ อะไรแบบนี้?” บอกพลางหัวเราะ

ก่อนตอบชัด “ผมไม่ได้คาดหวังอะไรเลย”

จากนั้นภู กระดาษ ที่เคยมีผลงาน 4 เล่มสำคัญ คือ กวีนิพนธ์ “ไม่ปรากฏ” , นวนิยาย “เนรเทศ”, รวมเรื่องสั้น “ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ” และรวมเรื่องสั้น “ชั่วโมงก่อนพิธีสวนสนาม” ก็ว่า “นิยายเล่มนี้เป็นเรื่องที่ใช้ระยะเวลาในการค้นคว้า การคิด และการจัดการนานที่สุดกว่าทุกเล่มที่เคยเขียนมา”

Advertisement

แต่ถ้าจะแยกให้ชัดเจน ในขั้นตอนการลงมือเขียน “ไม่ยาวนานมากนัก” เขาบอก

“เวลาส่วนใหญ่ที่สูญเสียไปอย่างมากมายหลายปีนั้น หมดไปกับการจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง”

“เดิมทีหลังจากเริ่มลงมือเขียน เขียนในเรื่องที่ยังไม่สมบูรณ์มากนัก ผมวางแผนไว้ว่าจะเขียนให้เสร็จภายในกลางปี 2014 ทว่าหลังจากเขียนได้ไม่กี่สิบหน้า หรือไม่กี่สิบวันก็เกิดรัฐประหารเดือนพฤษภาคม ปีนั้นขึ้นเสียก่อน ที่วางแผน ที่ตั้งใจไว้ ที่เขียนๆ อยู่ก็ทิ้งไปหมด และตลอด 2-3 ปีหลังจากนั้น แม้ว่าเรื่องราวของนิยายเล่มนี้จะยังคงไหลเวียนในความคิดอย่างมิสามารถวางลงได้เลย แต่ผมก็ไม่มีความรู้สึกอยากจะเขียนอะไรอีกแล้ว”

Advertisement

“หากรัฐประหารปี 2006 ทำให้เริ่มต้นเขียนหนังสืออย่างจริงจัง มีความกระตือรือร้น มุ่งมั่นที่จะเขียนหนังสือ รัฐประหารปี 2014 ก็ทำให้ผมอยากเลิกเขียนหนังสือ หมดอาลัยตายอยาก หมดความอาลัยอาวรณ์ต่อทุกสิ่งอย่างไปเสียหมด”

“ในปีที่ 4 หลังรัฐประหาร ผมจึงสามารถจัดการกับความรู้สึกของตนเองได้ และคิดได้ว่าเมื่อพวกคุณเฉลิมฉลองในชัยชนะกันได้ ยินดีปรีดาในการกดขี่ข่มเหงคนด้วยกันได้ ผมก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องท้อแท้สิ้นหวัง และไม่มีเวลาที่จะมาอ้อยอิ่งซึมเศร้าได้อีกต่อไป ผมจึงได้กลับมารื้อนิยายเล่มนี้ในส่วนที่เคยได้เขียนไปแล้ว และเริ่มต้นเขียนมันใหม่ทั้งเรื่องอีกครั้ง

“กลับมาเขียนเพื่อจะบอกและยืนยันต่อพวกคุณว่าชัยชนะที่พวกคุณเฉลิมฉลอง ความยินปรีดาที่พวกคุณสุขสุดขั้วหัวใจนั้นเป็นสิ่งที่น่าละอาย”

“ผมแบ่งเวลาอย่างชัดเจน ทำหน้าที่ในงานประจำ อ่าน ค้นคว้า บันทึก เขียนผังต่างๆ ออกกำลังกาย เขียนนิยายเล่มนี้ และนอนแต่เพียงน้อย ใช้เวลาไม่กี่เดือนหลังจากนั้นก็เขียนดราฟต์แรกจบ พัก กลับมาแก้ไข ส่งให้มิตรสหายหลายๆ คนช่วยอ่าน ช่วยวิจารณ์ ถกเถียง ก่นด่า เพื่อจะนำกลับมาแก้ไขปรับปรุง ราวอีก 1-2 ปี จึงพึงพอใจสำหรับผมและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดและพิมพ์เป็นเล่มออกมา”

