‘สุพัฒนพงษ์-อาคม’ โชว์ไอเดียฟื้นศก.-ยกระดับประเทศ

‘สุพัฒนพงษ์-อาคม’ โชว์ไอเดียฟื้นศก.-ยกระดับประเทศ

หมายเหตุนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษ การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนท่ามกลางความท้าทาย และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บรรยายเรื่อง ประเทศไทยกับการฟื้นตัวหลังโควิด-19 ในการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ
ครั้งที่ 39 หัวข้อ Connect the Dots DESIGN THE FUTURE รวมพลัง สร้างสรรค์ อนาคต ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กทม. เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
รองนายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

Advertisement

ในการประชุมใหญ่ครั้งก่อน ยังไม่มีการแพร่ระบาดหนัก เรามีความมั่นใจว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 ก็ได้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ จ.สมุทรสาคร จนมาถึงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่ทำให้ต้องมีการล็อกดาวน์อย่างหนักในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณสภาหอการค้าไทยที่ได้มีการร่วมมือกับรัฐบาล ในการตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน เพื่อเร่งให้การฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการบรรลุเป้าการฉีดวัคซีนได้ 50 ล้านโดสแล้ว และกำลังก้าวสู่การฉีดวัคซีน 2 เข็ม 70% ของประชากรได้ทันช่วงสิ้นปีนี้ ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาล สภาหอการค้า สภาธุรกิจอื่นๆ ที่รวมกันสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดกับคนไทย

การเตรียมความพร้อมของรัฐบาลให้กับนักธุรกิจ ในระยะสั้นมีการเตรียมวัคซีนบูสเตอร์ไว้ 120 ล้านโดส โดยจัดหาให้ทันภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับธุรกิจหลังเปิดประเทศได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดเตรียมยารักษาเพื่อลดอัตราการเข้าโรงพยาบาล ลดอัตราการเสียชีวิต โดยไม่อยากให้เกิดภาพแบบที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกแล้วในระยะยาว

ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ส่วนแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการสั่งสมมาโดยตลอดในการเชื่อมต่อภูมิภาค ปฏิวัติขนส่งทางราง โดยการทำรถไฟทางคู่ ทำระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งเสริมการพัฒนาประเทศในระยะยาว การมีระบบทางคู่ที่เข้มแข็ง การสัญจรการขนส่งสินค้าจะมีความรวดเร็วมากขึ้น เกิดการกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของจังหวัดตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนถนน โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคอีสาน มีการเปลี่ยนถนนเป็น 4 เลน มีถนนที่เชื่อมไปสู่ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ระหว่างกำลังก่อสร้าง ถนนที่เชื่อมไปสู่ประเทศกัมพูชา ทางด้าน จ.ตราด จะได้เห็นการก่อสร้างค่อยๆ แล้วเสร็จในอีก 5 ปี ข้างหน้า

Advertisement

ส่วนที่ 2 นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมประกาศจุดยืนร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อน ในที่ประชุม COP26 โดยประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถึง 300 ล้านตันต่อปี เพราะเป็นประเทศกึ่งอุตสาหกรรม ประชาคมโลกอาจจะมีการปฏิเสธสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง นายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นกลาง ภายในปี 2065 จะต้องมีการปรับตัว โดยมีอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะมีสัดส่วนมากขึ้น การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยประหยัดพลังงานให้มากขึ้น รวมถึงการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร รวมไปถึงเป็นการปกป้องความเสี่ยงการกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่การเมือง ก็จะมีการส่งเสริมจากภาครัฐต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ก้าวไปถึงตามเป้าหมาย

ส่วนที่ 3 มีการเชิญชวนให้มีการพำนักระยะยาวในประเทศไทย ที่เป็นผู้มีความมั่งคั่ง ผู้ที่มีความรู้ ผู้เกษียณอายุ และคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมพำนักอาศัยในประเทศไทย เราจำเป็นต้องเปิดกว้างในการรับเทคโนโลยี รับคนมากกว่าจะให้บริษัทข้ามชาติมาแข่งขัน โดยการเอาคนที่มีความสามารถมาทำงานร่วมกับคนในประเทศ ซึ่งทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแล้ว เริ่มได้ปีหน้า ตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 1 ล้านคน นอกจากสร้างรายได้ให้กับภาคบริการและภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว ก็เป็นเรื่องการนำคนเก่งมาทำงานร่วมกับคนไทย ผลักดันด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นได้มีการเตรียมการไว้แล้ว อย่างศูนย์นวัตกรรม
อีอีซีไอ สามารถเข้าไปรับการปรึกษาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ นี่คือระบบนิเวศ ที่รัฐบาลได้ทำเพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่คนที่ทำให้เกิดได้จริงคือภาคเอกชน สมาชิกหอการค้าไทยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศที่รัฐบาลได้จัดทำไว้

