สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพฯ หนุนห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพฯ หนุนห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

 

 

 

สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งประเทศไทย พร้อมสนับสนุนการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนในอนาคต

Advertisement

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กลุ่ม TU Nicotine โครงการสนับสนุนการสื่อสารงานของภาคีควบคุมยาสูบ (ทีมชวน ช่วย เลิกบุหรี่) และ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งประเทศไทย (สนสท.) จัดการเสวนาวิชาการออนไลน์ในหัวข้อ “บทบาทของนักสาธารณสุขกับการควบคุมยาสูบ” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาทของนักสาธารณสุขที่มีต่อการควบคุมยาสูบในประเทศไทย

รศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวระหว่างพิธีเปิดว่า บุหรี่ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ทั้งโรคหัวใจขาดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง และมะเร็ง รวมถึงอาการวัณโรคที่จะรุนแรงมากกว่าเดิม โดยผู้เสียชีวิตจากยาสูบในแต่ละปี มีจำนวนมากกว่า 8 ล้านคน เป็นการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่โดยตรงกว่า 7 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองอีกกว่าล้านคน โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เรื่องของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึงมากขึ้น เพราะอาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้

ดังนั้น นักสาธารณสุขศาสตร์จึงมีบทบาทในการเข้ามาช่วยดูแลตรงจุดนี้ ซึ่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในฐานะเป็นองค์กรผู้นำด้านสุขภาพ จึงผลักดันเรื่องการผลิตบุคลากร และสร้างสรรค์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบเพื่อให้เป็นไปตามปณิธาน “นักสาธารณสุขศาสตร์เพื่อสังคม” กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นและก้าวต่อไปในการทำงานเพื่อควบคุมยาสูบของคณะอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนต่อไป

Advertisement

ด้าน ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าว่า นักสาธารณสุขศาสตร์มีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมยาสูบ เพราะบุหรี่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “ด้านสุขภาพ” เพราะบุหรี่มีสารเคมี กว่า 7,000 ชนิด มีสารก่อมะเร็งกว่า 70 ชนิด ซึ่งนิสิตนักศึกษาทีเรียนด้านสาธารณสุขจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้ และทบทวนว่าจะต้องทำอย่างไร โดยเฉพาะสารนิโคติน ที่ไม่ได้ทำให้เกิดการเสพติดเท่านั้น แต่จะทำให้เส้นเลือดเสื่อม เกิดการตีบตันมากกว่าคนที่ไม่สูบประมาณ 10-15 เท่า ถ้าเป็นโรคความดันในเลือดสูงและมีไขมันในเลือดสูง จะเสี่ยงต่อโรคหัวใจถึง 8 เท่า และอาจจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายจากกล้ามเนื้อตายเฉียบพลันถึง 10 เท่า ซึ่งสารพิษเหล่านี้มีอยู่ทั้งในบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา โดยเฉพาะการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งมีทำให้บุหรี่มีความอันตรายมากกว่าเดิม โดยพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าเดิม 5 เท่า แต่ถ้าสูบบุหรี่ธรรมดาควบคู่กันไปด้วยมีโอกาสติดเชื้อโควิดมากกว่า 7 เท่า

“สาเหตุส่วนใหญ่ติดมาจากน้ำลายหรือการแบ่งกันสูบ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่จะเกิดอาการชัก และปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้าซ้ำเติม และบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดละอองฝอยไปไกลเกินกว่า 10 เมตร ซึ่งอาจจะทำให้ผู้อื่นที่อยู่ใกล้ ๆ ติดโควิด-19 ได้ และจะมีโอกาสเกิดอาการป่วยรุนแรงมากกว่าเดิม 1.55 เท่า มีความเสี่ยงต้องนอนห้องไอซียูมากกว่า 1.73 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.58 เท่า ดังนั้น ถ้ามีบุคคลใกล้ชิดสูบบุหรี่ต้องขอให้เลิกสูบ เพราะช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดควรจะเลิก” ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวย้ำ

บทบาทของนิสิตนักศึกษาสาธารณสุข คือ การสื่อสารให้สังคมเข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ได้โดยง่าย ผ่านการนำเสนอข้อมูลที่สำคัญในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำให้เห็นภาพความเสียหายได้อย่าชัดเจน เช่น การเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตจากยาสูบบุหรี่ 54,512 ราย เท่ากับเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 747 ตก จำนวน 110 ลำ มีผู้เสียชีวิตวันละ 149 ราย ชั่วโมงละ 6.2 ราย หรือมีผู้เสียชีวิต 1 รายทุก 10 นาที ซึ่งการสื่อสารในรูปแบบเป็นมิตรต่อคนรับสารถือเป็นเรื่องที่นิสิตนักศึกษาและนักสาธารณสุขศาสตร์ควรคำนึงถึงให้มากขึ้น