เขายังบอกด้วยว่า “แม้จะมีความทุกข์ทรมาน เบื่อหน่ายอย่างสาหัสในสภาพสังคมระหว่างการเขียนนิยายเล่มนี้ในก่อนหน้านี้ ทว่าก็เป็นช่วงเวลาที่สนุกมากๆ ครั้งหนึ่งในชีวิตการเขียนหนังสือของผม ได้ต่อสู้กับตนเอง กับสังคมประเทศโดยรวม ได้อ่านหนังสือ ได้ระลึกไปถึงช่วงชีวิตที่เคยผ่านพบผ่านมาเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการคิด การเขียน ได้ติดตามสำรวจความคิดผู้คนที่หลากหลายและแตกต่าง เพื่อจะนำมาสร้าง มาจำลองเป็นตัวละครแต่ละตัว ตัวละครหลายๆ ตัว เขียนไปด้วย ทะเลาะกันไปด้วย”

“พูดอีกอย่างว่าได้ทำเหมือนทุกครั้ง คือทำสุดกำลังกายและกำลังสติปัญญาที่มี ณ ขณะนั้น และรู้สึกส่วนตัวในความคุ้มค่าที่ได้ทุ่มเทลงไปทั้งหมดนั้นด้วย ใช้ได้ ใช้ไม่ได้ ก็ต้องฝากไว้กับคนที่ได้อ่าน ผมไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว และในสติปัญญา ณ ขณะนั้นก็มีเพียงเท่านี้แหละ เล่มหน้าถ้ายังเขียนหนังสืออยู่ ผมจะพยายามให้มากขึ้นไปกว่านี้ หรือค่อยว่ากันใหม่ครับ”

ในฐานะคนเขียน ภู กระดาษ ในวัย 44 ปี บอกว่า ในส่วนของผู้อ่าน “ผมมุ่งหวังว่าผู้อ่านที่เป็นคนรุ่นๆ ผม หรือ gen x และคนอ่านรุ่นก่อนผมขึ้นไป เมื่อได้อ่านแล้ว พวกคุณควรรู้สึกละอายใจบ้าง ละอายในสิ่งที่พวกคุณภาคภูมิใจกันนักหนานั่นแหละ รับรู้ไว้สักหน่อยก็ยังดี ว่าสังคมที่ผมหรือพวกคุณเพียรพยายามร่วมกันสร้างขึ้นมาจนถึงปัจจุบันนั้น เป็นสภาพสังคมที่น่าละอายต่อคนรุ่นหลังอย่างที่สุด”

“ส่วนผู้อ่านที่เป็นรุ่นหลังจากผม นี่เป็นหนังสือ เป็นนิยายที่ผมมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเขียนขึ้น เพื่อสำหรับพวกคุณโดยเฉพาะ โลกไม่ได้มีแบบเดียว โลกยังมีแบบอื่นๆ มีความเป็นไปได้ในแบบอื่นๆ ด้วย จงเรียนรู้และสร้างขึ้นมาในแบบอื่นๆ มีปรารถนาแบบอื่นๆ ด้วยตัว ด้วยสติปัญญาและด้วยจิตใจอันเอื้อเฟื้อกว้างขวางของพวกคุณเอง ตัวอย่างที่ไม่ต้องเอาเป็นเยี่ยงอย่างที่เกิดขึ้นในคนรุ่นผมและรุ่นก่อนที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน มีให้เห็นจนแทบอ้วกแล้ว โปรดระลึกไว้ให้ขึ้นใจ”

“และท้ายที่สุด ผมมิได้ปรารถนาที่จะผูกขาดนิยายเล่มนี้ว่าเป็นของผมแต่เพียงผู้เดียวโดยลำพัง ผมอยากให้พวกคุณได้อ่าน เขียน ร่วมกันเขียน ร่วมกันเป็นเจ้าของด้วย”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image