อยากให้การทำงานในแต่ละกลุ่มจังหวัด ร่วมมือกันทำ สร้างอัตลักษณ์ตนเอง ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศ โดย จ.กระบี่ และจังหวัดกลุ่ม อันดามัน เดินสายไปในทางบีซีจี เน้นเรื่องเมืองน่าอยู่ พลังงานสะอาด ความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายระยะสั้น 7 โครงการ ใช้เงินไม่เยอะ แต่สร้างอิมแพคมาก สร้างผลไปถึงระยะยาว โดยนายกรัฐมนตรีให้แนวคิดที่ว่าให้แต่ละกลุ่มจังหวัดไปคิดโครงการก่อน ในระยะสั้น ระยะยาว คั้นออกมาก่อน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด หอการค้าจังหวัด มาร่วมตกผลึกกัน ให้สอดคล้องกับแผนนโยบายของรัฐบาล เป็นการสร้างแรงผลักดันในการเปิดประเทศ

ที่เขาพูดกันว่า รัฐบาลจอมกู้ ซึ่งเงินกู้ทั้งหมดได้เอาไปทุ่มกับการพลิกโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อประโยชน์ของคนในประเทศ อยากให้ทุกท่านได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ ถ้ายังขาดเหลืออะไรที่รัฐบาลต้องเติมให้เต็ม ตามที่เอกชนเสนอมาก็จะสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สิ่งที่เอกชนเสนอมาก็อยากรู้ว่า ภาคเอกชนจะทำอะไร โครงการที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์กับใคร ต้องการให้รัฐบาลช่วยเรื่องอะไร ตรงนี้เป็นความร่วมมือจริงๆ มากกว่าจะให้รัฐบาลทำอะไร ถ้าเป็นไปได้ อยากเห็นคนรุ่นใหม่ ได้หันกลับไปดูกลุ่มจังหวัดของตนเอง
ดูว่ามีข้อดีอะไรในจังหวัดตัวเอง เอามาชูโรงเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดตัวเอง สร้างตลาดสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น

การเยียวยาจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท เป็นเพียงแค่การเยียวยา ระบบเศรษฐกิจไทยใหญ่กว่านั้น สิ่งที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้คือการรักษาการเปิดประเทศให้ได้เป็นการฟื้นฟูระยะสั้น ในระยะถัดไปขอให้ทุกคนทำการบ้านศึกษาข้อมูลว่าจะใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศที่รัฐบาลได้ดำเนินการไว้ได้อย่างไร อาจจะมีการขาดตกบกพร่องบ้าง แต่ขอให้เดินหน้า คิดถึงว่าทำอย่างไร ขาดเหลืออะไรให้รัฐบาลช่วย นายกรัฐมนตรียินดีรับฟัง พิสูจน์มาหลายครั้งแล้วว่าเรารับฟังแล้วนำไปปรับในหลายเวทีที่ผ่านมา

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีมานี้ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงเมื่อเทียบกับในอดีต การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) นั้นติดลบต่อเนื่อง 5 ไตรมาส จุดที่แตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อนๆ คือการแพร่กระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า เกิดจากข้างล่างขึ้นมา มีการระบาดของโควิด-19 เกิดที่ประชาชน ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง รวมทั้งกระทบไปถึงห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก วัตถุ วัสดุต่างๆ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีการขาดส่ง ไทยที่เป็นฐานการผลิตฐาน ประกอบสินค้าสำเร็จรูป ก็ผลิตสินค้าไม่ทัน

เมื่อก่อนคิดว่าการนำเข้าชิ้นส่วนทำให้ลดต้นทุนในการผลิต และไม่จำเป็นต้องผลิตเอง แต่ในวันนี้ต้องมาทบทวนว่าการกระจายแบ่งฐานการผลิตนั้น เมื่อเกิดวิกฤตที่ใดที่หนึ่ง อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตทั่วโลกได้เช่นกัน ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงเช่นนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลจะต้องพิจารณา

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยนั้นจากช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้แถลงตัวเลขทางการแล้วว่าติดลบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนที่เพียงพอ ครอบคลุมประชากรได้ 70% แล้ว เป็นภูมิคุ้มกันหมู่ที่สำคัญ ช่วงไตรมาสที่ 3-4 ปี 2564 ได้เริ่มต้นการเปิดประเทศ ตั้งแต่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สมุยพลัส เริ่มทำให้มีการเดินทางเพิ่มมากขึ้น ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเริ่มเป็นปกติ