ขณะเดียวกันควันบุหรี่มือสอง ถือว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งไม่ต่างจากคนสูบโดยตรง และจำเป็นจะต้องให้ความรู้ถึงเรื่องของควันบุหรี่มือสามด้วย โดยควันบุหรี่มือสามจะมาจากกลิ่นบุหรี่ที่ติดเสื้อผ้า หรือฝังตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจในเด็กเล็กเมื่อสูดเข้าไป และมีความเสี่ยงในการส่งต่อการติดโควิด-19 ได้อีกด้วย

ส่วนผลกระทบ “ด้านเศรษฐกิจ” นั้น เมื่อปี 2556 โรงงานยาสูบมีรายได้จำนวน 70,183 ล้านบาท มีนำเงินส่งรัฐ 61,748 ล้านบาท แต่ความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่มาจากการสูบบุหรี่ ที่ต้องนำมารักษาผู้ป่วยจากโรคที่เกี่ยวข้องมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 74,884 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มีความคุ้มค่าในด้านเศรษฐศาสตร์

ปัญหาที่เกิดขึ้นใน “สังคม” นั้นจากการสำรวจในปี 2547 พบว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะติดยาเสพติดชนิดอื่นมากขึ้น รวมถึงการดื่มสุรา เล่นการพนัน หรือเที่ยวกลางคืน และยังมีปัญหาด้าน “สิ่งแวดล้อม” ที่ทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อน เพราะการปลูกพืชยาสูบต้องใช้ยาฆ่าแมลง การผลิตบุหรี่ก็มีน้ำเสียจากนิโคตินและโลหะ ก้นกรองบุหรี่ที่มีทั้งพลาสติดและสารพิษกว่า 7,000 ชนิดเข้ามาอยู่ในดิน น้ำ และสัตว์น้ำที่บริโภคเข้าไป

ทั้งนี้ บทบาทของนักการสาธารณสุขนั้น จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ควบคู่กันไป ตั้งแต่การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ไม่ให้มีเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการเข้าถึงการให้บริการช่วยเลิก เช่น คลินิกฟ้าใส คลินิก NCDs และสายเลิกบุหรี่ 1600 รวมทั้งมีมาตรการบังคับใช้อย่างจริงจัง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ หรือสถานประกอบการปลอดบุหรี่ โดยผู้ที่ทำงานนักการสาธารณสุขนั้นต้องใช้ประโยชน์จากกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่สังคม รู้ถึงวิถีการสื่อสาร ใช้จิตวิทยารณรงค์ และนำมาสู่การผลักดันให้เกิดกฎหมายการควบคุมยาสูบได้

ขณะที่ อ.ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศจย. กล่าวว่า การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคที่มีเป้าหมายสูงสุด คือ “สุขภาพของประชาชน” ในเรื่องการควบคุมยาสูบ นั้นนอกจากจะต้องลดการบริโภคยาสูบในกลุ่มประชาชน ยังต้องเฝ้าระวังติดตามกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบร่วมด้วย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่อุตสาหกรรมยาสูบต้องการขายสินค้าให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากที่ทั่วโลกทราบถึงพิษภัยจากบุหรี่ ทำให้อุตสาหกรรมยาสูบคิดค้นบุหรี่แปลงร่างรูปแบบใหม่ขึ้นมา นั่นคือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าลดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะในที่สุดแล้ว ผู้สูบก็ยังคงเสพติด สาร “นิโคติน” อยู่เช่นเดิม

ผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุขเพื่อการควบคุมยาสูบ จะต้องใช้หลักการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกหรือ FCTC ที่เปรียบเสมือนเป็นธรรมนูญหลักในการดำเนินงาน เพราะเป็นกติการะหว่างประเทศฉบับแรกที่ออกมาเพื่อให้ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วม ปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ ภายในประเทศให้สอดคล้องไปกับแนวทางการควบคุมยาสูบระดับโลก เปรียบเสมือนกับการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ให้พ้นจากภัยต่อสุขภาพที่รออยู่ข้างหน้า แม้กรอบอนุสัญญาฯนี้ไม่มีบทลงโทษเป็นการเฉพาะ แต่ก็เป็นไปเพื่อป้องกันคุ้มครองสุขภาพของประชาชน พร้อมกับการคุ้มครองสุขภาพเด็กและเยาวชนในระดับนานาชาติร่วมด้วย

สำหรับประเทศไทยการทำงานควบคุมยาสูบ จะต้องคำนึงถึงมาตรา 5.3 ของ FCTC ซึ่งรวมถึงประเด็นเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าด้วยที่ตอนนี้ ฝ่ายผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าพยายามที่จะผลักดันให้สามารถนำเข้าประเทศไทยได้ ซึ่งมีการกำหนดอยู่ 4 ข้อ คือ 1.สร้างความตื่นตัวให้ประชาชนรับรู้ถึงอันตรายและอำนาจการเสพติดของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งในฐานะนักสาธารณสุขเพื่อสังคมจะต้องพยายามชี้แจงให้สังคมเข้าใจว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลกระทบมากกว่า โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่อาจจะเสพติดกันเพิ่มขึ้น 2.กำหนดมาตรการเพื่อจำกัดการติดต่อประสานงานกับอุตสาหกรรมยาสูบเพื่อความโปร่งใส ซึ่งจะป้องกันการแทรกแซงของกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบที่มีต่อนักการเมือง 3.ปฏิเสธความร่วมมือใด ๆ กับอุตสาหกรรมยาสูบ และ 4.หลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน

ในสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมยาสูบเคยประกาศต่อรัฐสภาว่า “นิโคตินไม่ทำให้เสพติด” ซึ่งเป็นการโกหกคำโต ซึ่งมีงานวิจัยมากมายที่ออกมายืนยันว่า นิโคตินก่อให้เกิดการเสพติด มีการต่อสู้ทางคดีฟ้องอุตสาหกรรมยาสูบกันมาตั้งแต่ปี 1950 ทำให้ค้นพบข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่มีการผลิตบุหรี่ อุตสาหกรรมยาสูบก็พร้อมเดินหน้าปกปิดข้อเท็จจริง ทั้งอันตรายของการสูบบุหรี่ การเสพติดบุหรี่ ระดับสารของนิโคตินที่สามารถควบคุมได้ บุหรี่รสอ่อน การทำตลาดต่อเด็กและเยาวชน อันตรายจากควันบุหรี่มือสอง และการปกปิดข้อมูลไม่ให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยังคงขายได้ ซึ่งนำไปสู่การฟ้องคดีจนบริษัทบุหรี่แพ้คดีในสหรัฐและสุดท้ายนำมาสู่การไกล่เกลี่ยจ่ายค่าเสียหายในภายหลัง

ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้าเริ่มมีการทำตลาดมุ่งเป้าเด็กและเยาวชนมากขึ้น มีการประชาสัมพันธ์ว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย หรือช่วยลดการสูบบุหรี่มวนลงได้ แต่ในความเป็นจริง บุหรี่ไฟฟ้ากลับดัดแปลงกลิ่นชูรสเพื่อล่อลวงให้เด็กเยาวชนหันมาเสพมากขึ้น ยกตัวอย่าง กรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐที่แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายที่ดี แต่พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าใน 1 ปี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 78 ซึ่งถือเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้สำหรับผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุข

ด้าน ผศ.ดร.วรรณภา นาราเวช อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กลุ่มเยาวชนถือว่ามีความเปราะบางต่อการสูบบุหรี่มากเพราะไม่ว่าจะบุหรี่ธรรมดาหรือบุหรี่ไฟฟ้า บริษัทเหล่านี้มีเป้าหมายคือกลุ่มเยาวชน ดังนั้น การจะทำให้ประชาชนเข้าใจถึงบุหรี่ไฟฟ้า จะต้องให้ความรู้ในระดับบุคคลก่อน จากนั้นขยายต่อไปยังครอบครัว ชุมชน และสังคม ซึ่งจากการลงพื้นที่ชุมชนกึ่งเมือง พบว่า มีเด็กและเยาวชนบางส่วนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ หันมาสูบบุหรี่ เพราะหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าใกล้บ้าน หรือบางคนอยากลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็สามารถสั่งซื้อมาได้ง่ายทางออนไลน์ สะท้อนว่าเด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ได้ง่ายมาก จากการสอบถามพบว่า เด็กและเยาวชนบางคน อยากเลิกสูบบุหรี่แต่ไม่อยากเข้ารับบริการทางสาธารณสุขในโรงพยาบาล เพราะไม่อยากถูกตีตราว่าเป็นคนป่วย แต่สนใจรับบริการจากสายเลิกบุหรี่ 1600 มากกว่า เพราะเป็นการให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์