ในปี 2564 นั้นปัจจัยที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวมาจากอุปสงค์ในประเทศ คือด้านการท่องเที่ยว อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และการช่วยรักษาระดับการบริโภคในประเทศ อาทิ โครงการคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมทั้งภาคการส่งออกยังทำได้ดี และด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีอัตราการเบิกจ่ายในปี 2564 กว่า 90% อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นเรื่องการระบาดโควิดระลอกใหม่ที่ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยกันป้องกัน ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงความเสี่ยงเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเชื่อว่าทั้งปี 2564 จะปิดบัญชีการเติบโตเศรษฐกิจได้ที่ 1.1-1.2% มากกว่าที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ที่ 1% หลังจากรัฐบาลเปิดประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี ทั้งนี้ 9 เดือนแรกเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ 1.3%

ส่วนปี 2565 คาดการณ์ว่าจะสามารถขยายตัวได้ 3.5-4.5% โดยประเด็นเศรษฐกิจมี 7 ปัจจัยหลักคือ 1.การดูแลการแพร่ระบาดโควิด 2.การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง 3.แรงกระตุ้นการใช้จ่ายครัวเรือน 4.ภาคการส่งออก 5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 6.การใช้จ่ายรัฐบาล และ 7.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

สำหรับแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในปี 2565 ยังคงต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐบาล นโยบายการคลังมีส่วนในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจผ่านพ้นวิกฤตมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันนโยบายการเงินก็จะมีส่วนในการสนับสนุน ซึ่งในวิกฤตครั้งนี้นโยบายการเงินก็ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าแรงกดดันต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งจากการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล การปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งจะมีผลต่อระดับเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังยืนยันที่จะใช้นโยบายการเงินเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ฉะนั้น ขอให้มั่นใจว่านโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะไปด้วยกัน

ที่ผ่านมารัฐบาลมีการออกพระราชกำหนดกู้เงิน 2 ฉบับ 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาโควิด แผนที่ 1.ด้านสาธารณสุข 2.การเยียวยา และ 3.การฟื้นฟูเศรษฐกิจ อาทิ การบรรเทาค่าครองชีพผ่านโครงการคนละครึ่ง ได้รับผลตอบรับจากประชาชนอย่างดี มีกระแสเรียกร้องให้ขยายวงเงินเพิ่มอีก ซึ่งก็กำลังพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนยิ่งใช้ยิ่งได้มีร้านค้าสนใจเข้าร่วมเยอะ โดยให้ใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นเพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้ง่ายว่าเงินถึงมือประชาชนและไปสู่ร้านค้าจริง ส่วนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนนั้นก็มีโครงการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ผูกบัตรประชาชนเช่นกัน

เมื่อใช้นโยบายดังกล่าวแล้วจะมีผลต่อฐานะการคลังอย่างไรนั้น คือมีผลให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น โดย ณ เดือนกันยายน 2654 ระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 57% ต่อจีดีพี และประเมินว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ระดับหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่เราได้ขยายไว้ที่ 70% ต่อจีดีพี

การขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ต่อจีดีพีนั้น ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะกู้เงินเต็มเพดาน แต่ถ้าถามว่าการขยายเพดานดังกล่าวอันตรายไหม ก็ต้องตอบว่า ถ้าดูระดับการชำระหนี้ของไทยยังไม่มีปัญหา สถาบันจัดอันดับเครดิตต่างๆ ได้ให้ความเชื่อมั่น หรือเรตติ้งเหมือนเดิมที่น่าเชื่อถือ และมองว่ามีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ ฐานะการคลัง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ในระดับ 5 แสนล้านบาท ถือว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอ หากเศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวได้ 4% การจัดเก็บรายได้จะเป็นไปตามเป้าหมาย แต่คงไม่จบแค่นี้ เพราะยังมีแผนที่จะเพิ่มขยายฐานภาษีและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้ดีขึ้น และยังมีเงินนำส่งรัฐวิสาหกิจ รวมถึงรายได้ที่ได้จากค่าเช่าที่ราชพัสดุ

ในเรื่องของรายได้นั้น ขณะนี้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีอีเซอร์วิสได้ และในอนาคตปี 2566 จะมีรายได้ภาษีที่เกิดจากข้อตกลงของกลุ่มประเทศ จี8 ตามนโยบายขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี ที่กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีการทำธุรกิจในต่างประเทศจะต้องแบ่งบันผลกำไรและภาษีที่ได้จากการทำธุรกิจให้กับประเทศที่บริษัทเหล่านั้นเข้าไปทำธุรกิจด้วย

และอีกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 คือการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax Rule) และการจัดสรรรายได้ภาษีของบริษัทข้ามชาติที่ให้บริการดิจิทัลในรูปแบบใหม่ที่มีความเป็นธรรม เพื่อช่วยแก้ปัญหาบริษัทข้ามชาติหลบเลี่ยงภาษีได้มากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image