ดังนั้น ปัญหาการสูบบุหรี่ในเด็กและเยาวชน คือ 1.การเข้าไม่ถึงข้อมูลด้านยาสูบที่เพียงพอ ทำให้เด็กไม่รู้ถึงอันตรายที่เกิดขึ้น 2.การเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ 3.การเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาล และ 4.การไม่เข้าใจข้อกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมยาสูบ ทำให้เป็นประเด็นว่า ทำอย่างไรให้เด็กเกิดความรอบรู้และเท่าทันต่อยาสูบมากขึ้น รู้จักปฏิเสธ และนำตนเองเข้ามาสู่กระบวนการเลิกให้ได้ในที่สุด

ขณะเดียวกันการสูบบุหรี่ยังมีผลกระทบต่อครอบครัวทำให้เกิดบุหรี่มือสองและมือสาม ส่งผลต่อสุขภาพของคนในครอบครัว แต่ส่วนใหญ่มักจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ และหากมีการสูบบุหรี่ภายในบ้านก็แค่หลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้ จนกลายเป็นความเคยชินไปในที่สุด

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องบุหรี่ จะต้องอาศัยชุมชนเป็นฐาน โดยนักสาธารณสุขต้องเสริมพลังให้เยาวชนมีความรอบรู้ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีความสามารถในการแยกแยะข้อมูลได้เป็นอย่างดี ทำอย่างไรให้เยาวชนมีทักษะในการปฏิเสธเมื่อเพื่อนชวน ไม่ให้เสียเพื่อน และเข้าถึงข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ให้รู้ว่าอันไหนข้อมูลจริงหรือข่าวลวงแล้วจะนำข้อมูลมาปฏิบัติต่อตนเอง และไปปฏิบัติกับผู้อื่นในบ้าน ในชุมชนอย่างไรต่อไป

สิ่งที่จะทำให้สังคมปลอดบุหรี่ได้อย่างยั่งยืนนั้น จะต้องหา”ขุมทรัพย์” ที่เป็นส่วนหนึ่งในการเชิญชวนคนในชุมชนหันมาเลิกบุหรี่ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนอื่น เช่น พระสงฆ์ในวัดที่อยู่ในชุมชน หรือประธานชุมชนที่เลิกสูบบุหรี่ได้อย่างจริงจัง รวมถึงสถานศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือ มีการสร้างเครือข่าย บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน มาร่วมด้วยช่วยกันให้เป็นเครือข่ายที่มีความยั่งยืน

ในงานเสวนาครั้งนี้ ตัวแทนสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งประเทศไทย (สนสท.) ได้อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนที่เกี่ยวข้องกับการแก้กฎหมายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีใจความว่า “ในระดับโลกนั้น ภัยจากการบริโภคยาสูบถือเป็นมหันตภัยสำคัญที่ค่าชีวิตผู้คนอย่างต่อเนื่อง พร้อมมองว่าปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้านั้นส่งผลกระทบต่อเยาวชนโดยตรง เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 78 ถือเป็นข้อเท็จจริงที่น่ากังวลอย่างยิ่งต่อเยาวชนไทย เพราะมีสารนิโคตินที่มีฤทธิ์ก่อให้เกิดสารเสพติดสูง เป็นการทำร้ายสมองของเด็กและเยาวชนที่มีต่อการเสพสารเสพติดมากขึ้น และอาจจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเสพสารเสพติดชนิดอื่นได้ และสหพันธ์ต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติอันเป็นองค์กรในระดับโลกก็ได้เสนอหลักการ ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าสำหรับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง เพราะยังไม่มีมาตรการที่ดีในการควบคุมยาสูบได้มากเท่ากับประเทศที่มีรายได้สูงกว่า

ขณะเดียวประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของ FCTC ขององค์การอนามัยโลก ที่เป็นการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในปัจจุบันและอนาคตให้ปลอดภัยจากผลร้ายของบุหรี่ ที่มีผลผูกพันหลายข้อเช่น การป้องกันการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ การที่มีข่าวปรากฏต่อสื่อ ที่ผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงผู้กำหนดนโยบายของประเทศ ให้เกิดการแก้ไขกฎหมายให้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าได้ ถือเป็นการขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยมีต่อองค์กรอนามัยโลกอย่างชัดเจน

ดังนั้น สนสท. จึงขอแถลงการณ์ที่มีจุดยืนสนับสนุนการคงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ พร้อมขอบคุณ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่า กระทรวงไม่มีนโยบายให้บุหรี่ไฟฟ้าสุขภาพเป็นสินค้าถูกกฎหมายเพื่อจำหน่ายหรือนำเข้า อันเป็นการกระทำที่คำนึงถึงสุขภาพและสาธารณสุขที่แท้จริง มุ่งคุ้มครอง ปกป้อง และป้องกันภัยคุกคามของบุหรี่ไฟฟ้า ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงของเด็ก เยาวชน และคนไทย”

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image